รอง ผบช.ภ.8 หัวหน้า พนง.สอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา ขอความเป็นธรรม ถูกโยกย้าย ลงไปอยู่จังหวัดชายแดนใต้ หลังทำคดีโรฮีนจา แล้วออกหมายจับทหารที่เกี่ยวข้อง อ้างถูกผู้มีอิทธิพล ขู่เอาชีวิต ด้าน ผบ.ตร. โต้ ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม ...
จากกรณีที่สำนักข่าวอิศราได้เปิดเผยข้อมูลให้สัมภาษณ์ ของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา บนเทือกเขาแก้ว บ้านตะโละ หมู่ 8 ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนรอยต่อระหว่างไทยกับมาเลเซีย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558
โดยชุดสอบสวนได้ติดตามทำคดีร่วมกับพนักงานอัยการ ในขณะนั้น ผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งถือเป็นคดีสำคัญระดับโลก และสามารถออกหมายจับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องในคดีได้ 153 ราย จับกุมได้ 91 ราย
ทั้งนี้ กลุ่มบุคคลที่ถูกออกหมายจับชุดสุดท้ายก่อนพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนส่งให้อัยการ เป็นทหาร 4 นาย คือ พันเอกณัฏฐ์สิทธิ์ มากสุวรรณ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จังหวัดสตูล (ผอ.รมน.จ.สตูล) ร้อยเอกวิสูตร บุนนาค สังกัดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จังหวัดชุมพร (กอ.รมน.จ.ชุมพร) ร้อยเอกสันทัด เพชรน้อย สังกัด กอ.รมน.จ.ชุมพร และ นาวาโทกัมปนาท สังข์ทองจีน สังกัดทัพเรือภาคที่ 3 โดย ร้อยเอกวิสูตร ได้เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนไปแล้ว ส่วนทหารอีก 3 นายยังไม่ยอมเข้าพบตำรวจ
ต่อมาไม่นาน ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เผยแพร่คำสั่งแต่งตั้งโยกย้าย พลตำรวจตรีปวีณ พงศ์สิรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ไปประจำที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) โดยในใจความตอนหนึ่ง พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินท์ ได้กล่าวไว้ว่า
“ตลอดเวลากว่า 5 เดือนของผมและตำรวจทุกคนในคณะทำงานที่ร่วมกันสืบสวนสอบสวนคดี จนทำสำนวนคดีเป็นเอกสาร 2 แสนกว่าแผ่น ออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องไป 153 ราย ทุกคนทำงานอย่างยากลำบาก ไม่ได้กินนอนอย่างสบาย จริงๆ ทุกคนควรจะได้รับบำเหน็จ แต่สิ่งที่ผมได้รับคือถูกย้ายไปประจำที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ซึ่งตลอดอายุการรับราชการตำรวจของผมจนขณะนี้อายุ 57 ปีแล้ว ยังไม่เคยทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อนเลย ไม่มีข้อมูลและไม่เคยทำคดีในพื้นที่นี้เลย การส่งผมลงไปทำงานในพื้นที่สามจังหวัด จึงไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับพื้นที่ตรงนั้น ตรงกันข้ามเหมือนกับส่งผมไปเสี่ยงอันตรายด้วยซ้ำ ผมเคยขออยู่ที่เดิม แต่ก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการโยกย้าย”
...
ผู้สื่อข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้ต่อสายตรงเพื่อพูดคุยกับ พล.ต.ต.ปวีณ ซึ่งได้ทราบข้อมูลว่า ข้อมูลทั้งหมดที่ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราไป เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่เฉพาะเพียงแต่ตนเองที่โดนย้าย พล.ต.ต.พุฒิชาติ เอกฉันท์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 จากที่เคยร่วมกันทำคดีด้วยกัน กลับมีรายชื่อถูกย้ายไปอยู่จเรตำรวจ ทั้งหมดนี้ น่าจะไม่ใช่ผลตอบแทนที่ดีของบุคคลที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ นอกจากนี้ พล.ต.ต.ปวีณ ยังอ้างว่า ถูกข่มขู่จากทหาร ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหากลุ่มหลังที่ถูกออกหมายจับอีกด้วย
“ผมจะไม่ขอพาดพิงถึงคนอื่น ไม่พาดพิงถึงการสลับโยกย้ายที่ผ่านมาว่า ใครถูกโยกไปอยู่จุดไหน ใครปิดทองหลังพระ หรือใครไม่ได้ลงมือทำคดีอะไรเลย แต่กลับถูกโยกไปอยู่ตำแหน่งที่ดีๆ ส่วนคนที่ทำงานกันตั้งแต่เช้ายันค่ำ กลับไม่มีเสียงตอบรับจากผลของการทำงาน มิหนำซ้ำยังถูกโยกย้ายไปยังอีกที่หนึ่ง อยากขอเพียงแค่ความเป็นธรรม ความเท่าเทียม ไม่ขอมากไม่ขอน้อย ขอแค่ความเป็นธรรมและสิ่งที่ควรจะได้” พล.ต.ต.ปวีณ กล่าว
พล.ต.ต.ปวีณ กล่าวต่อว่า ตนเองพูดอะไรไม่ได้มาก สิ่งที่พูดได้คือ คนตั้งใจทำงานเสียขวัญกำลังใจ ลูกน้องที่ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ เมื่อเห็นว่าหัวหน้าตัวเองถูกย้าย ก็เสียขวัญกำลังใจหมดแล้ว ทุกคนเป็นกังวล ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง จะโดนย้ายอีกไหม หรือจะมีอะไรเกิดขึ้นตามมาบ้าง ทุกคนกลัว ไหนจะเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตัวเราเป็นตำรวจที่ทำคดีตั้งใจเอาคนผิดมาลงโทษแท้ๆ แต่กลับถูกขู่ให้ระวังตัว แบบนี้ความยุติธรรมมันอยู่ที่ไหน ทุกวันนี้ก้มหน้าก้มตาทำงาน ไม่มีเวลาไปแข่งขันด้านอื่นกับใคร เอางานเข้าสู้ แต่สิ่งที่ได้คือ โดนย้ายมาอยู่ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนไม่กลัว และเคยขอลงมาอยู่ แต่เมื่อทำคดีโรฮีนจา ศัตรูก็มีอยู่รอบตัว
ด้าน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงถึงกรณีการแต่งตั้งโยกย้าย พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา ไปดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต. ว่า การดำเนินการดังกล่าว เป็นการแต่งตั้งโยกย้าย สับเปลี่ยนตามความเหมาะสมและความเห็นชอบของผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 เนื่องจากตนเองมองว่า พล.ต.ต.ปวีณ เป็นบุคคลที่มีความรู้เรื่องการพิจารณาสอบสวน เพราะงานสอบสวนของ ศชต.ต้องใช้คนที่มีความสามารถ จึงได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.ปวีณ ลงไปรับผิดชอบ ซึ่งที่ผ่านมาตำรวจคนอื่นๆ ก็ทำงานในลักษณะเดียวกัน
“ทั้งนี้ยืนยันว่า ไม่ได้มีการกลั่นแกล้ง แต่หากไม่เห็นด้วยกับการโยกย้าย และเห็นว่าในพื้นที่มีความเสี่ยงเป็นการไม่เหมาะสมนั้น ทุกสิ่งขึ้นอยู่กับหัวหน้าหน่วยงาน” พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าว.