เจียดงบทุกกระทรวงขอส่งมอบเป็น 2 งวดเดือนพค.และพย.59
มหากาพย์ทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย “คลองด่าน” ได้ข้อยุติกระทรวงทรัพยากรฯ ยอมจ่าย “ค่าโง่” 9 พันล้านบาท ถ้วนหลังเจรจาสำเร็จ แบ่งจ่ายเป็น 2 งวดใช้งบประมาณปี 2559 งวดแรกจ่าย เดือน พ.ค. 3 พันล้านบาท งวดสองเดือน พ.ย. อีก 6 พันล้านบาท เผยเจียดงบประมาณจากทุกกระทรวงตั้งแต่ 2-10 เปอร์เซ็นต์มาจ่าย “เกษมสันต์” ปลัดกระทรวงฯครวญไม่ต้องถามว่าเจ็บปวดแค่ไหน หน่วยงานอื่นไม่มีเอี่ยวยังต้องร่วมรับผิดชอบ
ลงตัวแล้วสำหรับการเสีย “ค่าโง่” กรณี “คลองด่าน” หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเมื่อวันที่ 21 พ.ย.2557 ให้กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ่ายค่าเสียหายให้แก่กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ผู้ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ กรณีที่กรมควบคุมมลพิษบอกเลิกสัญญา ก่อนที่กิจการร่วมค้าจะดำเนินโครงการแล้วเสร็จ เป็นเงิน 9,618 ล้านบาท ต่อมา กรมควบคุมฯได้เจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ขอลดดอกเบี้ย รวมทั้งหาวิธีการที่จะทำให้รัฐไม่เสียเปรียบ ใช้ระยะเวลาประมาณ 8 เดือน ล่าสุด ได้ข้อสรุปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยเมื่อวันที่ 6 ส.ค. นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดถึงความคืบหน้ากรณีการจ่ายค่าเสียหายให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจีว่า ขณะนี้การเจรจาระหว่างกระทรวงทรัพยากรฯ และกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ได้ข้อสรุปแล้วว่า 1.บริษัทร่วมค้าฯ ยอมหยุดการคิดดอกเบี้ยรายวัน วันละ 1.8 ล้านบาท นับจากวันที่ 29 พ.ย.2557 ที่ศาลมีคำสั่งให้จ่ายจนถึงปัจจุบัน 2. เงินที่จะต้องชำระจริง จำนวน 9,000 ล้านบาทถ้วน โดยแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด งวดแรกจ่ายเดือน พ.ค. ปี 2559 จำนวน 3,000 ล้านบาท งวดที่สองเดือน พ.ย. ปี 2559 จำนวน 3,000 ล้านบาท งวดที่สามเดือน พ.ค. ปี 2560 อีก 3,000 ล้านบาท
...
นายเกษมสันต์กล่าวอีกว่า จากข้อเสนอดังกล่าว กลุ่มกิจการร่วมค้าฯได้แย้งว่าสำหรับงวดสุดท้าย เลยปีงบประมาณไปแล้ว จะขอคิดดอกเบี้ยตามปกติ ขณะที่กระทรวงทรัพยากรฯ ได้นำข้อเสนอดังกล่าวส่งไปยังสำนักงบประมาณ และสำนักงบประมาณทำหนังสือกลับมาว่าให้ไปเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ให้ลดเหลือการจ่ายแค่ 2 งวด เพื่อไม่ให้เสียดอกเบี้ยเพิ่ม จึงได้ข้อสรุปว่ารัฐบาลจะชำระเงิน โดยของบ– ประมาณกลางมาจ่ายให้โดยแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด โดยในเดือน พ.ค. 2559 จ่ายจำนวน 3,000 ล้านบาท และเดือน พ.ย. 2559 จำนวน 6,000 ล้านบาท กระทรวง ได้ทำเรื่องแปรญัตติไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขอเงินจากงบกลางจำนวน 9,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างรอขอกรอบวงเงิน คาดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร
เมื่อถามว่า รัฐบาลจะนำเงินส่วนไหนมาจ่ายเป็นค่าเสียหายให้เอกชน นายเกษมสันต์กล่าวว่า เป็น การนำเงินจากทุกส่วนราชการ ในทุกกระทรวงที่หักไว้ตั้งแต่ 2-10% มาสมทบ โดยแต่ละส่วนราชการสามารถต่อรองได้ตามความจำเป็น เช่น ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรฯนั้น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถูกตัดไป 25 ล้านบาท สำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ 6 ล้านบาท เป็นต้น เมื่อได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วจะนำเสนอต่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีคลองด่าน เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป
เมื่อถามอีกว่า ในฐานะปลัดกระทรวงทรัพยา– กรฯ รู้สึกเจ็บปวดหรือไม่ที่จะต้องจ่ายเงินค่าเสียหายหรือค่าโง่กรณีคลองด่าน นายเกษมสันต์กล่าวว่า ไม่ต้องพูดถึง มันเป็นค่าโง่ เงินจำนวน 9 พันล้านบาทเท่ากับงบประมาณประจำปี ช่วงตั้งกระทรวงทรัพยากรฯ ใหม่ๆ ในช่วง 5 ปีแรก สามารถนำไปทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้มากมาย จึงไม่ต้องถามว่าหน่วยงานอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องแต่ต้องมาร่วมรับผิดชอบด้วยจะรู้สึกอย่างไร
เมื่อถามว่า จริงหรือไม่ที่มูลค่าความเสียหายที่ต้องจ่ายให้กลุ่มกิจการร่วมค้าฯไม่น่าจะเกิน 3,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในเรื่องค่าเสื่อมราคาของอุปกรณ์การก่อสร้างต่างๆ ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศ นายเกษมสันต์กล่าวว่า เรื่องนี้จบลงตั้งแต่ศาลปกครองมีคำพิพากษา เป็นการพิพากษาตามแนวทาง อนุญาโตตุลาการ หากจะต่อสู้ก็ไม่ควรเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตฯตั้งแต่แรก ตนไม่ทราบนโยบายและแนวทางของผู้ดำเนินการในขณะนั้นว่าทำไมและมีเหตุผลอะไรจึงเปลี่ยนแปลงแนวทางการต่อสู้