จากตอนแรกจนมาถึงตอนสุดท้าย ที่ "ทีมข่าวไทยรัฐ" เปิดโปงขบวนการค้าไม้กฤษณา หรือ "ไม้หอม" เพื่อผลักดันไปสู่การแก้ไขปัญหาการส่งไม้ป่าสวมซากขาย 

ในตอนที่ 4 ซึ่งเป็นตอนจบบริบูรณ์ จะชี้ให้เห็นข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความคิดเห็นของนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะมาวิเคราะห์ช่องโหว่ของระเบียบและกฎหมาย ที่ยังเอื้อให้นายทุนนำ "ไม้ป่า" มาสวมซากขาย ที่ผ่านมา ทำกำไรมากมายมหาศาลในวงการ "ไม้หอม" เมืองไทย

ถึงเวลาคืนกำไรให้ธรรมชาติด้วยการงดตัดไม้ทำลายป่าแล้วหรือยัง!??

จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของทีมข่าว พบช่องโหว่ของขั้นตอนการส่งไม้หอม (ไม้ชิ้น) ออกนอก อยู่ที่การสวมซากนำ "ไม้ป่า" มาแทนที่ "ไม้ปลูก" ก่อนส่งผ่านด่านศุลกากร จุดอ่อนตรงนี้ไม่เคยได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งขั้นตอนการตรวจสอบของ "ไซเตส" และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ใช้เพียง "คน" ทำการตรวจสอบเท่านั้น ยังไม่มีการนำวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาดำเนินการ และที่สำคัญ การป้องกันการสวม "ไม้ป่า" ก่อนส่งออก ก็ยังไม่มีมาตรการใดๆ มาป้องกัน

...

"ทีมข่าวไทยรัฐ" ติดต่อขอสัมภาษณ์ น.ส.ดวงเดือน ศรีโพธา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยอนุสัญญาไซเตสด้านพืช สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร เพื่อไขคำตอบในเรื่องขั้นตอนการตรวจสอบไม้หอมก่อนส่งออก ได้ข้อมูลว่า ขั้นตอนคือเจ้าของสวน ต้องยื่นเรื่องเเสดงเอกสารสิทธิ์ พิกัดเเหล่งเพาะปลูกอย่างชัดเจน ต่อกรมวิชาการเกษตร เพื่อจะออกรหัสการลงทะเบียนออนไลน์ การส่งออกไม้ ว่าจะนำออกทางช่องทางใดของประเทศ โดยมีทางไซเตสตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง ด้วยการเเจ้งในระบบให้เจ้าหน้าตามด่านนั้นๆ ตรวจสอบ ว่าไม่ได้มีการนำไม้กฤษณาที่ลักลอบตัดในป่ามาสวมส่งออก โดยการตรวจสอบนั้น จะใช้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจดูชิ้นไม้ของผู้ยื่นเอกสาร ใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน เป็นอันเสร็จสิ้น สามารถออกใบอนุญาตผ่านด่านได้ทันที

"ถ้าปริมาณไม้ไม่มาก จะมีสติกเกอร์ของกรมวิชาการเกษตร และตราสัญลักษณ์ไซเตสติดกำกับ หากมีปริมาณไม้มากจะเช็กตามเอกสารใบอินว้อย ไม่ใช่การชั่งน้ำหนัก หากผู้ยื่นมีไม้จำนวนมาก ทางสำนักก็จะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจถึงที่ ที่ผ่านมา ยอมรับว่ามีการสวมซากหรือสวมสิทธิ์ก่อนส่งไม้ออกนอกประเทศ แต่ในปัจจุบันนับว่ามีจำนวนน้อยลง เพราะมีการตรวจละเอียดขึ้น ซึ่งตรงนี้ทางสำนักฯ ให้ความสำคัญมาก" น.ส.ดวงเดือน กล่าว

น.ส.ดวงเดือน ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของกรมวิชาการเกษตร จะดูแลไม้กฤษณาที่ได้มาจากการปลูก เพราะเรามีข้อมูลการปลูกไม้กฤษณา แต่ในกรณีที่ไม้กฤษณาขึ้นทะเบียนสวนป่า ก็อาจจะต้องไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.สวนป่า ซึ่งใน พ.ร.บ.สวนป่าก็ไม่ได้บังคับ ถ้าสวนป่าขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้ ก็ต้องไปดูตาม พ.ร.บ.สวนป่า ความจริงแล้วกรมวิชาการเกษตร จะเริ่มบังคับให้ผู้ส่งออกไม้กฤษณาต้องมาขึ้นทะเบียนสวนกฤษณากับกรมฯ แต่ตอนนี้ประกาศของกรมฉบับนี้ ยังไม่มีผลบังคับใช้ จึงยังไม่ประกาศบังคับใช้ ว่าคนที่จะส่งออกต้องมาขึ้นทะเบียนกับทางเรา ซึ่งหากกรมป่าไม้ตรวจสอบแล้วทางเราก็จะไม่ตรวจสอบซ้ำซ้อน สามารถใช้เอกสารของกรมป่าไม้แนบมาได้เลย ขึ้นอยู่กับความสะดวกของเจ้าของไม้กฤษณา ว่าสะดวกขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานใด

"วันนี้กฎหมายของไซเตสเองจะดูแลทุกส่วนของไม้กฤษณา ไม่ว่าจะส่งชิ้นส่วนไหนของไม้ จะถูกควบคุมหมด เช่น ราก แต่ก็มีข้อยกเว้นเช่นใบและดอก จะไม่ควบคุม แต่ในอดีตเราควบคุมทั้งหมด หรือในอดีต แชมพู ยาหอม สบู่ หรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปทุกอย่าง ที่มีส่วนผสมของไม้กฤษณาเราจะควบคุมหมด แต่เนื่องจากขั้นตอนยุ่งยาก ปัจจุบันจึงมีข้อยกเว้นตรวจเป็นบางชนิด" น.ส.ดวงเดือน กล่าว

...

ขณะที่ นายสุรพล ดวงแข นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ยอมรับว่า กระบวนการตรวจสอบไม้กฤษณาของไซเตส ก่อนส่งออกยังหละหลวม ทำให้เกิดช่องทางไปสู่การสวมซากไม้ป่า ที่ปะปนกับไม้กฤษณาที่ปลูกเอง ซึ่งไซเตสต้องมีการปรับระเบียบ เพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบ ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก ไปจนถึงการบรรจุเพื่อส่งออก เพื่อลดช่องโหว่การสวมซาก หากวันนี้มีกระบวนการตรวจสอบ สามารถแยกแยะได้ว่าไม้หอมแบบไหนเอามาจากธรรมชาติ แบบไหนเป็นไม้ปลูก การสวมซากสวมสิทธิ์ก็จะทำได้ยากขึ้น แต่หากตรวจสอบไม่ละเอียด ความบกพร่องก็จะส่งผลให้การหาไม้หอมจากธรรมชาติยังเป็นต่อไปและยุติยาก

นายสุรพล กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาการสวมซากหลังผ่านไซเตสนั้น ควรใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาดำเนินการ เช่น การตรวจ DNA ก็สามารถทำได้ ตรวจแล้วต้องมีที่เก็บ ไม่ใช่ตรวจสอบแล้วให้เอากลับไป ตรวจแล้วประทับตราแล้วปิดผนึกแล้ว ก็ต้องส่งออกไปเลย การตรวจสอบต้องตรวจทั้งหมด ไม่ใช่สุ่มตรวจเฉพาะบางส่วน เพราะไม้หอมมีมูลค่าสูง การส่งออกแต่ละล็อตไม่ได้มีจำนวนมากมายอะไร ดังนั้น การตรวจละเอียดสามารถทำได้

"ทั้งหมดแก้ด้วยระเบียบและระบบ ไซเตสควรนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เช่นการตรวจ DNA สามารถหาวิธีการตรวจสอบแล้วก็คำนวณได้ เรื่องของระเบียบเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าหากว่ามีการกำหนดระเบียบว่า ไม้หอมที่เกิดจากแปลงปลูกต้องตรวจสอบอะไรบ้าง แล้วหลังจากนั้น เมื่อตรวจสอบแล้ว ตั้งแต่ขั้นปลูกถึงขั้นตอนเก็บเกี่ยว รวมถึงการบรรจุ เพื่อจะนำมาให้มีการออกหนังสือรับรองจากไซเตส ถ้ากำหนดพวกนี้ชัดเจน ผมก็เชื่อว่าการที่จะทำให้เอาไม้หอมจากธรรมชาติซึ่งลักลอบไปหามาเอามาสวม น่าจะทำได้ยากขึ้น ทุกขั้นตอนต้องตรวจสอบอย่างชัดเจน" นายสุรพล กล่าว

...

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ยังกล่าวด้วยว่า ที่สำคัญ ทุกวันนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน ว่าแปลงปลูกไม้หอมต่างๆ สามารถผลิตไม้หอมได้มากอย่างที่คุยเอาไว้หรือไม่ ทุกวันนี้ยังมีการโฆษณาขายพันธุ์ไม้หอม ขายน้ำยากระตุ้น เพื่อให้เกษตรกรหาซื้อ ทำคล้ายแชร์ลูกโซ่ ซึ่งจะเป็นปัญหาในอนาคต เหมือนเป็นการขายฝัน ตรงนี้ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน มิเช่นนั้นอาจเป็นช่องโหว่ให้พ่อค้าหลอกขายสินค้าให้เกษตรกร เหมือนที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้

บริบทเรื่องไม้กฤษณา จากบรรทัดแรกจนถึงบรรทัดสุดท้าย "ทีมข่าวไทยรัฐ" หวังว่าปัญหาทุกอย่างควรจะได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขบวนการค้าไม้หอมผิดกฎหมาย ต้องถูกขจัดให้หมดสิ้นไป เพื่อคงไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้เมืองไทย

และได้แต่หวังว่าเสียงปืนที่"ภูเขียว"จะเป็นเสียงปืนนัดสุดท้าย!??

ทีมข่าวไทยรัฐ รายงาน

อ่านเพิ่มเติม