จากกรณีชาวบ้านลุ่มน้ำสาละวิน พื้นที่ อ.สบเมย และ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ไม่ยอมเข้าร่วมประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมโครงการไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจี บริเวณชายแดนไทย-พม่า ที่ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯจัดขึ้น เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่หอประชุม ร.ร.ทองสวัสดิ์วิทยาคาร อ.แม่สะเรียง เนื่องจากไม่ไว้วางใจการทำงานของนักวิชาการจุฬาฯที่มีความใกล้ชิดกับ กฟผ.นั้น

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. นายนุ ชำนาญคีรีไพร ประธานเครือข่ายชุมชนจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำสาละวิน เปิดเผยว่า ทางเครือข่ายฯ ได้ติดตามการผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินของ กฟผ.มาโดยตลอด รวมทั้งติดตามการทำงานของนักวิชาการกลุ่มนี้ด้วย โดยมีความเห็นดังนี้ 1.การ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่มีมาตรฐาน โครงการเขื่อนฮัตจี (Hat Gyi Dam) ขนาด 1,360 เมกะวัตต์ ที่จะสร้างบริเวณแม่น้ำสาละวิน ในรัฐกะเหรี่ยง พม่า ตั้งอยู่ห่างจากบ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เพียง 47 กม. แต่ผลกระทบต่อระบบนิเวศยังไม่มีการศึกษาครอบคลุมพอเพียง ทั้งนี้จากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ด้านชาติพันธุ์ของพม่า โดยเฉพาะในรัฐกะเหรี่ยง ใกล้จุดที่จะสร้างเขื่อน และในฝั่งไทยพบว่าศึกษาเพียง 3 หมู่บ้าน ทั้งๆที่แม่น้ำและผืนป่าสาละวินครอบคลุมพื้นที่ ทั้ง จ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอน

...


ประธานเครือข่ายชุมชนจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำสาละวินเปิดเผยอีกว่า ข้อ 2.ผลกระทบต่อประชาชนและผู้ลี้ภัย เพราะพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนฮัตจีและใกล้เคียง หลายปีที่ผ่านมาเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในพม่า ส่งผลให้ประชาชนชาติพันธุ์จำนวนมากต้องหนีภัยการสู้รบมาอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน รวมทั้ง อ.ท่าสองยาง และ อ.แม่ระมาด จ.ตาก การเร่งรัดเดินหน้าโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่สู้รบ จะส่งผลกระทบต่อชาติพันธุ์และประชาชนใน บริเวณชายแดน ดังที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ทำการตรวจสอบผลกระทบต่อการละเมิด สิทธิมนุษยชนมาแล้ว

“ด้วยเหตุผล 2 ข้อนี้ ทางเครือข่ายฯจึงไม่ สามารถยอมรับการศึกษาดังกล่าวได้ ขอเรียกร้องให้สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้กำกับดูแล ตรวจสอบและทบทวน และสั่งให้ยุติการดำเนินการศึกษาทันทีเพราะเกี่ยวพันถึงชื่อเสียงของจุฬาฯ จนกว่าจะเกิดความสงบในพม่า ที่ประชาชนเจ้าของพื้นที่สามารถคืนกลับสู่ถิ่นฐาน และสามารถแสดงความคิดเห็นต่อโครงการที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน มิใช่การเร่งรัดกระบวนการรับจ้างนี้ให้จบโดยเร็วดังที่เป็นอยู่”.