นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ประดิษฐ์เสื้อเกราะกันกระสุนจากรังไหมที่แรกของโลก ยืดหยุ่นทนทาน จดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อย เผยหยุดยั้งกระสุนขนาด .22 และ .38 ได้ที่ระยะ 3 เมตร จ่อต่อยอดกันกระสุน M-16...
เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2558 ที่ห้องประชุมสิริคุณากร 4 สำนักงานอธิการบดีฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ผศ.ดร.รัชฎา ตั้งวงศ์ไชย ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในการแถลงข่าว นักวิจัย มข.พบสื่อมวลชน เรื่องเสื้อเกราะรังไหมกันกระสุน ครั้งแรกของโลก ซึ่งทีมนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. ได้ทำการผลิตและคิดค้นขึ้น พร้อมทั้งมีการจดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของ มข.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ผศ.ดร.พนมกร ขวาของ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. กล่าวว่า นวัตรกรรมในการพัฒนารังไหมให้เป็นเกราะกันกระสุน เกิดขึ้นจากสภาพพื้นที่โดยรวมของขอนแก่นเป็นพื้นที่ชนบทและชาวบ้านส่วนใหญ่ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอย่างมาก จนกลายเป็นจังหวัดผลิตผ้าไหมที่มีชื่อเสียงและสวยงามติดอันดับต้นๆ ของไทย ที่มียอดการสั่งซื้อจากกลุ่มตลาดภายในประเทศและต่างประเทศอย่างมาก และเมื่อมีการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและพูดคุยกับกลุ่มผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยเฉพาะกับกลุ่มหัตถกรรมผ้าของฝาก อ.ภูเวียง ในการที่จะยกระดับรังไหมให้เป็นสิ่งประดิษฐ์หรือผลผลิตในด้านต่างๆ ทีมนักวิจัย มข. จึงได้นำเอาจุดเด่นของรังไหมที่มีความยืดหยุ่นนำหนักเบามาทำการทดลองจนกลาย มาเป็นแนวคิดในการทำเสื้อเกราะกันกระสุนที่ทำจากรังไหม ด้วยสมมติฐานที่ว่ามีความยืดหยุ่น น้ำหนักเบา ราคาถูก ต้านทานแรงกระแทกได้ดี
อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.กล่าวต่อว่า ทีมวิจัยจึงได้เริ่มทำการทดสอบด้วยการนำรังไหม ที่ยังไม่ผ่านการสาวไหม หรือที่ผ่านการสาวไหมแล้วแต่ต้องเหลือใยไหม อย่างใดอย่างหนึ่ง มาทำการจัดวางลงในแม่พิมพ์ที่จัดทำขึ้นเฉพาะ จากนั้นเทเรซินชนิดพิเศษลงบนรังไหมเพื่อให้รังไหมยึดเกราะกัน ก่อนที่จะนำไปอัดด้วยเครื่องไฮโดรลิก และทำการบ่มเป็นเวลา 8 ชั่วโมง ก็จะได้เกราะไหมกันกระสุนที่มีความหนาประมาณ 14-20 มิลลิเมตร และมีน้ำหนักโดยรวมอยู่ที่ 2.5-4 กก. ปัจจุบันการผลิตเกราะกันกระสุนดังกล่าวยังคงอยู่ในขั้นตอนของการทดลอง โดยทีมนักวิจัย มข.จัดทำขึ้นเพียงรูปแบบเดียวคือการรองรับและป้องกันเฉพาะในกลุ่มอาวุธปืนพกสั้น ประเภท .38 และ .22 ซึ่งได้มีการยื่นเรื่องขอจดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของ มข.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจากนี้ไปคือการพัฒนาเกราะกันกระสุนดังกล่าวให้สามารถรองรับการปฏิบัติงาน ในกลุ่มอาวุธหนักและอาวุธสงคราม โดยเฉพาะกับอาวุธปืน เอ็ม 16 ให้ได้
...
