ชุ่มฉ่ำ สดชื่น กับเทศกาลมหาสงกรานต์ปี 2559 ในปีนี้ แม้จะน้ำน้อย เนื่องจากต้องเจอกับฝนแล้ง จึงมีนโยบายเล่นน้ำอย่างประหยัด แต่ก็เชื่อว่า “ความสุข” ก็ไม่จืดจางลงอย่างแน่นอน

สำหรับ การเล่นสงกรานต์ในปีผ่านๆ มา เราจะเห็นว่า หลายครอบครัวเลือกที่จะใช้ “รถกระบะ” เป็นยานพาหนะ บรรทุก “ถังน้ำ” ไว้หลังรถ ตระเวนสาดกันอย่างสนุกสนาน แม้จะถูกแดดเผา ก็ไม่กลัว อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปีที่แล้ว 2558 ทางเจ้าหน้าที่มีนโยบายงดเว้นเล่นน้ำด้วยวิธีดังกล่าว เนื่องจาก “สุ่มเสี่ยง” จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ และในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ทำการสอบถามเรื่องนี้ไปยังเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง 2 ท่าน ประกอบด้วย พล.ต.ต.สมชาย เกาสำราญ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง และ พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร

...

นครบาล-ทางหลวงฯเอาจริง บรรทุกน้ำเล่นสงกรานต์ เป็นเรื่องอันตราย

พ.ต.อ.เอกรักษ์ ​รอง ผบก.จร. ที่ดูแลความรับผิดชอบในเขตนครบาล กล่าวว่า การเล่นในลักษณะดังกล่าว ถือว่าไม่เหมาะสม เพราะรถกระบะไม่ได้ออกแบบมาบรรทุกคนเล่นน้ำ ขอบกระบะเตี้ย แต่ตรงนี้ก็ยังไม่มีกฎหมายห้ามชัดเจน มันเป็นแค่ดุลพินิจ เพราะฉะนั้นบางครั้งเจ้าพนักงานจะมองว่าถ้ามันเกิดอันตรายเขาก็ห้าม สมมติรถไม่ได้วิ่ง บรรทุกน้ำไปจุดที่เล่นสงกรานต์แล้วก็จอดแล้วตักน้ำในถังสาดกัน แบบนี้ยังไม่อันตราย แต่ถ้าคนเต็มรถ มีถังน้ำแล้ววิ่งไปตามท้องถนนด้วยความเร็ว สาดน้ำกันไปมา อย่างงี้ตำรวจให้ไม่ได้แน่ เพราะมันอันตรายอาจจะตกจากรถมาเกิดอุบัติเหตุ

ด้าน ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง กล่าวทำนองคล้ายกันว่า ในสงกรานต์ที่ผ่านมา เราพบว่าอุบัติเหตุจากการเล่นสาดน้ำบนถนนหลวงเกิดจาก รถใช้ความเร็ว โดยเฉพาะการนำอุปกรณ์สาดน้ำขึ้นท้ายรถปิกอัพ เราได้กำชับกวดขันเพราะก่อให้เกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บเสียชีวิตมากที่สุด ซึ่งตามกฎหมายถือเป็น “เรื่องที่ทำไม่ได้” การบรรทุกบุคคล สิ่งของต่างๆ โดยไม่มีสิ่งปกปิดหรือป้องกันอันตราย เป็นความผิดตามกฎหมายอยู่แล้ว ดังนั้นเราก็จะเข้มงวดกวดขันไม่ให้นำไปใช้บนทางหลวง

เข้าข่าย “ขับรถประมาท-หวาดเสียว” มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง กล่าวเตือนไปยังผู้ที่จะใช้วิธีดังกล่าว ทางตำรวจมีมาตรการดำเนินการจับกุมด้วย โดยการจับกุมก็คงจะต้องออกใบสั่ง จะไม่เน้นเรื่องการว่ากล่าวอย่างเดียว เพราะว่าการก่อให้เกิดอุบัติเหตุจะทำให้คนอื่นได้รับอันตรายไปด้วย ผู้ร่วมเดินทางที่ไม่ได้รับรู้หรือไม่อยากจะเสี่ยงภัยด้วยก็ได้รับอันตราย บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตไปด้วย ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงดำเนินการจับกุม จะปรับไม่เกิน 1,000 บาท

ส่วนนครบาลนั้น รอง ผบก.จร. กล่าวว่า ถ้าตามกฎหมายจราจร เราคงได้แค่ลงโทษผู้ขับขี่เท่านั้น คือ ขับรถประมาทหวาดเสียว หรือขับรถไม่คำนึงถึงความปลอดภัย สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ถ้าลักษณะนั้นก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และมีโทษปรับ แต่เคสที่ผ่านมา อย่างคดีที่ดินแดง ศาลสั่งจำคุก 7 เดือน รับสารภาพเหลือ 3 เดือน 15 วัน แต่ต้องดูพฤติกรรมผู้ขับขี่ประกอบด้วยว่าเจตนาให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือไม่

