ช้างป่าอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น บุกกินปาล์มของชาวบ้านในพื้นที่ ต.ป่าร่อน จ.สุราษฎร์ฯ เสียหาย 4 ไร่ ด้านชาวบ้าน เตรียมใช้สปอตไลท์ส่องตอนกลางคืน ไล่ไม่ให้กินที่เหลือ คาดเพราะบนภูเขาเริ่มแห้งแล้ง...

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 59 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้าน ต.ป่าร่อน อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ว่า ช้างป่าอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น ลงมากินต้นปาล์มอายุ 8 เดือนของชาวบ้าน จึงเดินทางเข้าไปพร้อมผู้นำท้องถิ่น พบต้นปาล์ม อายุ 8 เดือน กว่า 4 ไร่ ในพื้นที่ ม.4 บ้านกงชัง ถูกช้างป่าเข้าคร่อมและถอนต้นกินเป็นอาหารและทำลายเสียหายทั้งหมด สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก

นายชาญณรงค์ สามเมือง เจ้าของสวนปาล์ม กล่าวว่า ตนมีสวนปาล์มในพื้นที่จำนวน 28 ไร่ ที่ปรับเปลี่ยนจากสวนยางมาเป็นปาล์มน้ำมัน เนื่องจากยางหมดอายุกรีดและราคาตกต่ำ โดยต้นปาล์มที่ปลูกเป็นต้นปาล์มพันธุ์สุราษฎร์ธานี 7 ซึ่งโดนช้างป่าคาดว่า ไม่ต่ำกว่า 8 ตัว ลงมากินต้นปาล์ม เสียหายไปประมาณ 4 ไร่ แต่ยังมีเหลืออีกกว่า 23 ไร่ ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมการนำไฟสปอตไลท์มาส่องสว่างตลอดทั้งคืน และร่วมกับชาวบ้านและผู้นำท้องถิ่นคอยไล่ อย่าให้ช้างป่ามากินต้นปาล์มที่เหลือ

ด้าน นายจรินทร์ นุชพืช รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าร่อน กล่าวว่า ช้างป่าที่ลงมาครั้งนี้มีมากกว่าเมื่อ 3-4 ปีก่อน คาดว่าไม่ต่ำกว่า 8 ตัว และพบช้างแม่ลูกอ่อนด้วย ซึ่งขณะนี้ทางผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ได้ร่วมกันพยายามเฝ้าระวังไม่ให้เข้าไปในเขตชุมชน ซึ่งห่างกันไม่เกิน 3 กิโลเมตร ในปีนี้มีแนวโน้มจะแล้งจัด คาดว่า ช้างต้องออกมาไกลอีกแน่นอน โดยขณะนี้ ทางส่วนท้องถิ่นและฝ่ายปกครองในพื้นที่ ได้แจ้งชาวบ้านให้รับทราบและช่วยกันดูแลชีวิตและทรัพย์สินของตนเองอีกทางหนึ่ง และได้วางแผนที่จะค่อยเฝ้าระวังช้าง ซึ่งจะประสานทางอุทยานฯ เข้าให้การช่วยเหลือและแนะนำการเฝ้าระวังการดูแลเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่เคยอบรมให้ความรู้ชาวบ้านไปแล้ว

...

สอบถามเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น เบื้องต้นทราบว่า ช้างโขลงนี้เป็นช้างอีกโขลงหนึ่งที่อาศัยอยู่ในชายป่าบริเวณดังกล่าว ที่หากินเป็นวงรอบริมชายป่าและบริเวณภูเขาหลวง ที่ชันไม่มาก ระยะทางประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร ซึ่งอาจรวมถึงพื้นที่ชาวบ้านที่เข้าไปทำการเกษตรส่วนหนึ่ง เมื่อชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัย ช้างก็ไม่ค่อยจะเข้ามายุ่ง แต่เมื่อสภาพอากาศแล้ง อาจเป็นความจำเป็นที่ช้างจะต้องลงมาหาแหล่งน้ำ เมื่อเจอกับพืชของชาวบ้านก็เก็บกินเพราะกินง่ายกว่าของในป่า

สำหรับการทำแนวเขตป่ากันชนคนกับช้าง ในจุดดังกล่าว มีแผนอยู่ในงบประมาณปี 2560 เนื่องจากในงบครั้งแรกนำไปทำในพื้นที่ที่ช้างลงมาสร้างความเสียหายปัจจุบันก่อนจำนวน 600 ไร่ ซึ่งงบปี 2560 นี้ จะดำเนินการอีกประมาณ 600 ไร่ ซึ่งจะมีแผนจัดทำที่บ้านกงชัง ต.ป่าร่อน อ.กาญจนดิษฐ์ แห่งนี้ด้วย

อีกด้าน ที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ฉช.3 (หนองคอก) ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา นายอยู่ เสนาธรรม ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ศรีราชา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เพื่อนำปัญหาและอุปสรรคกับการแก้ไขปัญหาช้างป่า ออกมาหากินนอกพื้นที่ จนสร้างความเสียหายกับพื้นที่การเกษตร รวมไปถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่

นายธรรมนูญ แจ่มใส นายอำเภอท่าตะเกียบ กล่าวว่า หลังเกิดเหตุ จนท.ป่าไม้ถูกช้างทำร้ายจนเสียชีวิตนั้น ชาวบ้านมีความเสียใจเป็นอย่างมากกับครอบครัว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้ชาวบ้านไม่มั่นใจในความปลอดภัยหากเข้าร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการผลักดันช้าง เพราะขาดความรู้ ความเข้าใจในหลักการปฏิบัติที่ถ่องแท้ จึงเห็นว่า ขนาดเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ซึ่งมีความรู้ ความชำนาญเชี่ยวชาญ ยังพลาดพลั้งได้ จึงขอเป็นผู้สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ในเรื่องของเสบียงอาหารแก่เจ้าหน้าที่ 

ด้าน นายพิทักษ์ ยืนยง หน.หน่วยพิทักษ์ป่าเขาใหญ่ ชลบุรี กล่าวถึง วิธีการผลักดันช้างป่า ตามหลักปฏิบัติที่ปลอดภัยและสาเหตุความสูญเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งเน้นถึงวิธีการปฏิบัติ โดยเฉพาะเสียงดังที่เกิดจากลูกประทัดปิงปองหรือปืน จะทำให้ช้างป่าเครียด ซึ่ง นายอยู่ เสนาธรรม บอกด้วยว่า หลังการทบทวนแผนแล้ว การปฏิบัติการในการผลักดันช้างกลับเข้าผืนป่ายังคงเดินหน้าต่อไป โดยจะใช้กำลังของเจ้าหน้าที่เป็นหลัก ทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ฝ่ายปกครอง ทหารพราน ทหารจากกองร้อยรักษาความสงบ เป็นต้น.