ทุกวันนี้สังคมไทยและสังคมโลก มิได้มีประชากรเพียงแค่ชายจริงกับหญิงแท้ 2 เพศเท่านั้น แต่ยังมีประชากรอีกประเภท ที่พระเจ้าทรงลังเลก่อนส่งมาเกิด หรือที่สมัยนี้เรียกว่า บุคคลเพศที่ 3 อันได้แก่ ตุ๊ด ทอม กะเทย และเกย์
ตามข้อมูลในเว็บบอร์ด Postjung.com โพสต์โดย “โอโม่บอย” ได้จัดประเภท บุคคลเพศที่ 3 ในเมืองไทย เอาไว้อย่างเข้าใจ เข้าถึง และเห็นภาพชัดเจนว่า บุคคลเพศที่ 3 ทั่วเมืองไทย ประเมินไว้น่าจะมี ตุ๊ด อยู่ราวๆ 60% กะเทย 25% และ เกย์ อีก 15%
ในแง่ของความหมาย “โอโม่บอย” อธิบายว่า เกย์ หมายถึง ผู้ชายแท้ๆ แต่มีใจชอบผู้ชายด้วยกัน หรือ ไม่ชอบผู้หญิง ลักษณะของเกย์แท้ จึงมีความเป็นแมน ไม่ต่างกับผู้ชายทั่วไป
ดังนั้น พวกที่ชอบกินเหล้า เอะอะมะเทิ่ง เดินถอดเสื้อ นุ่งโสร่งตัวเดียว และมีอาชีพแมนๆ อย่างเช่น ตำรวจ ทหาร หรือ กรรมกรก่อสร้าง ก็ล้วนมีความเป็นเกย์แฝงเร้นอยู่ในตัวได้ทั้งนั้น เพราะคนเหล่านี้มีลักษณะภายนอกเหมือนชายแท้ทุกกระเบียด จิตใจก็เป็นชายเต็มตัว เช่น ชอบปีนเขา ลุยป่า เพียงแต่เป็นชายที่ไม่ชอบหญิง แต่ดันไปชอบผู้ชายไม้ป่าเดียวกัน...เท่านั้นเอง
ส่วน กะเทย หรือ สาวประเภทสอง “โอโม่บอย” ให้อรรถาธิบายว่า หมายถึง ผู้ที่มีกายเป็นชาย แต่ใจเป็นหญิง ชอบผู้ชาย และ อยากมีเรือนร่างเป็นหญิง
“กลุ่มนี้อาจจะมีทั้งผู้ที่แปลงเพศแล้ว และยังไม่แปลงเพศ มีข้อสังเกต กลุ่มนี้มักจะไม่แสดงกิริยาเกินงามจากที่ผู้หญิงแท้ๆเป็นกัน กิริยามารยาท จึงดูเหมือนหญิงเป๊ะๆ จนบางทีผู้คนคิดว่าเป็นผู้หญิงจริงๆก็มี”
สำหรับ ตุ๊ด เขาอธิบายว่า หมายถึง ผู้ที่มีกายเป็นชาย ใจเป็นหญิง แต่ไม่อยากมีเรือนร่างเป็นหญิง ขอมีเรือนร่างเป็นชาย แต่งหญิง ให้คนดูออกนี่แหละ
...