กินเหล้า-เบียร์บนรถ ต้องโดน...โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท

ในส่วนของการดื่มสุรายาเมาหลังรถกระบะ ที่เราเคยเห็นว่าทำกันได้ในอดีตนั้น ตอนนี้ ก็มีโทษหนักไม่แพ้กัน พ.ต.อ.เอกรักษ์ ระบุว่า เรามีด่านแอลกอฮอล์อยู่แล้ว มันอาจจะไม่ถึงขนาดครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่ก็มีตามจุดสำคัญๆ ตรงนี้มีแน่นอน เพราะว่าการเมาแล้วขับ เราต่อต้านมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นดื่มแล้วขับเรียบร้อยแน่!! อีกอย่างคือถ้าเกิดผ่านด่านเจ้าหน้าที่ตรวจ แล้วผู้ขับขี่ยอมให้คนในรถดื่มก็ผิด ยืนยันเลยว่าเทศกาลนี้ถ้าออกไปเที่ยวไหนแล้วดื่ม โอกาสถูกจับมีมาก

...

นอกจากนี้ พล.ต.ต.สมชาย ยังเสริมว่า ถ้าเมาบนรถกระบะ แต่ไม่พบว่ามีการดื่มอยู่ เราจะจับข้อหาเมาก็คงไม่ได้ แต่ถ้าเราพบว่ามีขวด มีแก้ว มีการบริโภคกันบนท้ายรถ ก็มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพราะงั้นอัตราโทษจำคุกค่อนข้างสูงอยู่ แม้จะไม่ใช่คนขับก็ตาม แค่ดื่มเบียร์บนรถก็ไม่ได้แล้ว ยืนบนพื้นทางแล้วดื่มก็ไม่ได้ ในช่วงเทศกาลก็ขอความกรุณาว่าอย่าบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนพื้นทางและบนรถ ข้างทาง ฟุตปาท อย่างไรก็ตาม เพราะตามกฎหมายโทษค่อนข้างสูง ขอให้งดเว้นเพราะส่วนนี้ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เกิดความประมาทเพิ่มขึ้นในการใช้รถใช้ถนน

คำสั่งพิเศษ คสช. ยึดใบขับขี่-รถ ลดปัญหาเจ็บตายช่วงเทศกาล

ขณะเดียวกัน เมื่อปี 2558 หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งที่ 46/2558 ที่บังคับใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา โดยให้พนักงานตำรวจจราจร เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก เจ้าพนักงานตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว มีอำนาจดังต่อไปนี้

...

1.ยึดใบอนุญาตขับขี่ของบุคคลนั้นไว้เป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ ไม่เกินสามสิบวัน
2.นำรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่สงสัยว่าจะใช้ในการกระทำดังกล่าวมาเก็บรักษาไว้เป็นการชั่วคราวไม่น้อยกว่าเจ็ดวันเท่าที่จำเป็นต่อการป้องกันหรือรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยสาธารณะ
3.จับกุมและควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้เพื่ออบรมความประพฤติเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าเจ็ดวันแต่ไม่เกินสิบห้าวัน โดยจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้ต้องหามิได้

ซึ่งในเรื่องนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ยืนยันว่า มาตรการคุมเข้มยึดรถยนต์และใบอนุญาตขับขี่คนเมาแล้วขับ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ว่า “ถ้าทำผิดก็ต้องยึด โดยเฉพาะการเมาแล้วขับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ต้องยึดทั้งรถ ทั้งใบขับขี่ ส่วนจะให้กลับคืนเมื่อใดก็ต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่เกิดเหตุอันตราย โดยเฉพาะในเส้นทางถนนสายรอง ที่มีปัญหาเรื่องอุบัติเหตุ เราพยายามที่จะลดปัญหาตรงนี้ให้ได้มากที่สุด"

...

อย่างไรก็ดี ในฐานะผู้ปฏิบัติงาน พ.ต.อ.เอกรักษ์ กล่าวถึงนโยบายยึดใบขับขี่และรถยนต์กับผู้กระทำผิดช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่า “ผมว่ามันก็เวิร์คนะ คือตรงนี้เป็นแนวทางอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งป้องกันไม่ให้คนเมาไปก่อเหตุบนถนน เพราะฉะนั้นถ้าดื่มเหล้ามา แม้ว่าดื่มมาเล็กน้อยมันก็อันตรายหมด เพียงแต่กฎหมายเขียนไว้ว่าเกินกว่า 150 มิลลิกรัมเซ็นแล้วมันถึงจะผิด.

  • สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์
    สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมา
    ได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