ปัญหาหมอกควันยังวิกฤติ! จ.พัทลุง เลวร้ายในรอบ 12 ปี คุณภาพอากาศน่าห่วง ขณะที่ อ.เบตง จ.ยะลา นทท.บางส่วนยกเลิกการเดินทาง กระทบท่องเที่ยว-สูญรายได้ ประมาณ 20 ล้าน เตือน ปชช.ระวังสุขภาพ หลีกเลี่ยงออกกำลังกายกลางแจ้ง ...

วันที่ 22 ต.ค. 58 นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผวจ.พัทลุง เผยว่า สถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ จ.พัทลุง มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ขณะนี้ จังหวัดพัทลุงยังไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ จึงจำเป็นต้องขอข้อมูลคุณภาพอากาศของจังหวัดข้างเคียง คือ จังหวัดสตูล และ จังหวัดสงขลา เพื่อประเมินคุณภาพอากาศ ซึ่งพบว่า ปริมาณฝุ่นละออง มีค่าระหว่าง 190-210 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในระดับปานกลาง ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนทั่วไป และมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้ประสานงานให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนประชาชนให้ป้องกันภัยจากหมอกควันในครั้งนี้ รวมทั้งแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้กับประชาชน

ด้าน เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพัทลุงรายหนึ่ง เผยว่า ขณะนี้จังหวัดพัทลุงได้รับแผ่นกรองใยหินเพียง 2 แผ่นเท่านั้น จึงไม่สามารถตรวจวัดคุณภาพอากาศได้อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ได้ยื่นการสนับสนุนแผ่นกรองใยหินไปยัง กรมควบคุมมลพิษ กรุงเทพฯ แล้ว สำหรับปีนี้ การเกิดหมอกควันมีระยะเวลายาวนาน และมีความรุนแรงในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา ส่วนการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของจังหวัดพัทลุงนั้น ได้ยื่นของบประมาณไปแล้ว คาดว่า น่าจะได้รับการติดตั้งในปีงบประมาณ 2560 

...

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์หมอกควันของ จังหวัดพัทลุง มีแนวโน้มหนาทึบขึ้นเรื่อยๆ ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา ตามโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนก็มีมากขึ้นเช่นเดียวกัน 

ขณะที่ จังหวัดยะลา สถานการณ์หมอกควันไฟป่าจากประเทศอินโดนีเซีย ส่งผลให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นลดลง ผู้ขับรถต้องเปิดไฟตัดหมอกช่วย และใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวังมากขึ้น เพราะทั้งเมืองขาวโพลนเต็มไปด้วยหมอกควัน โดยเฉพาะเส้นทาง 410 ยะลา-เบตง ตั้งแต่บ้านคอกช้าง ต.แม่หวาด อ.ธารโต จนถึง อ.เบตง 

ร.ต.ต.อุดม ลักษณะ นายกสมาคมการท่องเที่ยวอำเภอเบตง กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดสถานการณ์หมอกควันไฟป่าจากอินโดนีเซีย กลุ่มนักท่องเที่ยวได้มีการขอเลื่อนเข้าพักโรงแรมคิดเป็นสัดส่วน 50 เปอร์เซ็นต์ และบางส่วนขอยกเลิกการเดินทาง เมื่อประเมินเบื้องต้นแล้ว รายได้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเมืองเบตงในเดือนที่ผ่านมาลดลงไป ประมาณ 20 ล้านบาท 


ด้าน นายวงศ์วิทย์ อัครวโรทัย สาธารณสุขอำเภอเบตง เผยว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ได้ออกประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน พร้อมทั้งแจกหน้ากากอนามัย และแนะนำวิธีป้องกันตนเองในภาวะหมอกควัน โดยให้ประชาชนใช้หน้ากากอนามัยปิดจมูก ขณะต้องออกไปนอกบ้านให้เฝ้าระวังสุขภาพของตนเอง และผู้ใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็ก คนชรา และผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง ให้ติดตามข่าวสาร และปฏิบัติตามข้อแนะนำจากภาครัฐ หากเกิดอาการเจ็บป่วยควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งขณะนี้ ปัญหาหมอกควันอยู่ในระดับมีผลต่อสุขภาพแล้ว

ส่วน นางกัลยา โตะแวอายี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา กล่าวว่า จากข้อมูลดาวเทียม NOAA-18 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2558 มีจุดที่เกิดไฟไหม้ บนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 35 จุด ลดลงจากวันที่ 20 ตุลาคม 2558 ซึ่งมีจำนวน 36 จุด สำหรับคุณภาพอากาศในวันที่ 22 ตุลาคม 2558 ของพื้นที่ภาคใต้ พบว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) มีค่าระหว่าง 121-356 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง ถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ส่วนจังหวัดยะลาคุณภาพอากาศวัดได้ 164 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน.