"ทีมข่าวไทยรัฐ" ยังคงเกาะติดขบวนการค้าไม้กฤษณา หรือ "ไม้หอม" อย่างต่อเนื่อง หลังจากภาคแรก แฉให้เห็นขบวนการตัดไม้กฤษณาในป่า จนมาถึงภาค 2 ที่จะลงลึกในเรื่องของความผิดปกติในตัวเลขการส่งออก ที่ไม่ตรงกับการจดแจ้ง ในการขอหนังสือรับรองตามระเบียบของกระทรวงพาณิชย์
จึงทำให้เกิดคำถามตามมา ว่าเมื่อตัวเลขการส่งออกอยู่ในระดับสูง
แล้วไม้กฤษณาที่นำมาเข้าโรงงาน มีต้นทางหรือแหล่งนำเข้าจากที่ใด!??
ข้อมูลจากสำนักรับรองการป่าไม้ กรมป่าไม้ ระบุถึงขั้นตอนการส่งออกไม้กฤษณา และผลิตภัณฑ์ไม้กฤษณาออกนอกประเทศไว้ว่า จะต้องมีหนังสือรับรองจากกรมวิชาการเกษตร ว่าถูกต้องตามข้อกำหนดของ "ไซเตส" หรือไม่ หากถูกต้องก็จะต้องดำเนินการขั้นตอนต่อไป คือการขอออกหนังสือรับรองไม้ และผลิตภัณฑ์ไม้กฤษณา จากสำนักรับรองการป่าไม้ กรมป่าไม้ เพื่อรับรองว่าเป็นไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
จากนั้นจะต้องไปที่กรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อออกใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตสำหรับสินค้า หรือ ไลเซนส์ และสุดท้ายกรมศุลกากรจะเป็นผู้ตรวจสอบ เพื่อส่งออกไปยังประเทศปลายทาง แต่จากขอมูลจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ "ทีมข่าวไทยรัฐ" ได้มานั้น มีข้อสงสัยในหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตรงข้อมูลตัวเลขการส่งออกที่ไม่ตรงกัน ซึ่งหากดูตัวเลขการส่งออกไม้กฤษณา และผลิตภัณฑ์จากไม้กฤษณาในปี 2557 ของสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร จะพบว่า มีจำนวน 75,430 กิโลกรัม
แต่หากดูข้อมูลจากสำนักรับรองการป่าไม้ กลับพบว่าไม่มีผู้มาแจ้งการส่งออกแม้แต่รายเดียว จึงมีข้อสงสัยว่า "มีการปล่อยให้สินค้าออกนอกประเทศได้อย่างไร" ทั้งที่ไม่มีหนังสือรับรองจากกรมป่าไม้ เพราะหากดูระเบียบกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไงการส่งไม้และไม้แปรรูป ออกไปนอกราชอาณาจักร พุทธศักราช 2549 ข้อ 3.3 ที่ระบุว่า "ไม้ที่ทำออกจากสวนป่าทั้งของรัฐและเอกชน อนุญาตให้ส่งออกตามปริมาณที่กำหนดในหนังสือรับรองจากกรมป่าไม้ หรือกรมป่าไม่มอบหมาย โดยให้ยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาตส่งสินค้าออกนอกอาณาจักร"
...
เมื่อตัวเลขการส่งออกสวนทางกับการจดทะเบียนผู้ประกอบการ และปริมาณไม้ที่พบในเมืองไทย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าหวงห้าม
จึงทำให้เกิดคำถามว่า "แล้วไม้กฤษณาเหล่านั้นมาจากไหน"
ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ระบุว่า แท้จริงแล้วไม้กฤษณาที่เข้าสู่โรงงาน ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากแปลงปลูกแต่อย่างใด ส่วนใหญ่มาจากการลักลอบตัดไม้ในเขตป่าสมบูรณ์ และการลักลอบนำเข้ามาตามตะเข็บชายแดน เพื่อนำสู่โรงงานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ตามความต้องการของท้องตลาด
กล่าวถึงสถานการณ์ไม้กฤษณาในพื้นที่ป่าเมืองไทย จากการสำรวจของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืชในปี 2550 พบว่ามีประมาณ 390,000 ต้น ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตป่าสงวนแห่งชาติ 24 แห่ง ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จากการสำรวจในพื้นที่ป่าประเทศไทยปี 2550 จำนวน 107 ล้านไร่ ของกลุ่มงานสำรวจทรัพยากรป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบว่า มีไม้กฤษณาขึ้นกระจายอยู่ในผืนป่าอนุรักษ์ ทั้งเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ารวม 24 แห่ง จำนวน 397,411 ต้น ปริมาตรไม้ทั้งหมด 65,730 ลูกบาศก์เมตร โดยพบมากที่สุด 10 ลำดับแรก ในแถบภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประกอบด้วย
- อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่กว่า 1 ล้าน 3 แสนไร่ พบไม้กฤษณาจำนวน 68,655 ต้น
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เนื้อที่กว่า 9 แสน 8 หมื่นไร่ พบไม้กฤษณาจำนวน 51,574 ต้น
- อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก เนื้อที่กว่า 7 แสน 9 หมื่นไร่ พบไม้กฤษณาจำนวน 50,799 ต้น
- อุทยานแห่งชาติตาดหมอก จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื้อที่กว่า 1 แสน 7 หมื่นไร่ พบไม้กฤษณาจำนวน 35,352 ต้น
- อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่กว่า 2 แสน 9 หมื่นไร่ พบไม้กฤษณาจำนวน 30,202 ต้น
- อุทยานแห่งชาติปางสีดา จังหวัดสระแก้ว เนื้อที่กว่า 5 แสน 3 หมื่นไร่ พบไม้กฤษณาจำนวน 19,074 ต้น
- อุทยานแห่งชาติดอยหลวง จังหวัดเชียงราย เนื้อที่กว่า 7 แสน 5 หมื่นไร่ พบไม้กฤษณาจำนวน 16,160 ต้น
- อุทยานแห่งชาติขุนแจ จังหวัดเชียงราย เนื้อที่กว่า 1 แสน 7 หมื่นไร่ พบไม้กฤษณาจำนวน 15,650 ต้น
- อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื้อที่กว่า 6 แสนไร่ พบไม้กฤษณาจำนวน 15,364 ต้น
- และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง จังหวัดพะเยา เนื้อที่กว่า 3 แสน 6 หมื่นไร่ พบไม้กฤษณาจำนวน 11,729 ต้น
...
