ระลึกชาติ...เรื่องราวชวนขนลุกที่มักปรากฏให้เห็นบนหน้าสื่อประเภทต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า เรามักสนใจใคร่รู้ในเหตุการณ์ที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถพิสูจน์ได้เช่นนี้เสมอ โดยเรื่องราวที่กำลังจะพูดถึงต่อจากนี้ คือ เรื่องราว “ข้ามภพ ข้ามชาติ” ที่ถูกประพันธ์ขึ้นจากคุณครูผู้หนึ่ง เรียงร้อยเป็นเรื่องราวชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการระลึกชาติ มิตรภาพ ความรัก และคำสัญญา
หลายต่อหลายคนคงมีโอกาสได้อ่านเรื่องราว “ข้ามภพ ข้ามชาติ” หรืออาจจะเห็นผู้คนแชร์เรื่องราวที่ว่านี้ผ่านหูผ่านตามาบ้าง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ สืบเสาะค้นหา ผู้แต่งเรื่องราวความทรงจำข้ามชาติของเด็กหญิงอรวรรณ เขาผู้นี้เป็นใคร และเรื่องจริงอิงนิยายที่ถูกเรียบเรียงขึ้นมานี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ต้องติดตาม!
...
เปิดปากผู้แต่ง “ข้ามภพ ข้ามชาติ” แต่งขึ้น หรือเรื่องจริง?
ผู้ประพันธ์เรื่องราว “ข้ามภพ ข้ามชาติ” ที่มีผู้อ่านติดตามมากมายล้นโซเชียลในขณะนี้ คือ ครูก้อง พงศ์พรรณ เวชรังษี อาจารย์ผู้สอนวิชานาฏศิลป์และการแสดง โรงเรียนราชนันทาจารย์ สามเสนวิทยาลัย 2 อาจารย์ผู้นี้เปลือยหมดหัวใจถึงเรื่องราวระลึกชาติอันโด่งดังกับทีมข่าวว่า เดิมทีตนเป็นคนใต้ มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่จังหวัดพัทลุง โดยนิสัยส่วนตัวมีความชื่นชอบเรื่องราวเกี่ยวกับความโบราณ หรือเรื่องเล่าเก่าแก่ ซึ่งอยู่มาวันหนึ่ง ครูก้อง ได้มีโอกาสไปพบรูปภาพเด็กหญิงชาวใต้ สมัยปี พ.ศ.2470 ในเว็บไซต์พันทิป จึงเกิดความรู้สึกว่า ภาพๆ นั้นมีความน่าสนใจ สะท้อนบุคลิกลักษณะของคนใต้ในสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญเด็กหญิงแถวล่างซ้ายสุดยังมีหน้าตาเหมือนกับ อรวรรณ ลูกศิษย์ของตนอีกด้วย
“เด็กผู้หญิงคนหนึ่งในภาพ มีหน้าตาคล้ายลูกศิษย์อย่างมาก ก็เลยนึกสนุกก๊อบปี้รูปนี้มาให้นักเรียน และเพื่อนครูด้วยกันได้ดู จึงรู้สึกแปลกใจว่า คนสองคนหน้าคล้ายคลึงกันมาก แต่มากันคนละช่วงเวลา คนละภพคนละชาติ จึงพูดเล่นๆ กับลูกศิษย์ว่า ถ้าสมมติคนๆ นี้คืออรในชาติก่อน แล้วกลับมาเป็นอรในชาตินี้อีกครั้ง มันคงจะแปลกดีนะ ต่อมาจึงไปเขียนอำลูกศิษย์กับเพื่อนในเฟซบุ๊ก แต่ไม่ได้เปิดเป็นสาธารณะ พออำเสร็จ เขาก็เชื่อกันมาก” ครูก้อง ผู้แต่งข้ามภพ ข้ามชาติ เล่าให้ทีมข่าวฟังอย่างเปิดเผย
โดยเรื่องราวที่กำลังโด่งดังอยู่ ณ ขณะนี้ ครูก้องได้นำบุคคลและสถานที่ในโลกความเป็นจริง ผนวกเข้ากับจินตนาการ หยิบโยงเป็นเรื่องราวความรักระหว่างเพื่อนที่อยู่กันต่างภพต่างเวลา ในสถานภาพของความเป็นเพื่อน ออกมาเป็นเรื่องราวข้ามภพ ข้ามชาติ ซึ่งครูก้องยอมรับกับทีมข่าวว่า “เรื่องนี้มีส่วนจริงอยู่เยอะ แต่เค้าโครงทั้งหมดเป็นเรื่องแต่ง ไม่มีจริงโดยสิ้นเชิง”
จุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจ เรียงร้อยเรื่องราว ข้ามภพ ข้ามชาติ
