เร่งแก้ปัญหา!! ศปมผ. พร้อม ทัพเรือภาค 1 ลงพื้นที่ตรวจปัญหาแรงงานการประมง ใน จ.สมุทรสาคร เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ตามนโยบายสหภาพยุโรป เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสายตาชาวโลก...
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 1 พ.ย.58 พล.ร.ท.อดิเรก ชมภูนุช หน.สน.ปชส.ศปมผ./จก.กพร.ทร. พร้อมด้วย พล.ร.ท.รังสฤษดิ์ สัตยานุกูล ผบ.ทรภ.1 พล.ร.ต.วรรณพล กล่อมแก้ว สล.ศปมผ.และ พล.ร.ต.เกรียงไกร อนันตศานต์ หน.คณะทำงานแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานในเรือประมงศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ได้ลงมาพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อทำการตรวจเรือประมงซึ่งจอดเทียบท่าอยู่ตามท่าเรือต่างๆ ในเขตอำเภอเมืองสมุทรสาคร โดยมี น.ท.พีระ สกุลเต็ม หัวหน้าศูนย์ควบคุมแจ้งเข้า-ออกเรือประมงสมุทรสาคร นายอรุณชัย พุทธเจริญประมงจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ซึ่งทางคณะของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายได้ลงเรือตรวจการณ์ตำรวจน้ำ ที่บริเวณท่าเทียบเรือหน้าวัดช่องลมเพื่อไปตรวจเยี่ยมและติดตามดูการจ้างงานในเรือประมงทั่วไปพร้อมกับมีการชี้แจงให้นายจ้าง และลูกจ้างได้รับทราบถึงข้อบังคับทางกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องก่อนที่จะนำเรือออกไปทำการประมง ซึ่งก็มีทั้งเรื่องของคนประจำเรือตัวเรือ และเอกสารประจำเรือ ตลอดจนวันที่ห้ามทำการประมงด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกจับกุมหากมีการเข้าตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่จากนั้นทางคณะของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายยังได้ตรวจดูเรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไปซึ่งจอดเทียบท่าอยู่ที่บริเวณท่าเทียบเรือชัยนาวี จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 1 ลำ ซึ่งก็ไม่พบการกระทำที่ผิดกฎหมายแต่อย่างใดทั้งสิ้น
หน.สน.ปชส.ศปมผ./จก.กพร.ทร. กล่าวอีกว่า สืบเนื่องจากข้อสังเกตของสหภาพยุโรป (EU) ต่อการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายของไทยนั้น EU เห็นว่าปัญหาที่สำคัญอยู่ที่ปัญหาแรงงานซึ่งส่วนใหญ่แรงงานบนเรือประมงเป็นแรงงานต่างด้าวเกิดจากการที่แรงงานภาคประมงของไทยขาดแคลนทำให้ต้องมีการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในภาคประมงโดยในปัจจุบันบทลงโทษของกฎหมายแรงงานของไทยเน้นการลงโทษลูกเรือเป็นหลักประกอบกับแรงงานบนเรือประมงที่มีขนาด 60 ตันกรอสขึ้นไปมีจำนวนมากอีกทั้งเรือขนาดดังกล่าวมีความทนทะเล สามารถอยู่ในทะเลได้เป็นระยะเวลานานพื้นที่ในการทำประมงห่างไกลจากฝั่งสามารถเข้าเทียบท่าที่ใดก็ได้ตามมาตรการ Port State ทำให้ง่ายต่อการกระทำความผิดในการค้ามนุษย์ดังนั้นการตรวจสอบแรงงานภาคประมงของไทยจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนในการดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายของไทยในขณะนี้เช่นเดียวกับการติดตาม การตรวจสอบย้อนกลับ ข้อมูลเรือประมงนอกน่านน้ำของไทยมีทั้งสิ้น 73 ลำทั้งนี้ยังมีเรือประมงนอกน่านน้ำต่างประเทศสามารถนำเรือเข้ามาจอดเทียบท่าในประเทศไทยได้อีกด้วยตามมาตรการ Port State
...
พล.ร.ท.อดิเรก กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ทาง ศปมผ.ยังได้มีความพยายามในการสร้างบุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับแรงงานและการบังคับใช้กฎหมายให้มีความรู้ความเข้าใจในการคุ้มครองแรงงานภาคประมงเพิ่มมากขึ้นและได้มีการจัดการฝึกอบรมหลักสูตรป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็กแรงงานบังคับในทะเลโดยเน้นให้มีความเข้าใจในการปฏิบัติในการบูรณาการตรวจและบังคับใช้กฎหมายทั้งด้านแรงงานและการค้ามนุษย์ ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานต่างๆและสามารถตอบสนองต่อการพัฒนาขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานในทะเลได้อีกด้วย.