โฆษก คสช.และกองทัพบก ชี้แจงจากรายงานล่าสุดของ สตช. ยังไม่พบข้อมูล พล.ต.-พ.อ.แก๊งหมอหยองพัวพันการทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพราะการก่อสร้างเป็นระบบงานราชการ เปิดเผยทุกขั้นตอน ระบุนายทหารที่ถูกพาดพิงถึงสังกัดกองทัพบกอาจเป็นผู้ประสานกิจกรรมย่อยต่างๆ ถ้ามีข้อบกพร่องใดๆหรือเกิดข้อสงสัย ตร.ประสานมาก็สามารถร่วมกันตรวจสอบหาข้อเท็จจริงได้ ขณะที่แนวทางสืบสวนสอบสวนพบข้อมูล “พล.ต.-พ.อ.-เซียนพระ-หญิงสาวสนิท พ.อ.” แก๊งหมอหยอง ร่วมกันงาบค่านายหน้าและเรียกเก็บเงินส่วนต่างจากบริษัทโรงหล่อองค์พระรูปบูรพกษัตริย์ ทั้ง 7 พระองค์ ที่ติดต่อให้จนได้รับการจัดจ้าง และทุจริตการจัดทำเสื้อในวันสำคัญที่ผ่านมาด้วย
กรณีตำรวจจับกุมนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ “หมอหยอง” นายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ หรือ “อาท ชัตเตอร์ มหาเทพ” คนสนิทหมอหยอง และ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา หรือ “สารวัตรเอี๊ยด” ผู้ต้องหาแอบอ้างเบื้องสูงเรียกรับผลประโยชน์ มีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ร่วมกันกระทำความผิด 13 คดี พร้อมของกลางหลายรายการ ส่วนหนึ่งเป็นทรัพย์สินของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีต ผบช.ก. และเครือข่ายที่ถูกพบในที่พักของสารวัตรเอี๊ยด ผู้ต้องหาที่ได้ผูกคอตายระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำชั่วคราว แขวงถนนนครไชยศรี (พัน.ร.มทบ.11) ต่อมาตำรวจจับกุมนายศุกร์โข ตามเสรี หรือเค บาร์โฮสต์ คนสนิทสารวัตรเอี๊ยด ผู้ต้องหาคดีอาวุธปืน คาดมีส่วนร่วมทำความผิดแอบอ้างเบื้องสูงด้วย อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน ท่ามกลางความอึมครึมของบุคคลที่สนิทกับกลุ่มผู้ต้องหา เช่น พล.ต.อ.ประวุฒิ ถาวรศิริ ที่ปรึกษา (สบ 10) และทหารยศ พล.ต. ลาออกจากราชการ นอกจากนี้ พ.อ. ยังขาดราชการ ไปประเทศเมียนมา ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รรท.รอง ผบ.ตร. แจงยืนยันทหารไม่มีเอี่ยวคดีหมิ่นสถาบันฯ ล่าสุด พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก. สั่งตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังพบข้อมูล พล.ต.-พ.อ.แก๊งหมอหยองพัวพันทุจริตการจัดสร้าง
...
ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. และโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีที่มีสื่อมวลชนบางสำนักเสนอรายงานข่าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ถึงการสืบสวนแกะรอยคดีแอบอ้างสถาบันฯจากผู้ต้องหา นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยอง โดยเชื่อมโยงไปถึงนายทหารยศ พล.ต.และ พ.อ. มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งในส่วนของการหล่อองค์พระรูปบูรพกษัตริย์ทั้ง 7 พระองค์ และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานว่า จากการรับทราบข้อมูลล่าสุดกับทาง สตช.ยังไม่มีข้อมูลลักษณะดังกล่าว โดยเฉพาะในส่วนงานก่อสร้าง เพราะเป็นการดำเนินโครงการในลักษณะระบบงานราชการร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นที่เปิดเผยในทุกขั้นตอน จึงเป็นไปได้ยากมากที่จะมีบุคคลใดๆเข้าไปทำให้เกิดข้อกังวลสงสัยดังกล่าว
พ.อ.วินธัยกล่าวอีกว่า สำหรับกิจกรรมเสริมพิเศษ เช่น กิจกรรมการปั่นจักรยาน หรือการจัดแสดงดนตรีเพื่อประชาสัมพันธ์เป็นการดำเนินการในลักษณะผสม จึงอาจมีงานบางส่วนที่มีบริษัทเอกชนเข้ามาร่วมแต่ก็ยังไม่มีข้อมูลผู้ต้องหาคนดังกล่าวเข้ามามีส่วนในการจัดการอะไร ส่วนนายทหารที่สื่อพาดพิงถึง เนื่องจากสังกัดกองทัพบกและอาจเป็นผู้ประสานกิจกรรมย่อยต่างๆ ในช่วงที่ประสานงานจะมีข้อบกพร่องใดๆหรือไม่ ถ้าหากเกิดข้อสงสัยและได้รับการประสานมาก็สามารถร่วมกันตรวจสอบหาข้อเท็จจริงได้
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากชุดคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีหมิ่นเบื้องสูงพบความผิดปกติเกี่ยวกับโครงการอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขณะนี้พนักงานสอบสวนได้เข้าสอบปากคำนายเอนก หงษ์มณี เจ้าของโรงหล่อประติมากรรม ไฟน์อาร์ต จำกัด เลขที่ 89 หมู่ 12 ต.คูบางหลวง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ที่รับงานจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช นายเอนกให้การว่า เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 57 ได้รับการติดต่อจากเซียนพระคนหนึ่งที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ติดต่อให้ไปพบที่กรมกิจการ กองทัพบก ถนนราชดำเนิน เพื่อพูดคุยให้จัดสร้างพระบรมราชาอนุสาวรีย์พระมหากษัตริย์ 7 พระองค์ จนได้รับสัญญาจ้างให้หล่อพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตกลงค่าจ้างที่ราคา 44 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ต้องประสานกับ พล.ต.ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ตลอด และต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับเซียนพระดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนที่ให้ได้จัดสร้างครั้งนี้ เป็นจำนวนเงิน 10% ของราคาค่าจ้าง
นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังได้สอบปากคำ นายเครน กุญชศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโผนประติมากรรมสากล จำกัด เลขที่ 13/7 หมู่ 2 ถนนเอกชัย แขวงบางบอน เขตบางบอน กทม. ให้การว่าเมื่อประมาณต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา นายเครนได้รับการติดต่อจากเซียนพระคนเดียวกันให้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์เพื่อไปจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ พร้อมทั้งยังแนะนำผู้ที่จะเข้ามารับงานให้กับเซียนพระ อีก 4 บริษัท คือ บริษัท ช.ปฏิมา จำกัด บริษัท ร๊อคคาไฟล์ จำกัด บริษัท พุทธปฏิมา จำกัด และบริษัท ปฏิมาไฟน์ อาร์ต จำกัด โดยเซียนพระเป็นผู้ดำเนินการติดต่อด้วยตนเอง นายเครนได้รับงานสร้างพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ความสูง 16 เมตร ตกลงทำสัญญากับกองทัพบก ที่ราคา 42 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
การจัดสร้างพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ครั้งนี้ ในการเสนอราคากับกองทับบก เซียนพระคนดังกล่าวให้ทำใบเสนอราคาเป็นเงิน 42 ล้านบาท (ในการทำสัญญา) นายเครนจะได้รับเงิน 30 ล้านบาท เป็นค่าจ้างงาน ส่วนเซียนพระจะได้รับเงินค่านายหน้า 12 ล้านบาท หักลบเงินภาษีมูลค่าเพิ่มไป 4 ล้านบาท เซียนพระจะได้รับเบ็ดเสร็จ 8 ล้านบาท โดยเซียนพระจะได้รับเงินค่านายหน้าจากนายเครนเป็นงวดๆ งวดแรกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ จำนวน 3.2 ล้านบาท นัดจ่ายเงินที่พุทธมหาอุทยานหลวงปู่ทวด จ.พระนครศรีอยุธยา งวดที่ 2 เดือนพฤษภาคม สั่งจ่ายเงินให้ เซียนพระเป็นเช็คเงินสดธนาคารทหารไทย สาขากองทัพบก เลขที่ 04540806 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม จำนวน 1.6 ล้านบาท ส่วนงวดที่สามสั่งจ่ายเหมือนเดิมแต่ครั้งนี้กลับไม่สามารถขึ้นเงินได้ จึงได้ใช้วิธีโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทยของเซียนพระจำนวน 500,000 บาท หลังจากนั้นพยายามติดต่อเพื่อจะโอนเงินให้แต่ไม่สามารถติดต่อได้จึงได้ยกเลิกไป ช่วงนั้นได้มีนายทหารยศ พ.อ. จะออกใบเสร็จรับเงินค่าเงินบริจาค ให้กับกองทัพบก เป็นเงิน 5,349,500 บาท ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2558 จนมีหนังสือขอบคุณจากกองทัพบก โดยบอกว่าเงินจำนวนนี้เป็นส่วนต่างที่เซียนพระเอาไป เพื่อไม่ให้การก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์เสียชื่อเสียง
...