“แรงบันดาลใจของการพัฒนารังไหม ถือเป็นวัตถุดิบพื้นบ้านของภาคอีสาน และพบมากที่ขอนแก่น จนกลายมาเป็นเสื้อเกราะกันกระสุนที่ทำจากรังไหมครั้งแรกของโลกนั้นคงหนีไม่ พ้นภาพรวมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ส่งผลต่อการได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ขณะเดียวกันเสื้อเกราะกันกระสุน โดยเฉพาะกลุ่มเกราะอ่อนก็มีน้ำหนักที่มาก บางประเภทไม่สามารถป้องกันการยิงซ้ำหรือต้านทานแรงกระแทกได้ บางชนิดสามารถใช้งานได้ไม่กี่ครั้งก็ไม่สามารถใช้งานได้อีกและที่สำคัญของดี ก็ยิ่งราคาแพง จึงนำจุดเด่นของใยไหมมาทำการวิจัยและจัดทำขึ้นตามหลักวิศวกรรมเคมี เพราะคุณสมบัติของรังไหมนั้นมีความแข็งแรงสูง ยืดหยุ่นได้ดีและยังคงสามารถหดตัวกลับคืนได้ทันที ซึ่งเมื่อทำการผลิตเกราะกันกระสุนดังกล่าวแล้วเสร็จได้ทำการทดสอบด้วยการใช้ อาวุธปืนขนาด .38 และ .22 ด้วยกระสุนจริง จากการยิงพบว่าสามารถป้องกันการยิงได้ในระยะ 3 เมตร ซึ่งเป็นการป้องกันในระดับ 1 ตามมาตรฐานสากล ขณะเดียวกันยังคงพบอีกว่าเสื้อเกราะรังไหมกันกระสุนนั้นยังคงมีคุณสมบัติ เด่นในเรื่องของความยืดหยุ่นตัวสูงมาก สามารถที่จะดูดหัวกระสุนไว้ในเกราะ ไม่ทำให้เกิดการแฉลบสู่บุคคลข้างเคียงอีกด้วย” ผศ.ดร.พนมกร กล่าว
อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.กล่าวอีกว่า จากการทดสอบด้วยกระสุนจริงยังคงพบอีกว่าเสื้อเกราะกันกระสุนจากรังไหมนี้ ยังคงสามารถต้านทานแรงกระแทกได้ดี ไม่ทำให้เกราะแตกหรือทำให้เกิดการบอบช้ำภายในของร่างกายของผู้ที่สวมใส่ และไม่ยุบตัวไปตามแรงของกระสุน อีกทั้งยังคงสามารถป้องกันการยิงซ้ำได้ดีจากการคงรูปของเกราะที่ไม่เกิดความ เสียหายหรือยุบตัวหลังจากการถูกยิงไปแล้ว นอกจากนี้ยังคงมีน้ำหนักเบา ราคาถูกกว่าเกราะกันกระสุนโดยทั่วไปมากถึง 3 เท่า มีอายุการใช้งานทนทานกว่าเกราะกันกระสุนต่างๆ ทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มประเภทแผ่น เหล็ก อย่างไรก็ตามจากนี้ไปจะมีการยกระดับการทดลองไปสู่การเป็นเสื้อเกราะกัน กระสุนในกลุ่มอาวุธสงครามและอาวุธหนัก ไม่นับรวมกลุ่มประเภทระเบิด ด้วยการทำให้เกราะมีความหนาขึ้น โดยจะทำการคิดค้นการเพิ่มเส้นใยพิเศษเข้าไปเพื่อให้สามารถต้านทานความเร็ว ของกระสุนปืนในประเภทต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานสากลหรือตามมาตรฐานของ National Institute of Justice(NIJ) โดยเฉพาะกับการเพิ่มความหนา และน้ำหนักของเสื้อเกราะให้บางและเบาขึ้น ให้ได้ภายใน 2 ปี ต่อจากนี้
ผศ.ดร.พนมกร กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับงานวิจัยดังกล่าวยังคงได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวด โครงการพัฒนาภูมิปัญญาสู่นวัตกรรม ภาคอีสานตอนบน ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดย มข.เตรียมพิจารณาในการมอบสิทธิบัตรดังกล่าว และแนวทางการวิจัยดังกล่าวใน กลุ่มประเภทยุทธภัณฑ์ทางทหารและความมั่นคงส่งมอบให้กับทหารและตำรวจ เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตให้กับผู้ปฏิบัติงาน โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดอีกด้วย.