ภาพแมงกะพรุนกล่องถ่ายโดย อ.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง (ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)

นักวิชาการ เตือน ไทยอยู่ในภาวะเสี่ยง เหตุแมงกะพรุนคร่านักท่องเที่ยว 3 คนใน 14 เดือน ถือว่าสูงเมื่อเปรียบกับทั่วโลก แนะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประสาน วางมาตรการแก้ปัญหาถาวร หวั่นกระทบการท่องเที่ยว ย้ำต้องฝึกปฐมพยาบาลภายใน 5 นาที จะมีโอกาสรอดสูง ...

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 58 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องทะเลและสิ่งแวดล้อม  และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เปิดเผยกับ ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ เกี่ยวกับการจัดการแมงกะพรุนกล่องในประเทศไทย ว่า แมงกะพรุนกล่อง สามารถพบได้ทั่วไปบริเวณชายฝั่ง ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน บริเวณน้ำลึกและน้ำตื้น ซึ่งในประเทศไทยพบมากที่บริเวณเกาะสมุย และเกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี วิธีการสังเกตแมงกะพรุนกล่อง ถือว่ายากมาก เนื่องจากตัวใส ส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตอยู่ใต้น้ำ ไม่ลอยขึ้นมาบนผิวน้ำ และว่ายน้ำค่อนข้างเร็ว หากเล่นน้ำในช่วงเดือน มิ.ย.-ธ.ค. ซึ่งเป็นฤดูฝน คงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ ยอมรับว่าปัญหาแมงกะพรุนของประเทศไทยอยู่ในภาวะเสี่ยง จากสถิติผู้เสียชีวิต 3 คน ในรอบ 14 เดือน ถือว่าเยอะเมื่อเทียบกับทั่วโลก ฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน โดย 4 หน่วยงานหลัก จำเป็นต้องวางแนวทางการทำงานที่ชัดเจน นั่นคือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สังกัดกระทรวงทรัพยากรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการสำรวจพื้นที่เสี่ยง เตรียมข้อมูลทั้งหมดให้คนเข้าใจ พร้อมจัดรูปแบบจุดประชาสัมพันธ์ในแต่ละพื้นที่, กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนด้านงานวิจัย รวมถึงทีมแพทย์และพยาบาลในพื้นที่เสี่ยง, กรมการแพทย์ทหารเรือ ดูแลทางด้านเวชศาสตร์ทางทะเล การปฐมพยาบาลฉุกเฉิน และจัดอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นทางทะเลตามแบบสากล และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดูแลในด้านการหารือกับเครือข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยว การจัดจุดประชาสัมพันธ์และปฐมพยาบาลเบื้องต้น

รวมทั้งประสานกับโรงแรมเพื่อชี้แจงการดูแลนักท่องเที่ยว รวมไปถึงหน่วยงานในระดับจังหวัด และเครือข่ายผู้ประกอบการในพื้นที่ ต้องมีการฝึกซ้อมการปฐมพยาบาลแมงกะพรุนเบื้องต้น โดยใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที โอกาสรอดชีวิตนับว่าสูง หากทำได้ตามนี้ เราจะเรียกความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวในเรื่องความปลอดภัยกลับมาได้อย่างแน่นอน

...