“พูดง่ายๆ ตุ๊ดส่วนใหญ่ไม่เคยคิดจะแปลงเพศ หรืออยากจะเป็นผู้หญิงเลย แล้วก็ไม่อยากเหมือนผู้ชายด้วย แต่หลงใหลได้ปลื้มกับความเป็นผู้ชายประหลาด ที่ได้แต่งตัวเป็นหญิง และได้ทำกิริยาเกินหญิง คนกลุ่มนี้จึงมักจะสะดีดสะดิ้งเต็มพิกัด”
พอเห็นภาพกันแล้วว่า บุคคลเพศที่ 3 มีบุคลิกอย่างไรบ้าง...แต่ประเด็นที่คอลัมน์สกู๊ปหน้า 1 จะหยิบยกขึ้นมาขยายความในวันนี้ พุ่งเป้าไปที่ “เกย์” เท่านั้น
ด้วยเป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะนี้สังคมไทยเริ่มมีประชากรเกย์ แฝงตัวอยู่ในแทบทุกสาขาอาชีพมากขึ้น ไม่ว่าวงการ ตำรวจ ทหาร ครู นักแสดง หรือ แม้แต่แพทย์ ล้วนมีเกย์ระบาดกลาดเกลื่อนวงการ เพียงแต่สาธุชนชาวเกย์เหล่านั้น มีตำแหน่ง สถานภาพ หรือหน้าที่การงานอันทรงเกียรติ...ค้ำคอไว้ จึงไม่กล้าแสดงตัวตนอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ เว้นแต่จะอยู่ในหมู่พวกพ้องชาวเกย์ด้วยกัน
นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์ นักปฏิบัติการวิจัยของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของงานวิจัยเรื่อง “ชายรักชาย ในประเทศไทย คือใคร มีเท่าไร ใครรู้บ้าง?”
ตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มชายรักชาย หรือที่หลายคนเรียกสั้นๆว่า กลุ่มเอ็มเอสเอ็ม (MSM) หรือ กลุ่มเอ็ม (M) ซึ่งมาจากคำว่า Men who have Sex with Men ซึ่งเป็นศัพท์ที่แวดวงสาธารณสุขเจตนาใช้เพื่อที่จะหมายถึง กลุ่มผู้ชายที่มีพฤติกรรมทางเพศ หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกัน
เช่น กลุ่มเกย์ (Gay) กลุ่มกะเทย/สาวประเภทสอง (Transgender) และยังรวมถึงผู้ที่อาจจะมีแค่พฤติกรรมทางเพศกับผู้ชายด้วยกัน แต่ไม่ได้มีรสนิยมส่วนตัว หรือวิถีทางเพศแบบนั้น เช่น พนักงานบริการชาย (Male Sex worker)
นิพนธ์บอกว่า ณ เวลานี้ไม่มีใครรู้ว่าประเทศไทยมีจำนวนชายรักชายอยู่เท่าไร เพราะไม่สามารถใช้วิธีแจงนับ หรือหาข้อมูลทั้งจากทะเบียนราษฎร หรือการทำสำมะโนประชากร เนื่องจากยังมีชายรักชายอีกจำนวนมาก ที่ ไม่กล้าเปิดเผย หรือ แสดงตัวตนที่แท้จริงต่อสังคม
เพราะพวกเขายังมีความเชื่อว่า พฤติกรรมแบบชายรักชาย เป็นเรื่องที่ขัดกับค่านิยมของสังคม
“มีหลายงานวิจัยที่พบว่า ชายรักชายยังต้องเผชิญกับปัญหาการถูกล้อเลียน ถูกปฏิเสธ ตีตรา และเลือกปฏิบัติ การเปิดเผยตัวตนต่อสังคมของพวกเขาแต่ละคน จึงไม่ใช่เรื่องง่าย อีกอย่างชายรักชายหลายคน ยังมีปัญหาในแง่สถานะและบทบาททางสังคมค้ำคอหอย”
นิพนธ์ว่า การที่สังคมทั่วไปยังไม่เปิดใจยอมรับ ย่อมทำให้ชายรักชายมีความลำบากในการใช้ชีวิต ชายรักชายจำนวนมาก จะเปิดเผยตัวเฉพาะในพื้นที่ที่คิดว่าปลอดภัยจากการรังเกียจ การไม่ยอมรับ และการเลือกปฏิบัติเท่านั้น
“ยกตัวอย่าง ในวัยเรียน มักจะเปิดเผยเต็มที่กับกลุ่มเพื่อนสนิทที่โรงเรียน แต่ยังต้องปกปิดทางครอบครัว ซึ่งยังรับไม่ได้ในเรื่องนี้ ส่วนชายรักชายในวัยทำงาน ที่ไม่แน่ใจว่าการเปิดเผยตัวตนจะส่งผลต่อโอกาสในการทำงานของตนหรือไม่ ก็อาจเลือกที่จะปกปิดเพศวิถีของตนไว้”
