ปัญหาราคายางตกต่ำต่อเนื่อง จนสร้างความชอกช้ำระกำทรวงให้กับพี่น้องชาวเกษตรกรสวนยาง รวมถึงสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับหลายๆ รัฐบาล มาจนกระทั่งถึงรัฐบาล ยุคคืนความสุข ก็เริ่มปรากฏให้เห็นแสงสว่างที่ปลายทาง ภายหลังจาก ที่ประชุมคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย มีมติรับซื้อยางแผ่นดิบรมควันโดยตรง ในราคากิโลกรัมละ 45 บาท จำนวน 1 แสนตัน แถมยังทิ้งท้ายให้ใจชื้นอีกด้วยว่า หากสำรวจแล้วมีความต้องการเพิ่ม ทางรัฐบาลก็พร้อมที่จะรับซื้ออีก!
อย่างไรก็ดี แม้ว่า ราคากิโลกรัมละ 45 บาท จะยังห่างไกลจากข้อเรียกร้องของพี่น้องเกษตรกร และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ที่พยายามออกมาร้องขอที่กิโลกรัมละ 60 บาท จนถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เอ็ดเสียงเขียวกลับไปว่า จะไปเงินจากไหนมาซื้อ ก็ตาม!
วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะขอพาทุกท่านไปฟังความให้รอบข้างว่า ตัวเลข 45 บาท ที่รัฐบาลยุคคืนความสุข หยิบยื่นให้ในเบื้องต้นนี้ จะทำให้ฝ่ายผู้รอคอยความหวังอย่างใจจดใจจ่อ เกิดความพึงพอใจจนยุติความเคลื่อนไหวหรือไม่? รวมถึง อะไรคือแนวทางที่จะสามารถทำให้ราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ภายใต้สภาวการณ์ที่ไม่เป็นใจต่างๆ นานา จากปัญหาเศรษฐกิจโลก รวมถึงจำนวนยางพารากว่า 1 แสนตัน ที่รัฐบาลรับซื้อเพื่อให้หน่วยงานราชการต่างๆ เร่งนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในการก่อสร้างต่างๆ นั้น จะมีคุณภาพที่น่าพึงพอใจ หรือไม่ วันนี้ เรามีคำตอบ......
...
รับได้ข้อเสนอรัฐบาล แต่ขอความจริงใจ ไม่ทำเศษเงินตกระหว่างทาง
นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยาง เปิดใจกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ภายหลังรับทราบข้อเสนอของทางรัฐบาล ว่า ตัวเลข 45 บาทต่อกิโลกรัมนี้ แม้อาจต่ำกว่าที่ต้องการไปบ้าง แต่อย่างน้อยก็ทำให้ ทางสมาคมเห็นถึงความจริงจังของรัฐบาลในการที่แก้ปัญหา รวมถึงพยายามผลักดันราคายางพาราให้สูงขึ้น
ส่วนตัวมองว่า รัฐบาลเดินหน้ามาถูกทางแล้ว แต่สิ่งที่อยากจะเรียกร้องต่อไปคือ ในส่วนของการลงลึกในรายละเอียดที่ชาวเกษตรกรสวนยาง จะได้รับผลประโยชน์อย่างทั่วถึง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีตัวแทนพี่น้องประชาชนเกษตรกรชาวสวนยาง ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนเกษตรกร ตัวแทนจากสมาคมชาวสวนยาง ตัวแทนกลุ่มเกษตรกร และตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย เข้าไปช่วยดูในรายละเอียดการออกแบบสำหรับการแก้ปัญหา เพื่อให้การบริหาร จัดซื้อลอตแรก 1 แสนตัน สามารถกระจายไปยังกลุ่มพี่น้องชาวเกษตรสวนยางทั่วประเทศอย่างแท้จริง เนื่องจากที่ผ่านมาหลายโครงการ ที่รัฐบาลตั้งนโยบายว่าจะช่วยเกษตรกรรายย่อย แต่ในที่สุด ผลประโยชน์ก็มักจะตกเป็นของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า
“ขอฝากถึงรัฐบาลด้วยว่า วันนี้รัฐบาลกำลังเดินหน้ามาถูกทางแล้ว แต่ต่อจากนี้ วิธีการที่ทางรัฐบาล จะดำเนินการ ต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่รัดกุมโปร่งใส และนำผลประโยชน์ต่างๆ กระจายไปสู่ชาวเกษตรกรทั่วประเทศ โดยไม่ตกไปที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น”
เชื่อมั่น เกษตรกรชาวสวนยางทุกกลุ่มรับได้ ยอมการยุติเคลื่อนไหว (ชั่วคราว)
นอกจากนี้ นายบุญส่ง ยังเชื่อมั่นว่า สมาชิกสมาคม และองค์กรพันธมิตร เครือข่ายชาวสวนยาง ทุกกลุ่มยอมรับได้กับข้อเสนอในเบื้องต้นนี้ ของรัฐบาล แต่......นั่นหมายความว่า ราคา 45 บาทต่อกิโลกรัมนี้ ต้องเป็นราคาที่ตั้งไว้เพื่อดันไปสู่ราคาเป้าหมาย นั่นคือ 60 บาท เท่านั้น!