สำหรับค่าจ้างในการจัดสร้างพระบรมรูป รัชกาลที่ 5 เซียนพระคนดังกล่าว ตกลงในราคา 42 ล้านบาท แต่ได้รับเงินจริงแค่ 30 ล้านบาท ส่วนต่าง 12 ล้านบาท ต้องจ่ายให้กับเซียนพระและในส่วนของภาษี จำนวน 4 ล้านบาท เซียนพระจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยเซียนพระได้รับส่วนต่าง จำนวน 8 ล้านบาท การจัดสร้างครั้งนี้ ต้องให้เงินนายเครนสำหรับการขนส่ง จำนวน 1.8 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่นายเครนต้องชำระให้กับบริษัทที่มารับเหมาการขนส่งพระบรมราชานุสาวรีย์ทั้งหมด
มีรายงานอีกว่า ชุดสืบสวนได้ตรวจสอบทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับการสื่อสารทั้งหมดของผู้ต้องหาและบุคคลที่เกี่ยวข้องจนพบว่ามีการร่วมกันทุจริตโดยแอบอ้างเบื้องสูงหลายเรื่อง ส่วนหนึ่งคือการจัดทำเสื้อกิจกรรมสำคัญ Bike for Mom ที่เพิ่งจะมีการจัดไปมีการเรียกรับเงินจากบริษัทเอกชนไปมากถึงกว่า 70 ล้านบาท โดยพบว่ามียอดเงินกว่า 20 ล้านบาท เป็นเงินที่ได้มาจากบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง สำหรับประเด็นเรื่องเงินจำนวน 20 ล้านบาท ที่พบว่ามีนายทหารระดับ พ.อ.ไปขอรับเงินสนับสนุนมาจากบริษัทเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่ง พบข้อมูลว่า นายทหารยศ พ.อ.ได้ติดต่อหญิงสาวคนสนิทรายเดิม ที่เป็นเจ้าของบริษัทผลิตเสื้อแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ด้วย
โดยทั้ง 5 คน มีความสนิทสนมกันมานาน ให้เข้ามาเป็นตัวแทน หรือนอมินี เพื่อรับสมอ้างที่จะเข้ามารับงานเป็นผู้ผลิตเสื้อยืดที่จะนำมาใช้ในกิจกรรมวันสำคัญที่จะเกิดขึ้น โดยเมื่อเช้าของวันที่ 28 ก.ค. นายทหารยศ พ.อ.ได้เดินทางมาไปรับหญิงสาวที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนที่จะเดินทางมาบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่มารับเช็คเงินสดที่สั่งจ่าย สำหรับใช้ในการผลิตเสื้อ วันดังกล่าว พ.อ.ได้แต่งเครื่องแบบเต็มยศ นอกจากนี้ได้ตรวจสอบเส้นทางการโอนเงินของบริษัทผลิตเสื้อดังกล่าว พบว่ามีการโอนเงินส่วนหนึ่งไปยังหมอหยอง คาดว่าเป็นเงินส่วนต่าง ก่อนที่นายสุริยันจะนำเงินดังกล่าวไปซื้อคอนโดมิเนียมที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นของหญิงสาวคนหนึ่งที่มีความสนิทสนมใกล้ชิดกับ พ.อ.คนดังกล่าวอีกด้วย ชุดสืบสวนได้ลงพื้นที่หาเบาะแสเพิ่มเติมในพื้นที่ จ.เชียงใหม่
...
การตรวจสอบโครงการคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง ใน จ.เชียงใหม่ ตามแนวทางการสืบสวนน่าจะเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ต้องหาพร้อมกับเชิญตัวหญิงสาวคนสนิท พ.อ.เจ้าของคอนโดมิเนียมดังกล่าว มาสอบปากคำที่ บช.ก. รวมทั้งตรวจสอบกล้องวงจรปิด สำนักงานที่ดิน จ.ลำพูน กรณีทำธุรกรรมโอนที่ดิน วันที่ 30 ต.ค.58 ของหญิงสาวคนสนิท พ.อ.จากนั้นได้พาไปตรวจค้นที่สำนักงานคอนโดมิเนียม ยึดคอมพิวเตอร์และกล้องวงจรปิดให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบการทำธุรกรรม และเข้าค้นบ้านที่ จ.เชียงใหม่ พร้อมตรวจยึดคอมพิวเตอร์ 1 ชุด ก่อนนำตัวเข้า กทม.ไปสอบปากคำที่ บช.ก.พร้อมกับ พยานในคดีอีกปาก
นอกเหนือจากการทุจริตการจัดทำเสื้อแล้วนั้น ชุดสืบสวนยังพบอีกว่านายทหารทั้ง 2 นายได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่เพิ่งจะมีการเปิดตัวไปได้ไม่นานมานี้ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดสร้างอุทยานตลอดจนถึงขั้นตอนการจัดสร้างองค์พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์ การจัดซื้อวัสดุก่อสร้างและการก่อสร้างพื้นฐานต่างๆ สอดคล้องกับข้อมูลที่เคยปรากฏเป็นข่าวคราวเกี่ยวกับเหตุการณ์พระบรม ราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช 1 ในมหาราช 7 พระองค์ มาก่อนด้วย