เกษตรกร จ.กำแพงเพชร หันทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกผักปลอดสารพิษ สร้างรายได้ต่อเดือนกว่าหมื่นบาท โดยเฉพาะผักไฮโดรโปนิกส์ปลอดสารพิษ เหตุกระแสความนิยมบริโภคอาหารสุขภาพ หันใส่ใจสุขภาพอนามัยของตนเองมากขึ้น...
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่สวนผักไฮโดรโปนิกส์ปลอดสารพิษ ซึ่งทำเป็นสวนผักปลอดสารพิษในบ้านพักเพื่อไว้กินเอง และจำหน่ายสร้างรายได้งามเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสุขสบาย “K&E gardens (สวนในบ้าน)” หมู่ที่ 6 บ้านปางเหนือ ต.ปางตาไว อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร เกษตรกรชาวนาชาวไร่ที่ผันเปลี่ยนอาชีพมาปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษ การผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และการทำเกษตรผสมผสาน ซึ่งจุดเด่นของที่สวนแห่งนี้ คือปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ พร้อมทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ให้ผู้ที่สนใจ และหน่วยงานต่างๆ มาศึกษาดูงานการเพาะเมล็ดปลูก พร้อมให้คำแนะนำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ด้านการปลูกผักปลอดสารพิษ และเกษตรพอเพียง
นางกาญจนา เอวิสตัน อายุ 31 ปี เกษตรกร เล่าว่า เดิมครอบครัวตนเป็นชาวนาข้าว ที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ แล้วได้ย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านบ้านปางเหนือ ต.ปางตาไว อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร และเปลี่ยนมาทำไร่มันสำปะหลังหลายปี มีในบางช่วงฤดู ฝนก็ไม่ตกตามกำหนดเวลา ไม่มีรายได้แน่นอนคงลำบาก ประกอบกับภูมิลำเนาตั้งอยู่ในหมู่บ้านที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขา ล้อมรอบด้วยขุนเขา และมีแหล่งน้ำด้านหลังบ้านเป็นลำห้วยสายใหญ่ไหลหล่อเลี้ยงตลอดปี น่าจะได้ใช้ประโยชน์สำหรับการเพาะปลูกได้ตลอดปี จึงมีความคิดหาทางเลือกในการประกอบอาชีพใหม่มาทดแทนอาชีพเดิม โดยเลือกอาชีพปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อลดค่าใช้จ่ายจากการที่ต้องซื้อผักจากตลาดมากิน ซึ่ง นายไรยอัน เอวิสตัน อายุ 34 ปี สามีชาวออสเตรเลีย มีความรู้เรื่อง ผักไฮโดรโปนิกส์ จึงคิดที่จะทำเกษตรผสมผสาน กับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ด้านการปลูกผักปลอดสารพิษ ผักที่ปลูกมีหลายชนิด เช่น ผักเรดโอ๊ค ผักกรีนโอ๊ค ผักบัตเตอร์เฮด ผักบุ้ง กวางตุ้ง รวมทั้งผักอื่นๆ เหลือจากกินก็ไว้ขาย รวมทั้งเลี้ยงไส้เดือนเพื่อใช้เป็นปุ๋ย และทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง นอกจากนี้ ยังทำเป็นเกษตรอินทรีย์ผสมผสานกับสวนผักไฮโดรโปนิกส์ ใช้เทคโนโลยี แบบ NET (Nutrient Film Technique) คือการปลูกแบบระบบให้สารละลายธาตุอาหารพืชไหลผ่านรากพืชเป็นแผ่นบางๆ เหมือนกับแผ่นฟิล์มบนรางปลูกอย่างต่อเนื่องมาช่วยในการทำเกษตร
...
ทั้งนี้ ยังมีการเลี้ยงปลาในบ่อน้ำ เลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ นำมาดำเนินการในพื้นที่เพื่อสร้างแหล่งอาหารให้กับครอบครัว พร้อมปลูกพืชต้นทานตะวัน ผลไม้ผสมผสานกันในพื้นที่ ทุกวันนี้ครอบครัวมีความสุข สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีผลกระทบจากการใช้สารเคมี สุขภาพจิตใจเบิกบาน มีความสุขจากการได้ทำงานที่ตนรัก สมาชิกในครอบครัวได้ช่วยเหลือกันทำงาน เกิดความเข้าใจกัน ครอบครัวมีรายได้ประมาณ 6 หมื่นบาทต่อเดือน และกว่า 7 แสนบาทต่อปี จากการขายผักปลอดสารพิษ และอื่นๆ ในสวน มีเงินเก็บออมสามารถดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับผืนป่า สายน้ำ และชุมชนได้อย่างสมดุล
นางกาญจนา กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน “สวนในบ้าน” ได้เปิดเป็นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเกษตรกับทุกคนที่สนใจ ให้ความรู้การปลูกพืชแบบปลอดสารพิษ และสาธิตการทำปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ การเลี้ยงไส้เดือน ให้ชาวบ้านได้ดูเป็นตัวอย่างอีกด้วย ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ และศึกษาดูงานสำหรับผู้สนใจกิจกรรมการปลูกผักปลอดสารพิษ และมาซื้อผักปลอดสารพิษไปรับประทานที่บ้าน
สำหรับ การดำเนินกิจกรรมปลูกผักปลอดสารพิษของเกษตรกรรายนี้ สะท้อนวิถีชีวิต เป็นตัวอย่างที่ดีของการทำเกษตรแบบพึ่งพิงธรรมชาติ เกิดผลสำเร็จที่สัมผัสได้จริง เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากร โดยเฉพาะพืชน้ำน้อยในการเพาะปลูกในยามฝนแล้ง น้ำแห้งขอด แต่ที่นี่ได้ทำบ่อกักเก็บน้ำ ซึ่งเกษตรกรได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และที่สำคัญกิจกรรมของเกษตรกรสร้างความปลอดภัยต่อผู้ใช้ประโยชน์จากปลายน้ำ สายน้ำไม่ถูกปนเปื้อนจากสารพิษด้วย
...