หลังจาก ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้สืบเสาะเบาะแส เรื่องราวภายในวัดป่าหลวงตาบัว ถึงคนเบื้องหลัง ที่ตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจ "เสือแปรรูปซุกวัดป่า EP.1 คุ้ยเบื้องหลังดองลูกเสือ จุดแตกหัก หารไม่ลงตัว?" มาถึงตอนนี้ ทีมข่าวฯ อยากจะเชื้อเชิญมาอ่านข้อมูล อีกด้านกับความเชื่อ อวัยวะเสือ สามารถนำมาเป็นส่วนผสมทำ "ยาอายุวัฒนะ" ได้จริงหรือ!? พร้อมกับฟังความจากสัตวแพทย์แผนปัจจุบัน และ นักอนุรักษ์ ว่าตอนนี้สถานการณ์เสือโคร่งในประเทศไทยน่าห่วงขนาดไหน
อย่าเสียเวลารอช้า ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ต่อสายตรงไปยัง อ.พจ.วีรชัย สุทธิธารธวัช อาจารย์ประจำคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มาเลคเชอร์ ให้ฟังถึงการแพทย์แผนจีน ให้ฟังว่า ยาจากแพทย์แผนจีนนั้นมีที่มาจาก 3 แหล่งหลัก ประกอบด้วย 1.พืชสมุนไพร ซึ่งเป็นยาหลักที่ใช้กันมากที่สุด 2.สัตว์ทุกชนิด รวมถึง หนอน แมลง และ 3.แร่ธาตุ จากตำรับยาของจีนนั้น เชื่อว่า สมุนไพรก็จะมีการออกฤทธิ์ไปยังอวัยวะต่าง ๆ เช่น ยาตัวนี้ ออกฤทธิ์ไปที่หัวใจเป็นหลัก เป็นต้น
"ปรัชญาในทางการแพทย์ของจีนเชื่อว่าคนเราจะมี qi (ภาษาจีนกลาง) หรือ ภาษาไทยเรียกว่า "ลมปราณ" ในอวัยวะต่างๆ ดังนั้น การกินอวัยวะส่วนใดของสัตว์ก็เพื่อนำลมปราณจากสัตว์ส่วนนั้นมาเสริมให้ร่างกายเรา เรียกว่ากินส่วนไหนก็เสริมส่วนนั้น อย่างไรก็ดี ในทางการแพทย์จีนนั้น จะใช้สมุนไพรจากพืชเป็นหลักมากกว่า"
...
“กระดูก” ของ เสือ ได้รับความนิยม นำมาเป็นส่วนผสมทำยาบำรุง
อาจารย์ประจำคณะการแพทย์แผนจีน ม.หัวเฉียวฯ กล่าวต่อไปว่า อวัยวะสัตว์ที่คนทั่วไปนำมาเป็นส่วนผสมในการทำยามากที่สุด คือ พวกไตหมู ไตแพะ เนื่องจากเป็นสัตว์เลี้ยง ทั้งนี้ ในทางการแพทย์จีนจะมีการตรวจที่แตกต่างจากการแพทย์ปัจจุบัน กล่าวคือ หากแพทย์จีนตรวจพบว่า “ไตไม่ดี” อาจจะต้องใช้ไตหมูมาเป็นส่วนผสมทำยาบำรุง แต่...สำหรับแพทย์แผนปัจจุบัน อาจจะพบว่าค่าไตปกติก็เป็นได้
“การใช้อวัยวะสัตว์ป่า ในตำราเภสัชของจีน มีบันทึกไว้หลายประเภท เช่น สิงโต เสือ เสือดาว หมี ม้า ลา ล่อ กระทั่ง หมา แมว ก็มี จากบันทึกสมัยราชวงศ์ "ฮั่น" หรือ ประมาณ 2,000 ปีก่อน พบว่า มีการนำ "เสือ" มาใช้เป็นยาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเสือโคร่ง อวัยวะที่นิยมมากคือ "กระดูกเสือ" จากนั้นก็มีการศึกษาและจดบันทึกกันต่อมาว่าจนถึงราชวงศ์ "ถัง" นำกระดูกเสือมาใช้ดองเหล้า แต่แน่นอนว่าต้องใช้ร่วมกับยาอื่น ๆ พอมาถึงสมัยราชวงศ์ "หมิง" หรือ ประมาณ 400 ปีก่อน มีตำราเล่มใหญ่ที่ชื่อ "เปิ๋นฉ่าวกังมู่" โดยมีการบันทึกตัวยาไว้กว่า 1,800 ชนิด ถือเป็น "สารานุกรม" ตำรับยาจีนใหญ่ของโลก เขาใช้เวลา 27 ปีในการเขียน โดยมีการตีพิมพ์และเผยแพร่ไปทั่วโลก”
ในตำราเล่มนี้ ระบุว่า "เสือ" ถูกนำมาใช้เป็นยาหลายส่วน โดยเฉพาะ กระดูก เนื้อ เส้นเอ็น ถุงน้ำดี กระเพาะอาหาร ไต ผิวหนัง ตา จมูก ฟัน กรงเล็บ ไขมัน หรือ อุจจาระ ปัสสาวะ ซึ่งเอามาใช้เป็นเครื่องยา สรรพคุณอวัยวะต่าง ๆ ก็แตกต่างกันไป ทางการแพทย์จีนระบุว่า กระดูกเสือ บำรุง ตับและไต เพราะตับและไตมีหน้าที่ควบคุมเส้นเอ็นและกระดูก โดยตรง นอกจากนี้ ยังช่วยขับลม ทะลุทะลวงเส้นลมปราณได้ด้วย ทำให้เลือดลมไหลเวียนสะดวก ทั้งหมดนี้จะช่วยรักษาโรคแขนขาอ่อนแรงในผู้สูงอายุ ซึ่งจะเอามาดองเหล้า อาศัยฤทธิ์ของเหล้ามาช่วยกระตุ้น เลือดลม
...