...
วอนรัฐบาล เหลือคงค้างอีก 7 แสนตัน ดันให้ถึง 60 บาทต่อกิโลกรัม
นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยาง กล่าวต่อไปว่า อยากฝากรัฐบาลว่า ยางลอตที่เหลือในปี 2558/2559 ทั้งหมด 8 แสนตัน ยังคงเหลืออีก 7 แสนตัน ดังนั้น อยากให้รัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่น และรีบไปจับมือกับกลุ่มพ่อค้าต่างๆ เพื่อผลักดันราคายาง ไปสู่ราคาที่เกษตรกรคาดหวังคือ 60 บาท ต่อกิโลกรัมให้ได้ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะทำได้ไม่ยาก หากพ่อค้าให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง
ยกตัวอย่าง เช่น การออกแคมเปญ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ ได้กู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเอื้อความสะดวกให้กับนักลงทุน แต่สิ่งสำคัญ ควรจะต้องทำ MOU ว่า เมื่อซื้อยางลอตนี้แล้ว ภายใน 6 เดือน พ่อค้าจะต้องไม่ส่งออกไปขายนอกประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการ ช้อนซื้อของถูก เพื่อเอาไปขายแพงๆ ฟันกำไร
พร้อมร่วมมือ ทำโซนนิ่ง ลดจำนวนสวนยางไม่ให้ล้นตลาด
เรื่องนี้ ไม่ต้องเป็นห่วง! เกษตรกรพร้อมร่วมมือแน่นอน! นายบุญส่ง กล่าว
ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะปัจจุบันมีการลดพื้นที่การผลิตโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว เนื่องจากพี่น้องประชาชนชาวสวนยางส่วนใหญ่ เมื่อโค่นต้นเก่าแล้ว ก็จะหันไปปลูกเป็นปาล์มน้ำมันแทน แทบ 100 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ตั้งแต่เกิดวิกฤติราคาตกต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เชื่อได้ว่า ตัวเลขที่ทางรัฐบาลเสนอให้ลดพื้นที่เพาะปลูกลง 2 แสนไร่ต่อปี ไม่น่ามีปัญหาแต่อย่างใด
...