ณ เวลานั้น ครูก้องเขียนและเผยแพร่ลงในโลกออนไลน์ไปทั้งหมด 3 ตอน ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ให้ความเคารพนับถือเข้ามาพูดคุยและแสดงความชื่นชอบอย่างมาก จึงทำให้ครูก้องเกิดแรงบันดาลใจ และตัดสินใจเขียนตอนที่ 4, 5 และ 6 ต่อไป
เมื่อเข้าตอนที่ 4-5 นั้น มีผู้ทักเข้ามาในเฟซบุ๊ก เพื่อขอแชร์เรื่องเล่าเป็นจำนวนมาก ซึ่งศักดิ์กรินทร์ แก้วสุขโข คุณครูโรงเรียนเอกชน ซึ่งเป็นศิษย์เก่าที่สนิทสนมและติดต่อกันอยู่เนืองๆ เป็นอีกหนึ่งคนที่เข้ามาขอแชร์เรื่องราวลงบนหน้าเฟซบุ๊กของตัวเอง เพื่อเป็นช่องทางให้ลูกศิษย์สามารถเข้ามาอ่านได้ และมีจุดประสงค์ที่จะสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กนักเรียนของเขา เพราะเดี๋ยวนี้เด็กๆ อ่านหนังสือกันน้อย บางทีต้องใช้วิธีหลอกล่อให้เด็กๆ อ่านหนังสือด้วยบทความที่น่าอ่าน
“วิธีหลอกล่อให้เด็กอ่านหนังสือของครูศักดิ์กรินทร์ คือ การลบข้อความลงท้ายด้านล่างของผมที่เขียนชี้แจงไว้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องแต่ง ซึ่งผมก็ถามเขาว่า ไปลบออกทำไม เขาก็แจงมาว่า หากบอกว่าเป็นเรื่องไม่จริง ลูกศิษย์ผมเขาก็ไม่อ่านกันนะอาจารย์ ผมก็อ๋อเข้าใจแล้ว ต่อมา ปรากฏว่า มีคนแชร์หลักแสน คนทักเข้ามาในเฟซบุ๊กส่วนตัวมากมาย มีคนโทรมาถามอีกเพียบ ศักดิ์กรินทร์ จึงช่วยสร้างเพจเป็นกิจจะลักษณะขึ้นมาให้” ครูก้องเล่าถึงที่มาของเพจเฟซบุ๊ก ข้ามภพ ข้ามชาติ
...
อย่าเชื่อเป็นตุเป็นตะ! ผู้แต่งกังวล คนก๊อบปี้อ้างเรื่องจริง
ครูก้องได้แสดงความกังวลกับทีมข่าวว่า บางเพจหรือบางเว็บไชต์นำเรื่องดังกล่าวไปเผยแพร่ พร้อมระบุว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ซึ่งสร้างความไม่สบายใจต่อครูก้องเป็นอย่างมาก เพราะอาจเกิดผลกระทบในเรื่องลิขสิทธิ์ของภาพ และญาติของบุคคลในภาพอาจเกิดความไม่พอใจตามมาได้ ซึ่งขัดกับจุดประสงค์ของครูก้องที่ไม่ต้องการให้ผู้อ่านเกิดความงมงาย โดยล่าสุด ครูก้องได้ขอขมาบุคคลในภาพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“สุดท้ายผมก็รู้สึกว่า เราจะไปหลอกคนแบบนี้ไม่ได้ แม้แต่เพื่อนในเฟซบุ๊กเราก็ตาม เราต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม เดี๋ยวเขาเกิดเชื่อจริงๆ อาจเกิดผลกระทบต่อลูกศิษย์เราได้ จึงเขียนชี้แจงไว้บนหน้าเพจข้ามภพ ข้ามชาติ และทิ้งท้ายไว้ด้านล่างของเรื่องว่า เรื่องทั้งหมดที่เขียนมาไม่ได้มีเรื่องจริงเลย” ครูก้อง แสดงความกังวลถึงความเข้าใจผิดๆ ของผู้อ่านที่คิดว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริง
ขณะที่ จุดประสงค์ของการประพันธ์เรื่องราวข้ามภพ ข้ามชาติของครูก้อง คือ อยากให้ผู้อ่านรู้จักวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นตรี อายุเก่าแก่กว่า 400 ปี และมโนราห์ หรือ โนรา ศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้
...
จากใจ ผู้แต่ง ถึง ผู้อ่าน...
