ชาวบ้านนครชุม พร้อมใจร่วมลงแรงเผาข้าวหลามภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำบุญวันเพ็ญเดือน 3 สืบสานตำนานบรรพบุรุษ ใช้ข้าวเหนียวประมาณ 6 ตัน มะพร้าว 6 พันลูก และไม้ไผ่กว่า 1 พันลำ คาดรายได้เข้าวัดไม่ต่ำกว่า 4 แสนบาท

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่บริเวณลานวัดพระบรมธาตุเจดียาราม ต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ได้จัดงานเผาข้าวหลามภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้น เพื่อนำไปทำบุญในวันเพ็ญเดือน 3 ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวบ้านนครชุมที่ทำสืบต่อกันมา

โดยตำนานการเผาข้าวหลามของชาวนครชุม ที่มีการเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ในช่วงนี้ชาวนา-ชาวไร่ เสร็จจากเกี่ยวข้าวเกี่ยวถั่ว ชาวบ้านจะทำข้าวใหม่และถั่วที่ได้จากการเพาะปลูกมาทำบุญ ซึ่งถือว่า เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับแม่โพสฐ และพิธีเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวนาชาวไร่ และชาวบ้านในชนบท เริ่มตั้งแต่การเตรียมข้าวเหนียว ถ้าเป็นข้าวใหม่จะอร่อย สำหรับการทำข้าวหลามของชาวนครชุม เป็นการทำการเผาแบบท้องถิ่นในสมัยดั้งเดิมทำกันมาโดยการตั้งเผากับดิน

...

การทำบุญเพ็ญเดือน 3 ของชาวกำแพงเพชรในอดีต จะต้องเดินทางมาทำบุญที่วัดพระบรมธาตุนครชุมซึ่งอยู่ห่างไกลและค่อนข้างลำบาก ข้าวสวยที่หุงสุกกว่าจะเดินทางมาทำบุญที่วัดส่วนใหญ่จะบูด ดังนั้นชาวบ้านจึงได้นำข้าวไปเผาเป็นข้าวหลาม ซึ่งจะอยู่ได้นานหลายวันโดยไม่บูด ต่อมาชาวบ้านทุกหมู่บ้านจึงได้นำข้าวหลามมาทำบุญ โดยคนเฒ่าคนแก่เปิดเผยว่า ในวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 3 ทุกบ้านจะเผาข้าวหลามทำให้ควันไฟตลบอบอวนไปทั้งตำบล

ต่อมาทางวัดพระบรมธาตุนครชุม โดยพระราชวชิรเมธี เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ รองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร จึงร่วมกับชาวบ้านจัดการเผาข้าวหลามขึ้นในวัด เพื่อจำหน่ายให้ประชาชนที่จะมาทำบุญในวันเพ็ญเดือนสามที่วัด โดยปีนี้ชาวบ้านได้ร่วมกันบริจาคไม้ไผ่ป่ากว่า 1,000 ลำ มะพร้าวประมาณ 6,000 ลูก ข้าวเหนียวประมาณ 6 ตัน น้ำตาลและถั่วดำอีกจำนวนมากโดยมีชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่มาช่วยทำ ทั้งแผนกปอกมะพร้าว คั้นกะทิ ฝ่ายตัดกระบอกไม้ไผ่ แผนกกรอกข้าวใส่กระบอก ฝ่ายกรอกน้ำกะทิ ฝ่ายที่นำข้าวหลามไปเผาใส่ฝืน และสุดท้ายแผนกขาย รวมหลายสิบคนช่วยกันอย่างสนุกสนาน สำหรับข้าวหลามของชาวนครชุมจะมีรสชาติไม่หวานแหลม ข้าวจะนุ่มสามารถรับประทานกับส้มตำ ไก่ย่าง เนื้อทอดหมูทอด หรือกับแกงเหมือนกับข้าวเหนียวนึ่งได้ด้วย 

โดยข้าวหลามที่เผาเสร็จจะมีคนมารอซื้อกลับไปทันทีจนสุกไม่ทันขายต้องมีการสั่งจองกันล่วงหน้า ซึ่งทางคณะกรรมการวัดคาดว่าปีนี้น่าจะจำหน่ายข้าวหลามสำหรับทำบุญวันเพ็ญเดือนสาม หรือวันมาฆบูชาปีนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนถึง 4 แสนบาท โดยรายได้ทั้งหมดจะนำไปทำนุบำรุงวัดพระบรมธาตุต่อไป.