รก.ประมงจังหวัดอุดรฯ นำทีม ‘ไกรทอง’ ออกหาจระเข้ในทะเลบัวแดง ฟันธงเป็นจระเข้เลี้ยงที่คนมาปล่อยชัวร์ เพราะเชื่อง ตามตัวไม่มีร่องรอยขูดขีด เผยตำนานรัก ผาแดง-นางไอ่ คำว่า ‘กุมภะ’ ไม่ใช่จระเข้ แต่หมายถึงปั้นหม้อ...
กรณีมีคนไปตกปลาในแหล่งน้ำบริเวณหนองหานกุมภวาปี ‘ทะเลบัวแดง’ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง แล้วตกได้ลูกจระเข้มา 1 ตัว ทำให้เกิดข้อถกเถียงโต้แย้งระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ว่า จระเข้ตัวนี้เป็นจระเข้เลี้ยงที่ถูกนำมาปล่อย หรือเป็นลูกจระเข้ที่มาจากแม่จระเข้ ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 28 ส.ค.58 นายวิยะ ด้วงแพง รักษาการประมง จ.อุดรธานี นายพรหมเพชร ดวงมะลา รักษาการ หน.สำนักบริหารจัดการประมงน้ำจืด เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น พร้อมกับทีมล่าจระเข้ หรือชุด ‘ไกรทอง’ รวม 5 นาย เดินทางมาที่บ้านดอนแก้ว หมู่ 5 ต.กุมภวาปี อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี เพื่อตรวจสอบ ‘ลูกจระเข้’ ที่ชาวบ้านจับได้บริเวณท่าเรือวัดบ้านดอนแก้ว ในหนองหานกุมภวาปีซึ่งหลังตรวจสอบได้ขอนำจระเข้ไปเลี้ยงไว้ เพราะจระเข้เป็นสัตว์ป่าสงวนในบัญชีไซเตส จากนั้นได้เรือเร็วออกสำรวจพื้นที่
นายวิยะ ด้วงแพง รักษาการประมง จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า จระเข้ที่ชาวบ้านจับได้จากหนองหานฯ เป็นจระเข้ที่เกิดและเลี้ยงในฟาร์มแน่นอน เป็นจระเข้พันธุ์ไทยที่นิยมเลี้ยง อายุประมาณ 2 ปี ราคาซื้อขายราวตัวละ 3-4 พันบาท ถูกคนนำมาปล่อยไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ โดยสภาพร่างกายมีความสมบูรณ์ ไม่มีร่องรอยการอาศัยอยู่ในธรรมชาติ ทั้งรอยขูดขีดตามร่างกาย และไม่มีตะไคร่น้ำตามตัว ตลอดจนมีนิสัยไม่ดุร้าย เชื่องกับคน จับวางลงพื้นก็นอนนิ่งไม่ไปไหน
"นายณรงค์ พลละเอียด รอง ผวจ.อุดรธานี รักษาการผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ได้ขอให้สำนักงานประมง จ.อุดรธานี สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน จึงประสานขอทีมไกรทองจากเขื่อนอุบลรัตน์ ที่มีประสบการณ์และชำนาญ มีเครื่องมือเฉพาะเข้ามาปฏิบัติการ สำรวจ และติดตามหาจระเข้ ที่ชาวบ้านบางคนเชื่อว่ามีอยู่ในพื้นที่ พร้อมทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ถึงข้อเท็จจริงของจระเข้ที่พบ"
...
รักษาการประมง จ.อุดรธานี กล่าวอีกว่า ใครครอบครองจระเข้ต้องได้รับอนุญาต ถ้าไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุก 4 ปี ปรับ 40,000 บาท ในพื้นที่อุดรธานีมีผู้แจ้งเลี้ยง 7 ราย เป็นรายย่อย 5 ราย แยกเป็นที่ต.นิคมสงเคราะห์ อ.เมืองอุดรธานี 5 ตัว, ต.หมากแข้ง อ.เมืองอุดรธานี 1 ตัว, ต.สามพร้าว อ.เมืองอุดรธานี 2 ตัว, ต.หนองนาคำ อ.เมืองอุดรธานี 2 ตัว, ต.โนนสะอาด อ.โนนสะอาด 2 ตัว ฟาร์มใหญ่ 2 แห่ง คือ ต.หนองเม็ก อ.หนองหาน เลี้ยง 300 ตัว และต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม เลี้ยงพ่อแม่จระเข้เพื่อเพาะพันธุ์ เป็นฟาร์มระบบปิด ไม่หลุดออกมาอย่างแน่นอน
ด้าน นายพรหมเพชร ดวงมะลา รักษาการ หน.สำนักบริหารจัดการประมง เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ทุกปีประมงจะออกสำรวจหนองหานฯ และแหล่งน้ำใหญ่ ไม่เคยมีรายงานการพบจระเข้ในธรรมชาติ ที่ผ่านมาหากได้รับแจ้งพบจระเข้ ก็จะเป็นจระเข้ที่หลุดจากฟาร์ม หรือสัตว์อื่นที่มีลักษณะคล้ายกับจระเข้ ซึ่งโดยธรรมชาติของจระเข้เลี้ยง จะไม่มีพฤติกรรมเป็นนักล่า แม้จะหลบไปอยู่ในที่ไกลๆคน แต่เมื่อมันหิว ก็จะมาหาคน เพราะคนเคยให้อาหารมัน เหมือนกับสัตว์เลี้ยงทั่วไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ จึงมีทีมสำรวจติดตามจระเข้ 1 ทีมจำนวน 5 คน นำเรือเร็ว อุปกรณ์ไฟส่องสว่าง และเครื่องช็อตไฟฟ้า มาปฏิบัติการทั้งกลางวันกลางคืน โดยช่วงกลางวันจะออกสำรวจแหล่งที่น่าจะเป็นที่อาศัย หรือหากิน จากร่องรอยที่ถูกทิ้งไว้ แล้วจะกลับมาตรวจอีกครั้งช่วงกลางคืน เมื่อเห็นจนมั่นใจว่าเป็นจระเข้ ก็จะเข้าปฏิบัติการช็อตไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้จระเข้สลบ นำออกจากแหล่งน้ำได้ ช่วงนี้จึงต้องขอให้ชาวบ้านงดลงไปในหนอง เพื่อให้สัตว์ออกมา
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ชาวบ้านที่อาศัยรอบหนองหานกุมภวาปี มีความเชื่อเรื่องจระเข้ในหนองหานต่างกัน บางส่วนเชื่อว่าไม่มีจระเข้ในหนองหาน หรือลำน้ำปาวมาก่อน ตำนานหรือนิทานพื้นบ้าน เช่น ‘ตำนานรัก ผาแดง-นางไอ่’ ในตำนานก็ไม่มีจระเข้ อีกทั้งคำว่า ‘กุมภะ’ ไม่ได้หมายถึงจระเข้ แต่หมายถึงปั้นหม้อ ขณะฝ่ายที่เชื่อ เนื่องจากมีบันทึกประวัติของ ‘หลวงปู่พิบูลย์’ วัดบ้านแดง อ.พิบูลย์รักษ์ ระบุว่าหลวงปู่มาปราบจระเข้ที่ ‘เกาะเกตุ’ หรือใกล้ๆ บ้านดอนแก้ว ด้วยการสะกดให้จระเข้ไม่ขึ้นมาทำร้ายชาวบ้าน.