ด้วยสำนวนโวหาร ลูกเล่นของการเรียงร้อยเรื่องราวของครูก้องมีความน่าสนใจอย่างมาก ทีมข่าวถามถึงผลงานที่ผ่านมาของครู นักประพันธ์ท่านนี้ ได้รับคำตอบว่า “ไม่เคยมีผลงานอะไร แต่อาศัยว่าเขียนบ่อย เช่น เขียนวิจารณ์สถานการณ์บ้านเมือง ความคิดเห็นที่มีในสังคมหรือชีวิต โดยสมัยเรียนสามารถสอบชิงทุนไปเผยแพร่วัฒนธรรมที่ประเทศญี่ปุ่นได้ และเมื่อปีที่ผ่านมา ก็นำเด็กไปแสดงนาฏศิลป์ไทยที่กรุงกว่างโจว ประเทศจีน”
โดยครูก้อง ฝากถึงผู้อ่านที่กำลังติดตามเรื่องราวข้ามภพ ข้ามชาติว่า “กราบขอบพระคุณมากที่ให้ความกรุณา ผมเป็นครูธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ได้รู้สึกว่า ตัวเองมีค่าอะไรกับสังคม แต่ตอนนี้รู้สึกว่า เรามีค่ามากขึ้นในแง่ที่ทำให้เด็กหลายคน ที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ มาอ่านสิ่งที่ผมเขียนขึ้น และขอเตือนผู้อ่านว่า อย่าเชื่อ เพราะเรื่องทั้งหมดนี้เป็นจินตนาการ”
...
ไม่คิดไม่ฝัน! ศิษย์ครูก้อง แชร์เรื่องระลึกชาติ ดังกระหึ่มโซเชียลฯ
นายศักดิ์กรินทร์ แก้วสุขโข คุณครูโรงเรียนเอกชน วัย 27 ปี ในฐานะที่เป็นผู้นำเรื่องราว “ข้ามภพ ข้ามชาติ” ออกมาเผยแพร่ลงในโลกสังคมออนไลน์ จนครูก้องขนานนามว่า “ศักดิ์กรินทร์เป็นบรรณาธิการของเรื่องๆนี้” เปิดเผยกับทีมข่าวว่า ทางตนได้ติดต่อกับครูก้องตลอด ซึ่งตอนนี้ครูก้องค่อนข้างงานยุ่งและรู้สึกกดดัน เนื่องจากมีผู้ติดตามอ่านเรื่องราว และมีผู้เข้ามาทวงถามความคืบหน้าของเรื่องบนหน้าเพจเฟซบุ๊กเป็นจำนวนมาก ซึ่งเดิมทีแล้ว เรื่องราวในตอนแรกๆ ครูก้องอาศัยใช้เวลาว่างในการเขียน หรือมีอารมณ์อยากเขียนเมื่อไหร่ก็จะเขียน แต่ตอนนี้ผู้อ่านเข้ามาเร่งเร้าให้ครูก้องเขียนเสร็จเร็วๆ จึงทำให้ครูก้องกดดัน และไม่มีสมาธิ
“ตัวละครและสถานที่ที่ครูก้องได้เขียนล้วนมีอยู่จริง ครูก้องจึงหยิบโยงตัวละคร สถานที่ให้เข้ากับภาพโบราณ และบรรจงร้อยเรียงด้วยสำนวนเฉพาะของครูก้องให้ออกมาเป็นเรื่องราวข้ามภพ ข้ามชาติอย่างที่หลายคนได้อ่าน” ศิษย์ คนสนิทของครูก้อง กล่าวด้วยน้ำเสียงชื่นชมในตัวครูของเขา
อย่างไรก็ตาม ทีมข่าวได้ลงพื้นที่ไปยัง วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร (วัดกลาง) จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นวัดที่ใช้เป็นสถานที่ในการดำเนินเรื่องข้ามภพ ข้ามชาติ ซึ่งปรากฏว่า วัดดังกล่าวมีอยู่จริง ต่อมาทีมข่าวได้เดินทางไปยังร้านถ่ายภาพตามคำบอกเล่าของ ครูก้อง ที่ระบุไว้แก่ทีมข่าวโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นร้านที่เด็กหญิงอรวรรณ ไปพบภาพโบราณภาพของหญิงสาวชาวใต้ ในยุค 2470 ซึ่งร้านดังกล่าว เคยเปิดบริการอยู่จริง แต่ปัจจุบันปิดทำการไปนานหลายปีแล้ว
โดยในตอนต่อไป จะเป็นรายงานพิเศษที่รวมเรื่องราวระลึกชาติอันโด่งดัง จนกลายเป็นที่โจษจันในสังคมไทย และยังต้องถูกบันทึกไว้บนหน้าหนังสือพิมพ์ ติดตามได้ในที่นี่ (15 ก.ย.2558)
ถัดมาในวันที่ (16 ก.ย.2558) เป็นบทสรุปของเรื่องราวระลึกชาติ กับข้อสงสัยที่ผูกติดอยู่ในหัวคนไทยเสมอมา ระลึกชาติ เป็นการมโน หรือเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ ติดตามได้ที่นี่