กระดูกเสือ นอแรด ถูกห้ามค้าขาย ถือครอง ในจีน ตั้งแต่ปี 2536
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถามว่า ได้มีการตรวจสอบสรรพคุณ ตามแพทย์แผนปัจจุบันบ้างหรือไม่ อ.พจ.วีรชัย ตอบว่า ในตำรามีใช้และตกทอดมา ในเมืองจีนเอง มีประกาศกฎหมายห้ามออกมา เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2536 ห้ามใช้ "นอแรด" กับ "กระดูกเสือ" คือห้ามซื้อขาย ห้ามนำมาทำเป็นยา หรือมากินทั้งปวง ฉะนั้น ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจึงไม่มีการนำอวัยวะเหล่านี้มาทำยาอีกต่อไป โดยจะให้หาจากสูตรอื่น เช่น พืช หรือ สัตว์อื่นทดแทน ซึ่งในคลินิก ต่างๆ ก็เลิกใช้กันหมดแล้ว ถามว่า "งานวิจัยรองรับ" เกี่ยวกับกระดูกเสือ มีหรือไม่ คำตอบคือ "มี" เพราะกระดูกเสือสามารถนำมาใช้ในการต้านการอักเสบและลดการเจ็บปวด ส่วนอวัยวะอื่น ๆ ของเสือ นั้น ไม่ค่อยได้มาทำเป็นยาเท่าไหร่ จึงคาดว่าไม่น่ามีงานวิจัยสนับสนุนในส่วนนี้ และคาดว่าในอนาคตก็จะไม่มี เพราะเป็นสิ่งที่เลิกใช้แล้ว ขณะที่ของไทย น่าจะอยู่ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่า เมื่อเราห้ามล่า ห้ามเลี้ยง ทั้งปวง ก็ไม่สามารถนำมาทำเป็นยาได้เลย
เมื่อถามว่า ลูกเสือ สามารถมาทำเป็นยาได้เทียบเท่ากับเสือหรือไม่ อ.พจ.วีรชัย ตอบว่า ในตำรับยาโบราณของจีนไม่มีการกล่าวถึงเรื่องนี้ เพราะคงไม่มีใครที่คิดจะนำลูกเสือมาทำเป็นยา ถ้าจะใช้คงใช้ในส่วนที่โตแล้ว เพราะเขาคงมีจริยธรรมของเขาอยู่ แต่ในหลักการ ถามว่ามีสรรพคุณหรือไม่ ก็คิดว่าน่าจะมีสรรพคุณใกล้เคียง เคยมีข่าวจากต่างประเทศว่า สามารถจับผู้ต้องหาที่ใช้ซากลูกเสือลักษณะใกล้เคียงที่เป็นข่าวบ้านเรา เขาเอาไปตุ๋น เคี่ยว คล้ายๆ เป็นน้ำกาว คล้ายกับน้ำสต๊อก กับการนำเขากวาง หรือ กระดองเต่า จะได้สารเข้มข้นออกมา เอาไปบำรุงเลือดและไตได้ ตัวเสือก็น่าจะเช่นกัน
...
