ภูมิปัญญาท้องถิ่น!! เปิดแหล่งผลิต และขั้นตอนการทำ "หม้อกรันพระร่วง" จากเครื่องปั้นดินเผาธรรมดาๆ ถูกนำมาแต่งด้วยผ้าไทย จนกลายเป็นสินค้าของดีจากบ้านทุ่งหลวง อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย...

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังบ้านเลขที่ 35 ม.8 ต.ทุ่งหลวง อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย ของ นางอิงอร ตรีขำ อายุ 52 ปี ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ม.8 ต.ทุ่งหลวง อ.คีรีมาศ หลังทราบว่า เป็นแหล่งผลิต "หม้อกรันพระร่วง" ของที่ระลึกประเภทเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นสืบทอดกันมาหลายชั่วคน ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย โดยจะนำเอาหม้อกรันดินเผาซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวบ้านทุ่งหลวง อ.คีรีมาศ ขนาดย่อส่วนจากของจริง มาตกแต่งด้วยผ้าไทยหลากสีประดับด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง กลายเป็น "หม้อกรันพระร่วง" ที่สวยงามมีมูลค่าเพิ่มหลายเท่าตัว เป็นสินค้าของที่ระลึกขายดีสำหรับนักท่องเที่ยว

...

นางอิงอร ตรีขำ ผู้คิดริเริ่มทำ "หม้อกรันพระร่วง" เป็นคนแรกเปิดเผยถึงขั้นตอนในการทำ ว่า จะไปนำดินเหนียวจากบ้านหนองอ้อ ม.9 ต.ทุ่งหลวง ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษคือ มีสีดำสนิทแต่เมื่อถูกเผาจนได้ที่แล้วจะกลายเป็นสีแดงมันวาวและมีความแกร่งในตัว นำมาปั่นกับน้ำและน้ำยาประสานจนได้ที่ ก่อนเทลงแม่พิมพ์ทิ้งไว้ประมาณครึ่งวัน จนส่วนผสมของดินแห้งได้ที่ก็จะแกะแม่พิมพ์ออกวางผึ่งลมอีกครึ่งวัน จากนั้นจะใช้ใบตองแห้งมาขัดตกแต่งพื้นผิวให้เรียบตามแบบฉบับวิธีโบราณ ก่อนนำเข้าสู่เตาเผาและอบทิ้งไว้อีก 24 ชม. ก็จะได้หม้อกรันดินเผา ที่มีสีแดงมันเงาและมีความแกร่งในตัว สามารถนำมาตกแต่งด้วยผ้าไทยประดับดิ้นเงินดิ้นทองพร้อมใส่ในกรอบกระจกออกวางขาย มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว จากหม้อกรันดินเผาธรรมดาๆ ราคาใบละ 25-30 บาท แต่เมื่อนำมาตกแต่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีราคาขายตั้งแต่ 499-999 บาท เลยทีเดียว

นางอิงอร ตรีขำ กล่าวว่า ตามความเชื่อแต่โบราณ "หม้อกรันพระร่วง" จะมีอยู่ทั้งหมด 3 ส่วน คือ 1."ฝาปิด" หรือฝาระมี หมายถึง การมีกินมีใช้ มั่งมีศรีสุข 2."กระพุงตรงกลาง" หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ตลอดกาล 3."ฐาน" หมายถึง ความมั่นคงสมบูรณ์ ซึ่งหากผู้ใดมี "หม้อกรันพระร่วง" ไว้ในครอบครอง ก็จะเสริมบารมี เสริมโชคชะตา มีความเป็นสิริมงคลต่อที่อยู่อาศัยและตามฮวงจุ้ย จึงเหมาะสำหรับใช้เป็นของขวัญของที่ระลึกในงานขึ้นบ้านใหม่ หรือการออกเรือนแต่งงาน นอกจากนี้ยังใช้เป็นของชำร่วยในงานพิธีมงคลต่างๆ ได้อีกด้วย.