คงไม่ต้องอธิบายถึงพระอัจฉริยภาพของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาล 9 ว่ามีมากมายแค่ไหน เพราะเชื่อว่าราษฎรคนไทยทุกคนล้วนทราบดี แต่รู้หรือไม่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีสิ่งประดิษฐ์ที่จดสิทธิบัตรมากมาย วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะนำเสนอผลงานที่มีการจดสิทธิบัตรทั้งหมดของเหนือหัว ซึ่งที่มาของสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ ล้วนมาจากความตั้งพระราชหฤทัยของพระองค์ ที่จะทรงช่วยเหลือประชาชนทุกคนที่ท่านรักบนผืนแผ่นดินขวานทอง 

รวมผลงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้รับการเปิดเผยจาก นายทศพล ทังสุบุตร รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ถึงสิทธิบัตร และผลงานต่างๆ ว่า สิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรก ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประดิษฐ์ คือ เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำ หมุนช้าเป็นแบบทุ่นลอย (กังหันน้ำชัยพัฒนา) โดยหลักก็เป็นเครื่องกลเติมอากาศที่ใช้ในการเติมออกซิเจนลงในน้ำที่ระดับผิวน้ำ จากนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 ให้วันนั้นเป็นวันนักประดิษฐ์ของไทย สืบเนื่องจากเป็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกที่ท่านทรงคิดค้นไว้ นอกจากนี้ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ยังได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่าเป็น “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” จากการที่ท่านได้ทรงทุ่มเทคิดค้น ไบโอดีเซล แก้มลิง และฝนหลวง

สำหรับ สิทธิบัตร ในฐานะนักประดิษฐ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช นั้น ตั้งแต่ปี 2536 มีทั้งหมด 11 รายการ ดังนี้

...

รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวต่อว่า สำหรับสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการยกย่องมาก ก็คือ “ฝนหลวง” โดยนอกจากจะจดสิทธิบัตรในประเทศไทยแล้ว ยังได้ยื่นจดยังต่างประเทศด้วย กระทั่งปี พ.ศ. 2554 องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกก็เล็งเห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในด้านนี้ และได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลผู้นำโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเลขาธิการองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกมาทูลเกล้าถวายฯ รางวัลแด่พระองค์ ที่เมืองไทยเลย

นายทศพล กล่าวต่อว่า คิดว่าถ้าดูจากสิ่งประดิษฐ์ที่พระองค์ได้ทรงประดิษฐ์ไว้จะมีความหลากหลายมาก คือไม่ได้มุ่งไปที่เทคโนโลยีสาขาใดสาขาหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าจากการที่พระองค์ท่านได้ทรงเยี่ยมเยียนประชาชน ทำให้ได้พบปัญหาอะไร ท่านทรงทุ่มเทพระวรกายเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยความมุ่งมั่น ท่านจึงได้มีการออกแบบเครื่องมือ เพื่อพระราชทานวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ประชาชนและผู้ด้อยโอกาสต่างๆ เช่น เรื่องความแห้งแล้ง เมื่อพระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ต่างๆ สิ่งที่ท่านได้ทรงประดิษฐ์ก็คือ “ฝนหลวง” โครงการ “แกล้งดิน” ก็เป็นกระบวนการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวเพื่อให้เหมาะแก่การเพาะปลูก จากที่ปลูกอะไรไม่ได้เลย ก็ทรงพยายามปรับปรุงให้สามารถปลูกพืชได้”

“สิ่งที่ในหลวงของเราทรงทำทุกสิ่งทุกอย่างก็เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน อยากให้ประชาชนทุกคนซึ่งเปรียบเสมือนลูกๆ มีความสุข มีชีวิตที่สามารถพึ่งพาตนเอง กินอยู่อย่างพอเพียง”

