เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 7 ม.ค. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงฯไปตรวจเยี่ยมช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งปี 2558/59 ที่ อบต.บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลกโดยมีนายชูชาติ กีฬาแปง ผวจ.พิษณุโลก พร้อมหัวหน้าส่วนราชการให้การต้อนรับ พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ได้ส่งมอบพันธุ์สัตว์พันธุ์พืชให้แก่ผู้แทนเกษตรกร 3 กลุ่ม ได้แก่กลุ่ม 1 กลุ่มเกษตรกรด้านปศุสัตว์ 38 ราย เป็นไก่พื้นเมือง 20 ราย, เป็ดเทศ 13 ราย, ไก่ไข่ 5 ราย กลุ่ม 2 เกษตรด้านพืช 8 ราย และกลุ่ม 3 ด้านประมง 6 ราย โดยปลายปีที่ผ่านมาภาคการเกษตรประสบวิกฤติฝนตกน้อย ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกและกระทบกับการทำนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด ทางกระทรวงเกษตรฯจึงออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน 8 มาตรการ 25 โครงการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าวอีกว่า รัฐบาลได้จัดงบประมาณช่วยเหลือ 971 ล้านบาท ภายใต้ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการสร้างรายได้จากพืชทดแทนนาปรัง โครงการสร้างรายได้จากปศุสัตว์ โครงการสร้างรายได้จากประมงในฤดูแล้งและโครงการปรับ ปรุงพัฒนาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน มีเกษตรกรลงทะเบียนขอความช่วยเหลือ 385,937 ครัวเรือน หากเกษตรกรประสบปัญหาหรือมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทุกแห่ง หรือศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรรวม 82 ศูนย์ทั่วประเทศ

จ.เชียงใหม่ ตอนสายวันเดียวกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายเสถียร ใจคำ ประธานศูนย์ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตง ได้นำตัวแทนชาวบ้านร่วม 50 คนเข้ายื่นหนังสือต่อนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ เพื่อคัดค้านและให้ทบทวนโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากลำน้ำแม่แตงไปยังเขื่อนแม่งัด-สมบูรณ์ชล นายเสถียรเปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวกรมชลประทานให้บริษัทเอกชนเข้ามาสำรวจเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากคนในชุมชน ทราบว่าการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจะเริ่มเดือน ม.ค. 2559 นี้ แต่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ทราบข้อมูลของโครงการและเข้ายื่นหนังสือคัดค้านต่อศูนย์ดำรงธรรมแม่แตง เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2558 แต่เรื่องเงียบหายไป

...

ประธานศูนย์ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยอีกว่า ในวันนี้จึงล่ารายชื่อชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยร่วม 1 พันคน และยื่นหนังสือถึง ผวจ.เชียงใหม่ ขอคัดค้านโครงการแต่ไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างของกรมชล-ประทาน แต่คัดค้านขั้นตอนการทำงานของกรมชลประทานที่ไม่มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน ชาวบ้านขอให้ทางจังหวัดพิจารณากระบวนการศึกษาสำรวจความเห็นของชาวบ้านใหม่และให้คณะกรรมการใน ต.กึ๊ดช้าง มีส่วนร่วมในการดำเนินการตั้งแต่ขั้นตอนวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการติดตามตรวจสอบร่วมกัน โดย ผวจ.เชียงใหม่มอบหมายให้นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รอง ผวจ. ออกมารับหนังสือจากตัวแทนชาวบ้านเพื่อเสนอไปยังกรมชลประทานให้พิจารณาข้อเรียกร้องต่อไป

จ.พิจิตร เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 7 ม.ค. ที่ห้องประชุมน้ำตกจำลอง บริเวณบึงสีไฟ นางฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผวจ.พิจิตร เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์พิจิตร (บึงสีไฟ) โดยนายประธานวิทย์ ยูวะเวส รองนายก-เทศมนตรีเทศบาลเมืองพิจิตร กล่าวสรุปสถานการณ์ คณะกรรมการได้หารือในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและจัดหางบประมาณพัฒนาบึงสีไฟอย่างยั่งยืน รวมทั้งให้หาวิธีการบริหารจัดการน้ำในบึงสีไฟ เนื่องจากช่วงนี้บึงสีไฟแห้งแล้งมีน้ำน้อย

นายประธานวิทย์ ยูวะเวส รองนายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองพิจิตร เปิดเผยว่า บึงสีไฟเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของ จ.พิจิตร และแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่มีพื้นที่ 5,500 ไร่ อยู่ในเขตเทศบาลเมืองพิจิตร ช่วงนี้ประสบปัญหาน้ำน้อยที่สุดในรอบ 30 ปี ทางเทศบาลกำลังวางแผนผันน้ำเข้ามาในพื้นที่บึงสีไฟ ขณะนี้ยังติดปัญหากับทางกรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง-แวดล้อม ซึ่งคณะกรรมการบริหารบึงสีไฟได้ปรึกษากับ ผวจ.พิจิตร เพื่อหาทางออกแล้ว สำหรับศาลากลางน้ำในบึงสีไฟที่ชำรุดนั้นอยู่ระหว่างปรับปรุง.