“องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)” หรือ “อพท.” โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย ร่วมกับ จังหวัดเลย อำเภอภูกระดึง อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ชุมชน และเยาวชนบริเวณ “ภูกระดึง”
จัดโครงการ “เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559”
ก่อนหน้านี้ก็จัดกิจกรรม “ปีนเขาเก็บขยะภูกระดึง” เมื่อปลายเดือน พฤษภาคม 2559 นำภาคีเครือข่ายเดินขึ้นภูกระดึงเพื่อช่วยกันเก็บขยะแล้วนำลงมากำจัดด้านล่าง ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่อยู่ในบทบาทหนึ่งของ อพท. ในการส่งเสริม สนับสนุนให้มีการพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
“เราคาดหวังว่าการจัดกิจกรรมจะได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงาน...ชุมชนเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างจิตสำนึก ความตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงส่วนรวมเพิ่มขึ้น และถือเป็นกิจกรรมทำความสะอาดให้แก่ภูกระดึงก่อนถึงฤดูปิดป่าเพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัว...เปิดขึ้นภูกระดึงอีกครั้งในเดือนตุลาคม”
พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. บอกว่า กิจกรรมนี้เป็นกรณีตัวอย่างที่ดีกับพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ มีผู้เข้าร่วมเกือบ 500 คน เชื่อมั่นว่าจะช่วยให้ประชาชน หน่วยงาน มีความรัก ความสามัคคี ที่จะร่วมกันพัฒนา รักษาบ้านเกิด โดยมีจุดหมายร่วมกัน
ตลอดจนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่...แหล่งท่องเที่ยว เกิดความรักความหวงแหน...เห็นคุณค่าในทรัพยากร เกิดเป็นแนวคิดการจัดการอย่างสร้างสรรค์ ที่เริ่มจากจุดเล็กๆ และสามารถขยายผลไปถึงส่วนรวมได้
...
“ภูกระดึง”...เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดเลย เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีสภาพอันโดดเด่น มีความงดงามและมีคุณค่าทางธรรมชาติ ปัจจุบันการขึ้นชมความงามบนยอดภูกระดึง ยังคงเป็นการเดินเท้า โดยมีระยะทางประมาณ 5.5 กิโลเมตร มีความสูงอยู่ระหว่าง 500-1,200 เมตร
พื้นที่แห่งนี้เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่มีทั้งป่าผลัดใบ ป่าดงดิบ ประกอบด้วยพันธุ์สัตว์ป่านานาพันธุ์ มีทั้งหน้าผา ทุ่งหญ้า ลำธาร น้ำตก และยังเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลำน้ำพอง
ในแต่ละปีภูกระดึงจะรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ช่วงเทศกาลซึ่งมีวันหยุดยาวจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวภูกระดึงถึงวันละ 4,000–5,000 คน
จากสถิติของอุทยานแห่งชาติภูกระดึงระบุว่า นักท่องเที่ยว 1 คน จะผลิตขยะ 1.5 กิโลกรัมต่อวัน ทำให้ช่วงวันหยุดเทศกาล ปริมาณขยะที่ภูกระดึงจะมีสูงถึง 2,000-3,000 กิโลกรัมต่อวัน กระจายอยู่ทั่วไปตั้งแต่ทางเดินไปถึงยอดภู...ที่พักแรม เพราะการเดินขึ้นภูย่อมมีขยะเกิดขึ้น โดยเฉพาะตามบริเวณสองข้างทางเดินเท้า
“การอนุรักษ์...การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนี้จะสำเร็จได้อย่างยั่งยืน หน่วยงาน ชุมชน ประชาชนจะต้องร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งตามนโยบายประชารัฐ”
ในฐานะที่ อพท. เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง AEN (Asian Ecotourism Network) ซึ่งเป็นเครือข่ายนักวิชาการ ผู้ประกอบการ และองค์กรพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ด้วยการเชิญ AEN เข้ามาดำเนินการในประเทศไทย และประกาศความเป็นผู้นำในฐานะศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของเอเชีย
“เราจึงขอใช้โอกาสนี้นำองค์ความรู้ วิธีการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในระดับนานาชาติมาพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษที่ อพท.รับผิดชอบดูแล จากนั้นจะขยายผลต่อไปในระดับสากล”
