ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุกๆ ท่าน พระมหาสมปองมาอีกแล้ว มาพร้อมกับธรรมะชื่นใจ พร้อมส่งให้ทุกๆ ท่าน ก่อนที่จะเข้าเนื้อหาของวันนี้ อาตมาขอเล่าเรื่องพระให้ฟังสักนิดหนึ่ง

เรื่องมีอยู่ว่า เหตุเกิดช่วงน้ำท่วม พระหลายวัดเดินบิณฑบาตไม่ได้ จำเป็นจะต้องพายเรือไปรับบาตร เหตุอยู่ที่ว่า พระสมัยใหม่พายเรือไม่เป็น หลวงตาท่านก็เลยอาสาหัดให้ หัดได้สักพักหลวงตาท่านก็บอกว่า เอาละใช้ได้แล้ว พรุ่งนี้พายเรือไปรับบาตรได้

พอเช้าวันใหม่มาถึง หลังจากที่ตื่นแต่เช้า ทำวัตรเช้าเสร็จก็ได้เวลาบิณฑบาต นักพายมือใหม่ก็ประจำการ ผ่านไปบ้านหลังแรก หลังสองก็ไม่มีปัญหาอะไร เหตุเกิดที่บ้านหลังที่สาม พอดีมีเรือหางยาวผ่านมาพอดี พระใหม่หัดพาย ก็พยายามจะบังคับเรือให้เทียบท่าน้ำที่บ้านโยม ด้วยแรงคลื่นทำให้เรือกระแทกเข้ากับท่าน้ำอย่างจัง หมาที่นอนที่ท่าน้ำก็ตกใจ เห่าเสียงดัง และเห่าไม่หยุดเอาซะด้วย โยมยายที่รอใส่บาตรก็รำคาญ จึงตะโกนออกมาว่า “เห้ย...!! พระก็เห่านะมึง” พระรูปนั้นท่านก็แต่พูดเบาๆ ว่า “โยม พระไม่ได้เห่านะโยม หมามันเห่า” !!!

เอาละมาเข้าประเด็นที่จะพูดฉบับนี้กันดีกว่า ที่เกริ่นเรื่องพระ เพราะวันนี้เราจะมาพูดเรื่องพระ ก็อย่างว่านะโยมตอนนี้ข่าวในทางไม่ดีของพระออกมามากเหลือเกิน โยมบางคนเห็นแล้วไม่สบายใจ และหลายคนก็เสื่อมศรัทธาลงไปด้วย โยมทั้งหลายก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับพระก่อน

...

พระสงฆ์ หมายถึง หมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ซึ่งฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วเลื่อมใส สละเรือนออกบวช ถือวัตร ปฏิบัติก่อ ตามพระธรรมวินัยที่พระบรมศาสดาสั่งสอนและกำหนดไว้ พระไตรปิฎกภาษาบาลีได้กล่าวถึงถึง พระสงฆ์ ไว้ 2 ประเภท ได้แก่ สาวกสงฆ์ และ ภิกษุสงฆ์

สาวกสงฆ์ หรือที่สมัยหลังนิยมเรียกว่า อริยสงฆ์ คือหมู่พระอริยบุคคล ไม่ว่าเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ไม่ว่าเป็นมนุษย์หรือเทวดา ที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า โดยการบรรลุมรรคผล อริยบุคคล 4 ประเภท คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์

ภิกษุสงฆ์ ในปัจจุบันเรียกว่า สมมติสงฆ์ คือ หมู่ภิกษุ ที่ได้รับการอุปสมบทตามพระบรมพุทธานุญาต จากพระเถระตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปเรียกว่าสงฆ์ เนื่องจากคำว่าสงฆ์แปลว่าหมู่ จึงเรียกหมู่พระภิกษุว่า ภิกษุสงฆ์

คุณสมบัติของพระสงฆ์จะต้องมีดังนี้คือ

1. สุปฏิปณฺโณ ผู้ปฏิบัติดีงาม
2. อุชุปฏิปณฺโณ ผู้ปฏิบัติตรง ถูกต้อง
3. ญายปฏิปณฺโณ ผู้ปฏิบัติชอบ, เพื่อธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์
4. สามีจิปฏิปณฺโณ ผู้ปฏิบัติสมควร, เหมาะสม
5. อาหุเนยฺโย เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา (นำมาถวาย เช่นนำมาใส่บาตรขณะบิณฑบาต)
6. ปาหุเนยฺโย เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ (จัดไว้รอท่าให้ท่านมารับ เช่น การนิมนต์มาฉันที่บ้าน)
7. ทกฺขิเนยฺโย เป็นสงฆ์ควรแก่การรับทักษิณาทาน
8. อฺญชลีกรณีโย เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี (การประนมมือ)
9. อนุตฺตรํ ปุญฺญเขตฺตํ โลกสฺส เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

ข้อปฏิบัติทั้ง 9 ประการนี้ เป็นสิ่งที่ชาวพุทธคาดหวัง และพระสงฆ์ต้องปฏิบัติตาม แต่อาตมาขอพูดอีกมุมหนึ่ง ชาวพุทธที่แท้จริง จะต้องหนักแน่น ไม่สั่นคลอนศรัทธา เมื่อเราเห็นข่าวพระในทางลบ เราอย่าเพิ่งเชื่อไปซะหมด ให้ตรองด้วยเหตุผลก่อน เหมือนหมอรักษาคนป่วย ถ้านิ้วเน่า เราก็ตัดแค่นิ้ว พระสงฆ์ก็เช่นกัน รูปไหนไม่ดีก็ให้สึกไป ศาสนาก็เหมือนทะเล ทะเลเมื่อมีสิ่งไม่ดีลงไป คลื่นก็จะซัดขึ้นฝั่ง ศาสนาก็เช่น เมื่อมีคนไม่ดีเข้ามา ธรรมวินัยก็จะซัดคนเหล่านั้นให้ออกไปเช่นกัน และที่สำคัญเราอย่าเหมารวมว่าพระไม่ดี ศาสนาไม่ดี ที่จริงศาสนานั้นดี และดีมากด้วย พระที่ดีที่ทำประโยชน์ต่อศาสนา ต่อสังคมก็มีเยอะ ต้องทำความเข้าใจว่า คนที่เข้ามาบวชเป็นพระบางคนก็เป็นลูกชาวนาธรรมดา ยังมีกิเลสตัณหา เมื่อบวชเข้ามาแล้ว ก็ไม่ทิ้งนิสัยเดิม เลยทำให้เสื่อมเสียต่อส่วนรวม

และหน้าที่ของชาวพุทธที่จะต้องช่วยกันคือ

1. ศึกษาในหลักธรรมคำสอน
2. การปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอน
3. การเผยแผ่พระศาสนา
4. การป้องกันรักษาพระศาสนา

ถ้าเราช่วยกันดูแลพุทธศาสนา พุทธศาสนาก็จะอยู่คู่กับสังคมของเราตลอดไปเจริญพร.