ปัญหาขยะมูลฝอยของ จ.เชียงใหม่กลายเป็นปัญหาคาราคาซังที่ถูกปล่อยหมักหมมมานาน โดยเฉพาะพื้นที่ อ.เมืองเชียงใหม่ มีปริมาณขยะมากที่สุด เฉลี่ยวันละกว่า 360 ตัน ขณะที่ภาพรวมทั้ง 25 อำเภอ มีปริมาณขยะวันละกว่า 1,700 ตัน โดยทาง จ.เชียงใหม่ ได้แบ่งการจัดการบริหารขยะมูลฝอยออกเป็น 3 โซน มีโซนเหนือที่ อ.ฝาง โซนกลางที่ อ.ดอยสะเก็ด และโซนใต้ที่ อ.ฮอด เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยเป็นไปตามโรดแม็ปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ให้มีการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ทางจังหวัดเชียงใหม่จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการขยะมูลฝอยขึ้น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการแต่การกำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่โซนกลางของ จ.เชียงใหม่ กลับสะดุดและไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะปัญหาขยะบ้านโฮ่งนอก
หมู่ 10 ต.แม่แรม อ.แม่ริม ที่ใช้ที่ดินทั้งของรัฐและเอกชนเป็นสถานที่พักและฝังกลบขยะได้สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ล้อมรอบไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวจนมีการร้องเรียนไปถึงนายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผวจ.เชียงใหม่ในสมัยนั้นให้ลงแก้ไขปัญหาจนพบสาเหตุมาจากบ่อขยะเอกชนที่ใช้รองรับขยะของเทศบาล 6 แห่งเริ่มเต็ม ไม่สามารถรองรับขยะปริมาณจำนวนมหาศาลได้ และสามารถรองรับขยะได้เพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น
จากการนำเสนอข่าวของ “ไทยรัฐ” ทำให้เกิดโรงพักขยะแบบถาวรในพื้นที่เทศบาลตำบลแม่ริมและเทศบาลตำบลแม่แรมที่อยู่ใกล้กัน ทั้งมีระบบการป้องกันกลิ่นเหม็นรบกวน โดยมีการเสนอของบ ประมาณดำเนินการจัดสร้างโรงพักขยะให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันซึ่งสามารถบรรเทาความเดือดร้อนลงไปได้ในระดับหนึ่ง สำหรับโรงงานกำจัดขยะมูลฝอยมูลค่า 466 ล้านบาทของ อบจ.เชียงใหม่ ที่บ้านป่า–ตึงน้อย หมู่ 1 ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ที่จะใช้แก้ปัญหาขยะในพื้นที่โซนกลางและเปิดใช้มานาน แต่การบริหารจัดการไม่ดีพอและถูกชาวบ้านต่อต้านต้องเปิดปิดไปแล้วถึง 3 ครั้ง เพราะเกรงปัญหามลภาวะโดยเฉพาะเรื่องกลิ่นเหม็น กระทั่งต่อมานายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ คนปัจจุบันที่ได้ติดตามปัญหานี้มาอย่างใกล้ชิด จนนำไปสู่ขั้นตอนของการแก้ปัญหาร่วมกันระหว่าง อบจ.เชียงใหม่กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง แต่ทั้งนี้การแก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วงลงไปได้จะต้องมีการเจรจาทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป.
...