เริ่มคลำทางถูก เริ่มต้นที่ 45 เชิงบวกในแง่จิตวิทยา
ด้าน นายเดชา มีสวน เลขาธิการสมาคมน้ำยางไทย ให้ความเห็นกับทีมข่าวฯ ว่า ส่วนตัวมองว่า รัฐบาลเริ่มจับจุดในการแก้ไขปัญหาได้แล้ว โดยเฉพาะในแง่จิตวิทยา คิดง่ายๆ ว่า การเริ่มต้นทำอะไรแล้ว ค่อยๆ ให้ขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ ให้คนได้ลุ้น มันดีกว่าขึ้นไปทีเดียว 60 บาทเลย แล้วถอยต่ำลงๆ ซึ่งความรู้สึกมันจะต่างกัน
"พูดง่ายๆ มันก็คือ การให้ผู้ประกอบการค่อยๆ ปรับตัว เพื่อมองเห็นพัฒนาการ เหมือนเช่น คนกำลังป่วย ถ้า จู่ๆ ลุกขึ้นเลย อาจจะเป็นลมได้ แต่ถ้าค่อยๆ ตะแคง เอาขาลงก่อน แล้วค่อยๆ ลุกนั่ง ซึ่งจะเป็นวิธีการบริหารที่สร้างความยั่งยืนได้"
ทำไม ต้องเป็นเลข 45 บาทต่อกิโลกรัม
ปัจจุบันราคายางในท้องตลาด เริ่มขยับขึ้นมาเยอะ ยางแผ่นรมควัน ปัจจุบันก็เกือบ 40 บาทแล้ว รัฐบาลอาจอ้างอิงโดยใช้ฐานที่ 40 บาท ฉะนั้นเมื่อปรับขึ้นมาอีกสัก 5 บาท ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่สูงเกินไปนัก และรัฐบาลน่าจะประเมินแล้วว่า เกษตรกรน่าจะพอรับได้ โดยหลังจากนี้ไป เชื่อว่ารัฐบาล คงจะเริ่มประเมินฟีดแบ็กจากตลาดต่างประเทศให้รอบด้าน เพื่อทำการประเมินผล เพราะต้องไม่ลืมว่า ยางพารานั้น ไม่ได้มีแต่เฉพาะในประเทศของเราเท่านั้น!
"ส่วนตัวมองว่า การขยับราคาขึ้นในช่วงนี้ ถือเป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาด เพราะเดือนหน้า ก็เข้าสู่ฤดูกาลใหม่แล้ว จะไม่มีการกรีดยาง สร้างผลผลิตออกมาเพิ่มเติม เพราะฉะนั้น ราคาจึงไม่น่าจะเกิดความผันผวนแบบน่าตกตะลึงอีก"
...
อนาคตราคายางพารา มีทางพุ่งแบบน่าชื่นใจไหม?
นายเดชา กล่าวว่า อาจจะขึ้นได้ แต่ราคาคงไม่หวือหวา เพราะต้องมองรอบด้านว่าเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างไร ยิ่งตอนนี้ ประเทศจีน ผู้นำเข้ายางรายใหญ่ของไทย ประสบปัญหาเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องที่ยากมากที่ราคาจะมีการปรับตัวขึ้นได้ในเร็ววันนี้
45 บาท เทียบกับต่างประเทศถูกหรือแพง?
ส่วนตัวมองว่า ราคานี้หากมีการส่งออกไปขายต่างประเทศ ก็ถือว่ายังแพงอยู่ เพราะตอนนี้ตลาดต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 40 บาทต้นๆ ขณะที่ของเราเริ่มต้นที่ 45 บาท และเป็นราคาที่ยังไม่ได้คัดเกรด คิดง่ายๆ 45 บาท บวกค่าใช้จ่ายในการแพ็กกิ้ง อีกบาทหรือสองบาท รวมเป็น 47 บวกค่าใช้จ่ายในการส่งออกประมาน 3 บาทกว่า รวมกันก็เป็น 50 บาทกว่าแล้ว
แนะใช้ บริษัทร่วมทุนยางระหว่างประเทศ หรือ (IRCo) ขับเคลื่อนดันราคา
เลขาธิการสมาคมน้ำยางไทย กล่าวเสริมอีกว่า อยากแนะนำรัฐบาล ว่า ปัจจุบัน เรามี บริษัทร่วมทุนยางระหว่างประเทศ หรือ (IRCo) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ไทย อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย 3 ประเทศผู้ส่งออกยางพารา รายใหญ่อยู่ เหตุใดจึงไม่นำมาช่วย ใช้ขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหา ดูดซับยางออกนอกระบบ ซึ่งนอกจากจะไม่ผิดกฎของ องค์กรการค้าโลก หรือ WTO แล้ว ยังจะมีความโปร่งใสสูงอีกด้วย
ควรผลิตเท่าไหร่ในประเทศ ต่อปีจึงไม่ล้นตลาด
ปลูกมากเท่าไหร่? ไม่ใช่ปัญหา ยิ่งมากเท่าไหร่ยิ่งดี แต่.....ต้นทุนในการผลิตต้องต่ำที่สุด และผลผลิตต่อไร่ต้องสูง และนับจากนี้ การนำมาตรการโซนนิ่งมาใช้ ต้องขีดเส้นให้ชัดว่าต่อไปนี้ ใครปลูกในพื้นที่โซนนิ่งจะได้รับการสนับสนุนอย่างไร? ส่วนที่ปลูกอยู่นอกเหนือพื้นที่โซนนิ่ง ก็ต้องมีคำตอบให้เกษตรกรชัดเจนว่า จะได้รับการสนับสนุนให้ปลูกพืชชนิดอื่นอย่างไร? และยังต้องหาตลาดเพื่อสนับสนุนในส่วนนี้ให้ด้วย มิเช่นนั้น มาตรการโซนนิ่งก็คงไม่มีประโยชน์อะไร
ไขคำตอบ นำยางผสมสร้างถนน ทนจริงหรือ?
