อัยการ โต้ ข้อกฎหมาย พล.ต.อ.พงศพัศ ประชาชนทั่วไปโพสต์รูปดื่มแอลกอฮอล์ได้ ไม่ผิดกฎหมาย หากไม่มีเจตนาเพื่อการค้า ชี้บังคับใช้กฎหมายต้องดูเจตนาเป็นหลัก พิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณี
วันที่ 10 ตุลาคม 2558 นายยรรยง เดชภิรัตนมงคล อัยการผู้เชี่ยวชาญในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่กล่าวว่าประชาชนทั่วไปหากมีการโพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้จะจงใจ ไม่มีเจตนา หรือไม่ทราบกฎหมาย ก็ถือว่ามีความผิดตามมาตรานี้เช่นเดียวกัน เนื่องจากในภาพถ่ายนั้น เห็นภาพฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ หากมีการใส่ข้อความเพื่อโฆษณาอีก จะถือว่ามีความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย ตามมาตรา 32 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ว่า พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม
ซึ่งสาระสำคัญอยู่ที่คำว่า การโฆษณา ซึ่งกฎหมายได้ให้นิยามของคำว่า โฆษณา หมายความว่า การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการสื่อสารการตลาด ฉะนั้นการกระทำที่จะเป็นความผิด จะต้องมีเจตนาเพื่อประโยชน์ในทางการค้า หากการกระทำไม่ได้มีเจตนาเพื่อประโยชน์ในทางการค้า หรือการสื่อสารการตลาดแล้ว ย่อมไม่อยู่ในบทนิยามและไม่มีความผิด แต่หากมีคนไปแอบจ้างประชาชนจำนวนมากไปชูเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหากถูกสอบสวนได้ข้อเท็จจริงเพื่อการโฆษณา ก็อาจนำไปสู่การดำเนินการทางกฎหมายได้
รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวต่อว่า บทนิยามของ คำว่าโฆษณา ใน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 51 นั้น มีเจตนาพิเศษกว่าในพจนานุกรม งานกฎหมาย หรือการพิจารณานั้น จะต้องดูเจตนา และข้อเท็จจริงเป็นกรณีไป เช่น คน 4 คนไปดื่มเบียร์ แล้วชูขวดที่มีโลโก้ยี่ห้อเบียร์ทั้ง 4 คน โดยถ่ายรูปหันไปทางเดียวกัน ให้เห็นฉลากก็อาจเข้าข่ายมีเจตนา.
...