ทุกจุดล้วนเป็นขุมทรัพย์ของแก๊งมอดไม้!!
"ทีมข่าวไทยรัฐ" ยังเปิดข้อมูลพบว่า พื้นที่ที่มีไม้กฤษณามากที่สุด อยู่ในกลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว รวมพื้นที่กว่า 1 ล้าน 7 แสนไร่ พบไม้กฤษณาจำนวน 1 แสน 2 หมื่นต้น รองลงมาคือกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ พื้นที่กว่า 3 ล้าน 8 แสนไร่ พบไม้กฤษณาจำนวน 8 แสน 7 หมื่นต้น และกลุ่มป่าศรีลานนา-ขุนตาล-ศรีสัชนาลัย พื้นที่กว่า 4 ล้าน 2 แสนไร่ พบต้นกฤษณาจำนวน 3 หมื่น 8 พันไร่ โดยข้อมูลทั้งหมดเป็นการสำรวจครั้งแรก และครั้งเดียว ที่มีข้อมูลจนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ปัจจุบัน อาจมีจำนวนลดลงในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากยังมีความต้องการจากกลุ่มนายทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
จึงทำให้ขบวนการค้าไม้กฤษณายังคงเหิมเกริมอยู่ถึงปัจจุบัน..
ย่อหน้านี้จะพาไปดูที่ความต้องการของผลิตภัณฑ์ ไม้กฤษณา ที่ยังคงเป็นที่ต้องการตามท้องตลาด ทีมข่าวไทยรัฐ ลงพื้นที่ย่านสุขุมวิท เพื่อสำรวจร้านจำหน่ายน้ำมันหอม ที่ทำจากไม้กฤษณา พบว่ามีจำหน่ายอยู่จำนวนมาก เริ่มตั้งแต่ราคาหลักร้อยจนถึงหลักแสนบาท ส่วนใหญ่อ้างว่านำเข้ามาจากต่างประเทศ
โดยพื้นที่ภายในซอยสุขุมวิท 3/1 เป็นแหล่งจำหน่ายน้ำมันหอมที่ทำจากไม้กฤษณา พบว่ามีร้านเปิดจำหน่ายเป็นจำนวนมาก โดยการจำหน่ายแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ขายเป็นชิ้นไม้ ที่เอาไว้จุดรมควัน กับที่สกัดเป็นหัวน้ำหอม
โดยไม้ชิ้น จะเปิดราคาน้ำหนัก เฉลี่ย 1 โตร่า หนัก 12 กรัม ราคาสตาร์ตที่ 400 บาท จนถึงหลักหมื่นบาท ในขณะที่น้ำมันหอม จะขายเริ่มที่ 1 โตร่า ราคา 300 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคุณภาพและที่มาของไม้กฤษณาที่นำมาสกัด
...
โดยน้ำมันหอม 1 ลิตร ราคาจะเริ่มตั้งแต่ 1 หมื่นถึงหลักแสนบาทเลยทีเดียว!??
จากการสอบถามผู้ขาย อ้างว่าไม้กฤษณาที่นำมาจำหน่ายในย่านดังกล่าว มีการนำเข้ามาจากประเทศอินเดีย เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะได้รับความนิยมมากที่สุด รองลงมาได้แก่ประเทศ กัมพูชา พม่า ลาว และประเทศไทย ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ ที่มาจากตะวันออกกลาง และคนไทย ที่มีความชื่นชอบความหอมของไม้กฤษณา โดยการนำไม้กฤษณาไปเผาไฟเพื่ออบให้ห้องมีกลิ่นหอม
ตราบใดที่ตลาดยังมีความต้องการ ตราบนั้นก็ยังมีขบวนการตัดไม้กฤษณา!??
ทีมข่าวไทยรัฐ รายงาน
อ่านเพิ่มเติม