สดร. ชวนชมดาวหางแคทาลินา ด้วยตาเปล่า ตั้งแต่ 15 พ.ย. จนถึงปลายปีนี้ คาดสว่างสุดคืนวันส่งท้ายปีเก่า สามารถใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก เล็งไปยังทิศตะวันออก บริเวณใกล้กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ก็จะเห็น...
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 14 พ.ย.58 ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชวนจับตาดาวหางแคทาลินา ตั้งแต่ 15 พ.ย.จนถึงช่วงปีใหม่ คาดสว่างสุดในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 31 ธ.ค.58 โดยช่วงปลายปี 2558 นี้ จะมีดาวหางแคทาลินา เคลื่อนที่ปรากฏในบริเวณซีกฟ้าเหนือ ทำให้คนไทยมีโอกาสเห็นดาวหางดวงนี้ด้วยตาเปล่า ทางทิศตะวันออก ช่วงรุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ตั้งแต่กลางเดือน พ.ย.จนถึงช่วงปีใหม่ หลังจากวันที่ 15 พ.ย. ดาวหางดวงนี้จะโคจรผ่านตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด คาดการณ์ว่าจะมีความสว่างเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณการเบื้องต้นคาดว่าจะมีความสว่างถึงแมกนิจูด +3
ทั้งนี้เมื่อดาวหางเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เรื่อยๆ ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงค่าความสว่างได้ (การวัดค่าความสว่างวัตถุท้องฟ้าใช้หน่วยแมกนิจูด) (Magnitude) ค่ายิ่งต่ำยิ่งสว่างมาก ตาของมนุษย์สามารถมองเห็นวัตถุสว่างน้อยที่สุดประมาณแมกนิจูด +6) ที่น่าจับตามองมากที่สุดคือ ในค่ำคืนวันส่งท้ายปีเก่า วันที่ 31 ธ.ค. อย่างไรก็ตาม ดาวหางแคทาลินาจะปรากฏอยู่เคียงข้างดาวดวงแก้ว (Arcturus) ของกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ เป็นของขวัญรับวันปีใหม่ให้กับผู้สังเกตการณ์ในซีกโลกเหนืออีกด้วย ผู้สนใจสามารถใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก เล็งไปยังทิศตะวันออก บริเวณใกล้กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ในช่วงรุ่งสางตั้งแต่เวลาตีสามจนถึงดวงอาทิตย์ขึ้น นอกจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวยังสามารถสังเกตเห็นดาวเคราะห์ได้อีกสามดวงคือ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดีอีกด้วย
...
ดร.ศรัณย์ กล่าวต่อว่า ดาวหางแคทาลินา (C/2013 US10 Catalina) ถูกค้นพบด้วยกล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวแคทาลินาสกายเซอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. 2556 ที่ผ่านมาดาวหางดวงนี้ปรากฏอยู่บนซีกฟ้าใต้มาตลอด แต่ในช่วงปลายเดือน ก.ค.ถึงต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ดาวหางดวงนี้มีความสว่างเพิ่มขึ้น มีค่าความสว่างประมาณ Magnitude +7 และเคลื่อนที่เข้าไปในตำแหน่งใกล้ขั้วฟ้าใต้ ทำให้ดาวหางดวงนี้ไม่ตกลับขอบฟ้า กลายเป็นดาวหางค้างฟ้า ปรากฏให้ผู้คนในซีกโลกใต้สามารถสังเกตเห็นได้ตลอดทั้งคืน จนกระทั่งปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ดาวหางดวงนี้ได้เพิ่มความสว่างจนสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า (Magnitude +6) และหลังจากวันที่ 15 พ.ย. ดาวหางแคทาลินาจะโคจรผ่านตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ปรากฏในท้องฟ้าซีกเหนือ และมีความสว่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะมีค่าความสว่างมากที่สุดถึงประมาณ Magnitude +3.