ถ้าสิ่งประดิษฐ์ที่ในหลวงทรงคิดค้นและมีคนมาขอนำไปใช้หรือไปพัฒนาต่อได้ไหม รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า โดยหลักสิทธิบัตรจะคุ้มครอง 20 ปี ตั้งแต่วันยื่นคำขอรับสิทธิบัตร สำหรับ “กังหันชัยพัฒนา” ที่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายไปเมื่อปี 2536 ก็อันนี้หมดอายุการคุ้มครอง 20 ปีแล้ว ใครจะนำแบบไปใช้ก็สามารถใช้ได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ในหลวงท่านเคยมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับ “ฝนหลวง” ว่า หากเห็นว่าเป็นประโยชน์ พระองค์ท่านก็ไม่ได้ทรงหวงห้าม

“การจดสิทธิบัตรเหมือนท่านต้องการแสดงให้เห็นว่ามันมีระบบการคุ้มครองอยู่นะ แล้วคุณก็ใช้ตามระบบการคุ้มครอง ท่านไม่ได้ทรงหวงว่าเป็นของท่านเอง ท่านทรงคิดอยู่ตลอดเวลา ถ้าปกติในระบบสิทธิบัตรถ้าเจ้าของไม่อนุญาต ทำไม่ได้ ต้องรอให้หมดอายุการคุ้มครองก่อน แต่ที่ผมยกขึ้นมาเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านเอง ที่ทรงคิดถึงประโยชน์ของสาธารณะมากกว่า เพียงแต่ทำให้เป็นแบบอย่างว่าเมื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์แล้วให้มาจดสิทธิบัตรเพื่อเข้าสู่การคุ้มครองตามระบบ”

...

นอกจากสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังมีผลงานด้านลิขสิทธิ์ 83 ผลงาน ดังนี้

2.1 ด้านวรรณกรรม จำนวน 6 เล่ม ได้แก่ 1) หนังสือแนวคิดทฤษฎีใหม่ 2) โครงการทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3) พระมหาชนก 4) นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ 5) ติโต 6) หนังสือแนวคิดทฤษฎีใหม่

2.2 ด้านจิตรกรรม จำนวน 8 ภาพ ได้แก่
1) ภาพชื่อ “สมเด็จพระราชบิดา” สีน้ำมันบนผ้าใบ พ.ศ. 2504 ลงพระนามย่อ ภอ 4-04
2) ภาพชื่อ “ทะเลาะ” สีน้ำมันผ้าใบ พ.ศ. 2506 ขนาด 60.5X123.5 ซม.
3) ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ ไม่ปรากฏชื่อ พ.ศ. 2506 ขนาด 46X61 ซม. ลงพระนามย่อ ภอ 8-10-06
4) ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ ไม่ปรากฏชื่อ พ.ศ. 2506 ขนาด 45X60 ซม. ลงพระนามย่อ ภอ 8-06
5) ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ ไม่ปรากฏชื่อ พ.ศ.2509 ลงพระนามย่อ 3-2-09
6) ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ ไม่ปรากฏชื่อ ลงพระนามย่อ ภอ 1-04
7) ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ ไม่ปรากฏชื่อ ขนาด 136X143 ซม.
8) ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ ไม่ปรากฏชื่อ ขนาด 59X44 ซม.

...

2.3 ด้านประติมากรรม 7 ผลงาน ได้แก่
1) รูปปั้นหญิงเปลือยนั่งคุกเข่า
2) พระรูปปั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถครึ่งพระองค์
3) พระพุทธรูปปางประทานพร ภปร
4) พระพิมพ์ส่วนพระองค์
5) พระพุทธรูปปางมารวิชัย ภปร
6) พระพุทธนวราชบพิตร (ปางมารวิชัย)
7) เหรียญพระมหาชนก

2.4 ด้านภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ 10 ภาพ ได้แก่
1) ภาพถ่าย “ตามรอยพระยุคลบาท”
2) ภาพถ่ายเรือรบจำลอง
3) ภาพถ่าย “คู่ดาว”
4) ภาพถ่าย “จ้อง”
5) ภาพถ่าย “สามัคคีสี่พระหัตถ์
6) ภาพถ่าย “ในอ้อมพระกร”
7) ภาพถ่าย “สงบ”
8) ภาพถ่าย “พระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม”
9) ภาพถ่าย “น้ำท่วม”
10) ภาพถ่าย “เส้นสุนทรีย์

...

