นายกิตติ ทิศกุล ผู้จัดการโครงการอาหารปลอดภัยเชียงรายเป็นสุข สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวภายหลังพาสื่อมวลชนสัญจร จ.เชียงราย ตามรอยเส้นทางเกษตรสีเขียว อาหารปลอดภัยใน “โครงการบูรณาการอาหารปลอดภัย เชียงรายเป็นสุข” ว่า ปัจจุบันความปลอดภัยด้านอาหารยังคงเป็นปัญหาและเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการมีสุขภาวะที่ดีของคนไทย เนื่องจากระบบการเกษตรของประเทศส่วนใหญ่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกระบวนการผลิต จากรายงานการสำรวจขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติพบว่าไทยมีการใช้ยาฆ่าแมลงมากเป็นอันดับ 5 ของโลก ใช้ยาฆ่าหญ้าเป็นอันดับ 4 ของโลก มีการนำเข้าสารเคมีปีละกว่าแสนล้านตัน มูลค่ากว่าสองหมื่นล้านบาท ซึ่งผลจากการตรวจเลือดเกษตรกรไทยพบว่ากว่า 4 ล้านคนยังอยู่ในเกณฑ์น่าห่วงและเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ในขณะที่ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า คนไทยป่วยจากพิษสารกำจัดศัตรูพืชปีละเกือบ 1,800 คน มีทั้งพิษแบบเฉียบพลัน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ และพิษเรื้อรัง เช่น โรคผิวหนัง มะเร็ง โรคระบบประสาท นอกจากเกษตรกรที่ถือเป็นต้นน้ำของการผลิตที่เสี่ยงแล้ว ผู้บริโภคก็เสี่ยงต่ออันตรายด้านสุขภาพด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะจากสารพิษอันตรายที่ปนเปื้อนในพืช ผัก ผลไม้ ที่วางขายในท้องตลาด
นายกิตติกล่าวว่า สสส.เห็นถึงความสำคัญของผลกระทบร้ายแรงทางสุขภาพ จึงได้ดำเนินโครงการอาหารปลอดภัย เชียงรายเป็นสุข ทำงานบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนในพื้นที่ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนางานด้านอาหารปลอดภัยในระดับจังหวัด จนเกิดความเข้มแข็งส่งเสริมให้เกิดต้นแบบของตลาดสีเขียว ที่สร้างระบบการผลิต การกระจาย การบริโภคอาหารปลอดภัยในระดับชุมชน จนสามารถแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยด้านอาหารของจังหวัดเชียงรายได้เป็นผลสำเร็จ ส่งผลให้เชียงรายสามารถประกาศให้การดำเนินงานอาหารปลอดภัยเป็นวาระของจังหวัดได้เป็นแห่งแรกของประเทศ
“การดำเนินโครงการฯกว่า 2 ปีที่ผ่านมามีเครือข่ายภาคเกษตรกรเข้าร่วมแล้ว 25 ชุมชนเครือข่ายร้านอาหารเข้าร่วม 91 ร้าน และมีผู้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายผู้บริโภคในโครงการฯ 10,754 คน และตั้งเป้าหมายภายในอีก 3 ปีข้างหน้า จะขยายพื้นที่ครอบคลุมทั้ง 18 อำเภอในจังหวัดเชียงราย สามารถสร้างแบรนด์เชียงรายเป็นเมืองเกษตรสีเขียวและอาหารปลอดภัย สามารถเป็นต้นแบบของการทำงานบูรณาการร่วมกันให้กับจังหวัดอื่นๆ” นายกิตติกล่าว
...
นายสุเทพ ทิพรัตน์ เกษตรจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า หัวใจหลักของการสร้างเมืองเกษตรสีเขียวและอาหารปลอดภัยหรือ Chiangrai Green Network มี 5 องค์ประกอบที่สำคัญได้แก่ Green Community, Green Service, Green Health, Green Plus และ Green Heart โดยนำการเกษตรเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาระบบความปลอดภัยด้านอาหารตลอดห่วงโซ่อาหารระบบคุณภาพร้านอาหารมาตรฐานสากล (TRQS) และแผนการตลาด G Network Marketing นอกจากผลผลิตที่ได้จะปลอดภัยต่อผู้บริโภค ช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรจากการขายผลผลิตแล้ว ยังช่วย
ลดภาระค่าใช้จ่ายจากการเจ็บป่วยซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการใช้สารเคมีได้อีกด้วย
ทั้งนี้ มีตัวอย่างเกษตรกรในพื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์และสนับสนุนแนวคิดเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษในพื้นที่ ได้แก่ 1.คุณรจนา เขื่อนขัน เกษตรกรรุ่นใหม่ชุมชนบ้านภูตาด ใช้แนวทางกสิกรรมไร้สารพิษมาบริหารจัดการในรูปแบบกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สร้างรายได้จากการขายผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ 2.พ่อหลวงอินทร์จันทร์ บุญตัน ตัวอย่างเกษตรกรผู้เปลี่ยนวิถีชีวิตจากการทำเกษตรแบบเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์แบบครัวเรือน ช่วยลดภาวะการเจ็บป่วยจากสารพิษยาฆ่าแมลง 3.ลุงศรีบุตร คำฝั้น เกษตรกรชุมชนบ้านป่างิ้ว ผู้ใช้แนวทางเกษตรอินทรีย์ปลูกผักตามฤดูกาลมาช่วยปลดหนี้สร้างรายได้ด้วยวิถีเกษตรแบบพอเพียง รวมถึงโรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ รีสอร์ตและเครือข่ายผู้ประกอบการร้านอาหารปลอดภัย จ.เชียงราย ในฐานะผู้ซื้อผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์จากชุมชน.