ผลวิจัย ชัด นำยางผสมสร้างถนน มีความคงทนเพิ่ม 30%
ดร.สุรพิชญ ลอยกุลนันท์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัย หน่วยเฉพาะทางด้านยางธรรมชาติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า ผลการวิจัยที่ได้รับการรับรอง จาก สวทช ซึ่งทางกระทรวงคมนาคม ได้นำไปใช้แล้ว พบว่า หากมีการนำยางธรรมชาติไปเป็นส่วนผสมในการสร้างถนนหรือสิ่งก่อสร้างใดๆ ก็ตาม จะทำให้ถนน หรือ สิ่งก่อสร้างเหล่านั้น มีความคงทนเพิ่มขึ้น ประมาณ 30%
แต่ในอดีตสาเหตุ ที่ไม่ได้มีการนำยางพารามาใช้เป็นส่วนผสม เนื่องจากยางธรรมชาติ มีราคาสูงมาก ถึงแม้ว่าผลที่ได้จะทำให้ถนนมีความคงทนเพิ่มขึ้นอีกถึง 30% แต่ก็จะต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอีกกว่า 30% เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ในอดีตช่วงที่ยางธรรมชาติมีราคาแพง จึงไม่เป็นที่นิยมนำมาใช้ในวงการก่อสร้างเท่าใดนัก แต่ ณ สถานการณ์ปัจจุบัน ราคายางมีราคาถูกลงมาก ส่วนตัวจึงมองว่าเป็นโอกาสที่ดีในการนำยางธรรมชาติที่กำลังล้นตลาดเหล่านั้น มาใช้ในการซ่อมแซมถนนทั่วประเทศ ซึ่งเบื้องต้นตามที่รัฐบาลประเมินไว้คร่าวๆ หลังจากมีการซื้อยางจากเกษตรกร นั้น น่าจะใช้อยู่ที่ประมาณ 2-3 หมื่นตัน
ซึ่งก็สอดคล้องกับ ดร.ไพโรจน์ จิตรธรรม หัวหน้ากลุ่มวิจัยวิศวกรรมยาง หน่วยเฉพาะทางด้านยางธรรมชาติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับการนำยางธรรมชาติ มาใช้ในการสร้างแผ่นรองรางรถไฟ หนึ่งในแผนของรัฐบาล ที่จะนำยางลอตนี้มาใช้ ซึ่งได้ยืนยันกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า ผลจากการทำวิจัย ทำให้ในปัจจุบัน สามารถสร้างแผ่นรองรางรถไฟที่ใช้ยางธรรมชาติได้แล้ว และจากการทดลองพบว่า มีคุณสมบัติคงทน และสามารถทนความร้อนได้สูงถึง 100 องศาเซลเซียส แทบจะไม่แตกต่างยางสังเคราะห์ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน แถมยังมีราคาต้นทุนไม่ต่างจากยางสังเคราะห์มากเท่าใดด้วย
เร่งเดินหน้าสร้างนวัตกรรม เพิ่มผลผลิตต่อไร่ แก้ปัญหาแบบยั่งยืน
นอกจากนี้ ดร.สุรพิชญ ยังได้กล่าวยืนยันกับทีมข่าวฯ ว่า นับจากนี้เป็นต้นไปทาง ผู้ที่เกี่ยวข้องจะเร่งเดินหน้าสร้างนวัตกรรมดีๆ เพื่อช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นหนทางสำคัญที่จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ได้แบบยั่งยืน ไม่เกิดวัฏจักรราคาผลผลิตตกต่ำ แบบซ้ำซากเช่นที่เกิดขึ้นในเวลานี้อีกต่อไป....