2.5 ด้านดนตรีกรรม จำนวน 52 เพลง ได้แก่
1) เพลงแสงเทียน (Candle Light)
2) เพลงยามเย็น (Love at Sundown)
3) เพลงสายฝน (Falling Rain)
4) เพลงใกล้รุ่ง (Near Dawn)
5) เพลงชะตาชีวิต (H.M. Blues)
6) เพลงดวงใจกับความรัก (Never Mind the Hungry Men’s Blues)
7) เพลงราชวัลลภ (Royal Guards March)
8) เพลงอาทิตย์อับแสง (Blue Day)
9) เพลงเทวาพาคู่ฝัน (Dream of Love Dream of You)
10) เพลงคำหวาน (Sweet Words)
11) เพลงมหาจุฬาลงกรณ์
12) เพลงแก้วตาขวัญใจ (Love Light in My Heart)
13) เพลงพรปีใหม่
14) เพลงรักคืนเรือน (Love Over Again)
15) เพลงยามค่ำ (Twilight)
16) เพลงยิ้มสู้ (Smiles)
17) เพลงธงไชยเฉลิมพล (The Colours March)
18) เพลงเมื่อโสมส่อง (I Never Dream)
19) เพลงลมหนาว (Love in Spring)
20) เพลงศุกร์สัญลักษณ์ (Friday Night Rag)
21) เพลง Oh I Say
22) เพลง Can’t You Ever See
23) เพลง Lay Kram Goes Dixie
24) เพลงค่ำแล้ว (Lullaby)
25) เพลงสายลม (I Think of You)
26) เพลงไกลกังวล
27) เพลงเกิดเป็นไทย ตายเพื่อไทย (When)
28) เพลงแสงเดือน (Magic Beams)
29) เพลงฝัน
30) เพลงเพลินภูพิงค์ (Somewhere Somehow)
31) เพลงราชนาวิกโยธิน
32) เพลงภิรมย์รัก
33) เพลง Kinari Suite: A Love Story
34) เพลง Kinari Suit: Nature Waltz
35) เพลง Kinari Suite: The Hunter
36) เพลง Kinari Suite: Kinari Waltz
37) เพลงแผ่นดินของเรา (Alexandra)
38) เพลงพระมหามงคล
39) เพลงธรรมศาสตร์
40) เพลงในดวงใจนิรันดร์ (Still on My Mind)
41) เพลงเตือนใจ (Old Fashioned Melody)
42) เพลงไร้จันทร์
43) เพลงไร้เดือน (No Moon)
44) เพลงเกาะในฝัน (Dream Island)
45) เพลงแว่ว (Echo)
46) เพลงเกษตรศาสตร์
47) เพลงความฝันอันสูงสุด
48) เพลงเราสู้
49) เพลง เรา-เหล่าราบ 21
50) เพลง Blues for Uthit
51) เพลงรัก
52) เพลงเมนูไข่

ผลงานด้านเครื่องหมายการค้า มีทั้งสิ้น 13 คำขอ ดังนี้

3.1 พระราชทานให้บริษัท สุวรรณชาด จำกัด จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ได้แก่ เครื่องหมายการค้าสุวรรณชาด 1 คำขอ เครื่องหมายการค้าทองแดง 2 คำขอ เครื่องหมายการค้าโกลเด้นเพลซ 4 คำขอ
3.2 พระราชทานให้บริษัท มงคลชัยพัฒนา จำกัด จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ได้แก่ เครื่องหมายการค้า ธรรมชาติ 5 คำขอ และเครื่องหมายการค้ามุมสบายๆ 1 คำขอ

ขอบคุณเนื้อหาบางส่วนและภาพจาก หนังสือ "อัจฉริยราชา ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน" จัดทำโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์