ขณะเดียวกันก็จะใช้ช่องทางนี้เผยแพร่ผลงาน ความสำเร็จของ อพท. ให้กับเครือข่ายในระดับนานาชาติผ่านกลุ่ม AEN เช่นกัน ดร.นาฬิกอติภัค ย้ำว่า AEN...เป็นการรวมกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทั้งภาครัฐ...เอกชน ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนนำเที่ยว ผู้ประกอบการ เอ็นจีโอ สถาบันการศึกษา นักวิชาการ ปัจจุบันมีสมาชิก 17 เขตเศรษฐกิจ
ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ศรีลังกา ลาว เกาหลีใต้ บังกลาเทศ ปากีสถาน ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ มองโกเลีย อินโดนีเซีย ภูฏาน อินเดีย เนปาล ฮ่องกง ไต้หวัน และไทย
ปัจจุบันกำลังขยายฐานสมาชิกอย่างต่อเนื่อง จุดประสงค์เพื่อเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในเอเชียมาถ่ายทอด แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ ฐานข้อมูล และเครื่องมือการพัฒนาการท่องเที่ยวระหว่างกันในกลุ่มเครือข่าย ประสาน...ส่งเสริม...สนับสนุน สร้างสมดุลแบบครบวงจร
จัดการท่องเที่ยวโดย “ชุมชน” อย่างยั่งยืน
“การที่เราเป็นองค์กรที่ได้เอกสิทธิ์จากสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกให้นำเนื้อหาหลักสูตรระดับโลกมาแปลเป็นภาษาไทย และเป็นผู้จัดการฝึกอบรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแต่เพียงผู้เดียวในประเทศ ให้กับภาคส่วนต่างๆและสร้างเครือข่าย ถือเป็นการยกระดับการทำงาน พัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน”
ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศไทย รัฐบาลได้ใช้ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย พ.ศ.2558-2560 เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายการท่องเที่ยวของรัฐบาล และให้ความสำคัญกับการพัฒนาในรูปแบบ “ประชารัฐ” ...นอกเหนือจากภาครัฐและภาคเอกชนแล้ว องค์ประกอบสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนาในรูปแบบนี้ให้เกิดความยั่งยืน คือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
ดังนั้น...การท่องเที่ยวโดยชุมชน จึงเป็นแนวทางและโอกาสให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนา เพิ่มมูลค่า และต่อยอดทรัพยากรท้องถิ่นผ่านการท่องเที่ยวในแบบที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวของท้องถิ่นเอง
...
ยุทธศาสตร์ปี 2559 เดินหน้าขยายผลการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนใน 5 เขตพื้นที่พัฒนาการท่องเที่ยว วัตถุประสงค์สำคัญในการเชื่อมโยงการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนใน 2 มิติ
หนึ่ง...การเชื่อมโยงชุมชนระดับแนวหน้าของประเทศไทยที่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนด้วยแนวทางที่หลากหลายทั้งในเขตพื้นที่พิเศษของ อพท. และในเขตพื้นที่พัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 5 คลัสเตอร์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
“สังเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จ ต่อยอดขยายผลความรู้ต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทยให้มุ่งสู่การพัฒนาเชิงคุณภาพ เพื่อให้การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนเกิดประโยชน์กับชุมชนท้องถิ่นมากที่สุด”
สอง...เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนตั้งแต่ภาคนโยบายไปจนถึงภาคปฏิบัติ มุ่งเน้นการเชื่อมโยงระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับการขับเคลื่อนแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติทั้ง 5 คลัสเตอร์ เพื่อให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนได้เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่คุณค่าการท่องเที่ยว สะท้อนอัตลักษณ์ที่แท้จริงของประเทศไทยอย่างยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของชุมชน...อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยต่อไป
ความสำเร็จของพื้นที่หนึ่งอาจไม่ใช่สูตรสำเร็จของอีกพื้นที่หนึ่ง... ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดจากคนในชุมชน หน่วยงานในพื้นที่ ร่วมด้วยช่วยกัน...ต้อง “สามัคคี” เดินหน้าด้วย “ปัญญา”.