สำนักงานศาลปกครองชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ปม ก.ศป. มีมติให้ "หัสวุฒิ" ปธ.ศาลปกครองสูงสุด พ้นราชการ-ตำแหน่ง กรณีจดหมายน้อยฝากตำรวจ...
ตามที่สํานักงานศาลปกครองได้เผยแพร่เอกสารข่าวมติ คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) เรื่องผลการสอบสวน นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับ เลขาธิการสํานักงานศาลปกครอง และประธานศาลปกครองสูงสุด กรณีการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจ ตามเอกสารข่าวลง วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๘ นั้น สํานักงานศาลปกครองขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมดังนี้
๑. การพิจารณาและมีคําสั่งให้ประธานศาลปกครองสูงสุดออกจากราชการเป็นการพิจารณาโดย คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ซึ่งประกอบด้วย ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานโดยตําแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจํานวน ๙ คน ซึ่งเป็นตุลาการในศาลปกครองและได้รับเลือกจากตุลาการศาลปกครอง กับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา ๒ คน และจากคณะรัฐมนตรีอีก ๑ คน ซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ท่านหนึ่งเคยดํารงตําแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการตุลาการ ของศาลยุติธรรม (กต) อีกท่านหนึ่งดํารงตําแหน่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนอีกท่านหนึ่ง เคยดํารงตําแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด
๒. การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเป็นอํานาจของ ก.ศป. ตามมาตรา ๒๔ วรรคหนึ่ง แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งออกคําสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และข้อ ๖ ของระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครอง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตําแหน่ง พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้กําหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการสอบสวน ในกรณีที่ ประธานศาลปกครองสูงสุด ถูกกล่าวหา โดยให้คณะกรรมการประกอบด้วยตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการหัวหน้า คณะศาลปกครองสูงสุด จํานวน ๔ คน กับกรรมการข้าราชการพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน จํานวน ๑ คน และข้อ ๒๗ ของระเบียบดังกล่าว กําหนดให้ ก.ศป. มีอํานาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบ ดังนั้น เมื่อ ก.ศป. เห็นว่ากรรมการที่ ก.พ. แจ้งมามีคุณสมบัติไม่ถูกต้องเหมาะสม อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบ ก.ศป. ย่อมมีอํานาจพิจารณาวินิจฉัยและแจ้งให้ ก.พ. ทบทวนได้ ตามข้อ ๒๗ ของระเบียบดังกล่าว ซึ่งกรณีนี้ไม่ใช่กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาคัดค้านกรรมการสอบสวนหรือกรรมการเห็นว่า ตนมีเหตุอันอาจถูกคัดค้านแต่อย่างใด
...
๓. เมื่อ ก.ศป. มีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว หาก ก.ศป. เห็นว่าการให้ผู้ถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จะเป็นการเสียหายแก่ราชการ ก.ศป. ย่อมมีอํานาจสั่งพักราชการได้ตามมาตรา ๒๔ วรรคสาม แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้กําหนดให้ คณะกรรมการสอบสวนต้องเสนอความเห็นมาก่อนแต่อย่างใด เพียงแต่ในระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและ สิทธิของตุลาการศาลปกครอง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตําแหน่ง พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้ให้อํานาจคณะกรรมการ สอบสวนเสนอความเห็นต่อ ก.ศป. ทั้งก่อนการสอบสวนและในระหว่างการสอบสวน ว่าสมควรจะสั่งพักราชการตุลาการศาลปกครองผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ด้วย ทั้งนี้ เมื่อ ก.ศป. มีคําสั่งพักราชการผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ฟ้องคดีปกครอง เพื่อขอเพิกถอนคําสั่งพักราชการแต่อย่างใด แต่ได้ฟ้องคดีอาญาว่า ก.ศป. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งศาลอาญามีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า ก.ศป. มีอํานาจสั่งพักราชการผู้ถูกกล่าวหาได้ โดยคณะกรรมการสอบสวนไม่ต้องเสนอความเห็นต่อ ก.ศป. ก่อน
๔. การสอบสวนและการเสนอความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนที่ ก.ศป. แต่งตั้ง เป็นการพิจารณาทางปกครองที่จะนําไปสู่การออกคําสั่งทางปกครองเท่านั้น ไม่ใช่การมอบอํานาจให้คณะกรรมการสอบสวนวินิจฉัย หรือมีคําสั่งทางปกครอง ความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนจึงไม่ผูกมัดให้ ก.ศป. ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้ง คณะกรรมการสอบสวน ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งมีคําพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยไวัเป็นบรรทัดฐานหลายคดีแล้ว (นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ก็เคยเป็นตุลาการเจ้าของสํานวนพิพากษาคดี โดยนําหลักดังกล่าวมาตัดสินคดี เช่น คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.๑๒๒/๒๕๕๑ และคดีหมายเลขแดงที่ อ.๓๒๕/๒๕๕๑) โดยข้อ ๒๓ ของระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครอง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตําแหน่ง พ.ศ. ๒๕๔๔ กําหนดให้คณะกรรมการสอบสวนทํารายงานการสอบสวนเสนอต่อ ก.ศป. แต่อํานาจในการพิจารณาวินิจฉัย ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทําความผิดหรือไม่ เป็นอํานาจของ ก.ศป. ตามข้อ ๒๔ ของระเบียบดังกล่าว ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้เสนอรายงานการสอบสวนมาแล้ว แต่ ก.ศป. เห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอรับฟังได้ตามข้อกล่าวหา แต่คณะกรรมการสอบสวนยังไม่ได้แจ้งผู้ถูกกล่าวหา ถึงพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาและให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ก.ศป. จึงมีอํานาจสั่งให้คณะกรรมการสอบสวนดําเนินการได้ ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนก็ได้ดําเนินการตามคําสั่งของ ก.ศป. แล้ว
๕. พยานหลักฐานจากการสอบสวนรับฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหารู้เห็นเป็นใจและรับทราบในกรณีที่ เลขาธิการสํานักงานศาลปกครอง มีจดหมายน้อยถึงผู้บังคับบัญชาของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ว่าผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งดํารงตําแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด ประสงค์จะให้มีการเลื่อนตําแหน่งแก่เจ้าหน้าที่ตํารวจที่มาช่วยงานให้ดํารงตําแหน่ง ผู้กํากับการ ซึ่งการมาช่วยงานดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนตัว ที่สํานักงานศาลปกครองไม่ได้ร้องขออย่างเป็นทางการ การกระทําดังกล่าวในขณะที่ศาลปกครองมีอํานาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีการแต่งตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีคดีประเภทนี้อยู่ในศาลเป็นจํานวนมาก ย่อมเป็นปรปักษ์ต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการของผู้ถูกกล่าวหา และกระทบต่อภาพลักษณ์ของศาลปกครอง ซึ่งไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นผู้ใช้ให้กระทํา หรือ รู้เห็นเป็นใจ ก็ย่อมเป็นการประพฤติตนไม่สมควร เป็นการกระทําความผิดวินัยฐาน ไม่รักษาเกียรติศักดิ์ของตําแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งคณะกรรมการสอบสวน ได้แจ้งพยานหลักฐานที่แสดงถึงพฤติการณ์แห่งการกระทําทั้งหมดให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้ว กรณีนี้จึงไม่ใช่การเปลี่ยนข้อกล่าวหา และ ก.ศป. พิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่สมควรตามที่กําหนดไว้ในวินัย แห่งการเป็นตุลาการศาลปกครองและมีคําสั่งให้ออกจากราชการ
๖. การพิจารณา กรณี ตุลาการศาลปกครองประพฤติตนไม่สมควร นี้ ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองหรือปัญหาความมั่นคงระดับชาติ เนื่องจากเป็นการดําเนินการ กรณี ตุลาการประพฤติตนไม่สมควร ตามที่ตุลาการศาลปกครองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญร้องเรียนกล่าวหา แต่เป็นการดําเนินการเพื่อไม่ให้ศาลปกครอง ซึ่งเป็นองค์กรตุลาการที่มีอํานาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาอรรถคดีได้รับความเสียหาย จากการกระทําของตุลาการศาลปกครองคนใดคนหนึ่ง และเพื่อให้ศาลปกครองเป็นองค์กรที่ประชาชนมีความเลื่อมใสศรัทธาและเชื่อมั่นตลอดไป
...
จึงเรียนสื่อมวลชนมาเพื่อทราบ
สํานักงานศาลปกครอง
วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๘