ตลาดมืด ซื้อขายในราคาสูง เตือนสติ “ดับชีวิตเพื่อต่อชีวิต ใช่การบำรุงที่ดี”
อ.พจ.วีรชัย กล่าวต่อไปว่า ส่วนการซื้อขายนั้น ถูกกฎหมาย ไม่มีแน่นอน ส่วนที่ผิดกฎหมาย ก็เคยได้ยินมาบ้าง แต่ที่ได้ยินส่วนใหญ่จะเป็นพวกเขี้ยวเสือ เอามาทำของขลัง ส่วนที่เป็นอวัยวะ ยังไม่เคยได้ยิน ส่วนราคานั้น เท่าที่ทราบ เมื่อ 2 ปีก่อน ราคา กระดูกเสือ ในตลาดมืดต่างประเทศ กิโลกรัมละ 70,000-80,000 บาท ขณะที่ในประเทศไทยไม่เคยได้ยินเลยว่ามีขาย
"จากบันทึกแพทย์แผนจีน พบว่าการใช้เครื่องยาจากสัตว์นั้น ได้ผล หลายๆ โรงพยาบาลหรือแพทย์จีนที่ถูกกฎหมายก็ยังใช้อยู่ แต่ทั้งนี้ ได้มีเภสัชกรแพทย์จีนท่านหนึ่งจากสมัย "ถังไท่จง" คือ "ซุนซือเหมี่ยว" โดยมีการขนานนามว่า "ราชาเภสัชกรจีน" ที่อายุยืนมาก โดยมีการบันทึกไว้ว่า อายุ 106 ปี บางเอกสารก็อ้างว่าอายุ 146 ปี ได้กล่าวถึงจรรยาบรรณทางการแพทย์ว่า "การดับชีวิตเพื่อต่อชีวิต ไม่ใช่เป็นการบำรุงเลี้ยงชีวิตที่ดี" ซึ่งตัวท่านเองก็ไม่นิยม อย่างไรก็ดี ผมอยากแนะนำว่าเราควรเลือกใช้ยาจากพืชหรือแร่ธาตุอื่นๆ ก่อน เพราะสามารถใช้ทดแทนกันได้ นอกจากไม่ได้ผลจริงๆ ค่อยมาพิจารณายาที่มาจากสัตว์ แต่ควรจะเป็นยาที่ถูกกฎหมาย
...
แพทย์แผนปัจจุบัน ไม่ยัน กิน “เสือ” ช่วยโด๊ป ชี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมาดูในแพทย์แผนปัจจุบัน กลับให้คำตอบที่แตกต่าง โดย รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ปานเทพ รัตนากร ประธานภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เท่าที่ความรู้ของผมมีไม่เคยทราบว่าการกินเสือ จะช่วยบำรุงร่างกาย ส่วนกระดูกเสือ ผมก็ไม่เคยได้ยินมาก่อน ส่วนงานวิจัยลักษณะนี้ก็ไม่เคยผ่านตา มาก่อน ส่วนสัตว์ป่าต่าง ๆ เท่าที่เคยทราบว่า ก็อาจจะมีการนำมาทำเป็นยา ซึ่งเป็นตำรับยาโบราณ และปัจจุบันก็ไม่ได้มีการใช้กันแล้ว เพราะถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
สถานการณ์น่าห่วง “เสือไทย” ตามธรรมชาติเหลือน้อย
อย่างไรก็ดี ในฐานะนักอนุรักษ์อย่าง ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุกษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ทำงานดูแลเสือโคร่งมากว่า 20 ปี ก็รู้สึกเป็นห่วงเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง และยอมรับว่า เสือโคร่งมีราคา มีความต้องการสูง ปริมาณในธรรมชาติเหลือน้อยถึงน้อยมาก จากการประเมินเมื่อปี 2553 พบว่า มีเหลือประมาณ 100-200 ตัว แต่ที่เลี้ยงในกรงยังพบว่ามีเยอะ สำหรับสายพันธุ์หลักที่พบในไทย คือ สายพันธุ์อินโดจีน กับ มาลายัน โดยยังพบมีทางใต้ติดกับมาเลเซีย
ทั้งนี้ เสือโคร่งกลายเป็นเป้าหมายตั้งแต่อดีตแล้ว เพราะมีความเชื่อถึงพลังอำนาจ ทำให้คนมีเงินก็อยากเลี้ยง นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อในเรื่องยา เชื่อว่ามีสรรพคุณ ดูมีความสง่างาม หนังจะมีราคา คนไทยเชื่อพลังอำนาจ จึงเห็นว่ามีการทำตะกรุดหนังเสือโคร่ง ซึ่งที่ประกาศขายอยู่มีทั้งของจริงและของปลอม
ในเอเชียมีความเชื่อเรื่องการกินเสือโคร่งเยอะ แต่สำหรับคนไทยยังไม่ค่อยเท่าไหร่ จะมีการนำไปโชว์อวดบารมี แต่ปัจจุบันสังคมเขาไม่ยอมรับแล้ว จึงต้องแอบซ่อน ไม่กล้าโชว์เหมือนเมื่อก่อน ส่วนเรื่องมูลค่านั้น ตนไม่รู้ แต่คาดว่ามีมูลค่าสูง หากตามข่าวดูจะทราบว่าสมัยก่อนเคยมีต่างประเทศเข้ามาล่าเสือโคร่งในประเทศไทยก็มี
“ที่ผ่านมา กรมอุทยานฯพยายามปกป้องมัน ผมเองถึงทำงานเกี่ยวกับเสือโคร่ง มีหลายที่ ที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะที่ห้วยขาแข้งมีเยอะที่สุด เราเองพยายามจะสร้างระบบป้องกันขึ้นมา ซึ่งก็ประสบความสำเร็จพอสมควร ต่างชาติก็ยอมรับ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า ระบบจะอยู่ต่อไปได้หรือเปล่า” ดร.ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวให้คิดทิ้งท้าย...
- สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่ reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