เขาบอกว่า แม้ชายรักชายได้รับการยอมรับในสายงานบางอาชีพ เช่น อาชีพช่างแต่งหน้า ช่างเสริมสวย นักแสดง นักประดิษฐ์สิ่งสวยงาม พนักงานบริการ แต่บางสายอาชีพ การแสดงตนว่าเป็นชายรักชาย อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อหน้าที่การงาน เช่น ผู้ที่รับราชการเป็นครู แพทย์ ทหาร ตำรวจ ฯลฯ
นิพนธ์บอกว่า ที่สำคัญ ขณะนี้กลุ่มชายรักชายได้เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการดำเนินงาน เพื่อยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทย เพราะจากผลการวิจัยและเฝ้าระวังสถานการณ์โรคเอดส์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มชายรักชายในไทย ยังมีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีสูงอย่างต่อเนื่อง และสูงกว่ากลุ่มประชากรอื่นๆ
“จากข้อมูลของ The lasted country snapshot of Thailand รายงานว่า 41% ของกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในเมืองไทย คือ กลุ่มชายรักชาย โดยเฉพาะกลุ่มชายรักชายที่อยู่ในเมืองใหญ่ๆ หรือเมืองท่องเที่ยว กรณีนี้จึงเหมือนตอกย้ำให้กลุ่มชายรักชาย ยิ่งไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม และส่งผลต่อการเปิดเผยตัวตน เพราะไม่อยากถูกมองว่าตัวเองเป็นพวกกลุ่มเสี่ยง”
...
เขาบอกว่า การจะแก้ปัญหาผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ให้ได้ผลตรงเป้า ก่อนอื่นควรต้องทราบจำนวนที่แท้จริงของชายรักชายในไทย แต่อย่างที่รู้กันว่าติดตรงปัญหา ไม่ค่อยมีใครกล้าเปิดเผยตัวตน
หลายปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้พยายามค้นหาจำนวนที่แท้จริงของประชากรชายรักชายในเมืองไทย โดยใช้วิธีคาดประมาณต่างๆ เช่น คาดประมาณด้วยวิธี Network scale up โดยคำนวณจากสัดส่วนของการสอบถามเครือข่ายของผู้ที่รู้จักกลุ่มชายรักชายในพื้นที่ที่ศึกษา
หรือคาดประมาณโดยใช้ข้อมูลจากหลายแหล่ง (Multiple source method) เช่น ข้อมูลจากระบบบริการต่างๆ ที่ปรากฏว่ามีชายรักชายเข้าไปรับบริการ ใช้การคาดประมาณด้วยวิธี Programmatic mapping โดยการสำรวจขนาดและลักษณะกลุ่มประชากร ณ จุดรวมตัวที่กลุ่มชายรักชายมักจะไปรวมตัวกัน รวมทั้งใช้การคำนวณทางสถิติเทียบเคียงกับจำนวนประชากรทั่วไป เป็นต้น
นิพนธ์บอกว่า ในที่สุดได้ตัวเลขที่เชื่อว่า จำนวนชายรักชายในเมืองไทย น่าจะมีสัดส่วนประมาณ 3% ของประชากรชายที่มีอายุระหว่าง 15-59 ปี หรือพูดง่ายๆ ถ้าประเทศไทยมีประชากรชาย อายุ 15-59 ปี จำนวน 20 ล้านคน ก็จะมีผู้ที่เป็นชายรักชายทั่วประเทศอยู่ราวๆ 600,000 คน
“ด้วยบริบทที่นำไปสู่การปิดตัวซ่อนเร้นของชายรักชาย ทำให้ความพยายามจะค้นหาคำตอบเกี่ยวกับจำนวนประชากรชายรักชาย ยังทำได้ดีที่สุดแค่การคาดประมาณเท่านั้น ซึ่งยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า ตัวเลขคาดประมาณที่ได้มา ยังห่างไกลกับความเป็นจริงแค่ไหน” นิพนธ์ทิ้งท้าย.