ชาวบ้านตำบลนิคมสงเคราะห์ จ.อุดรธานี รวม 7 หมู่บ้าน ยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างโรงงานเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า เหตุอยู่ติดชุมชนและสร้างบนพื้นที่ทำกิน อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ทางน้ำ และสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 5 ส.ค.58 ที่หน้า อบต.นิคมสงเคราะห์ อ.เมือง จ.อุดรธานี ชาวบ้านโนนบุญมี บ้านนิคม 1 บ้านนิคม 3 บ้านเตาอิฐ บ้านนิคมพัฒนา บ้านปากดง และบ้านนาแอง ต.นิคมสงเคราะห์ อ.เมือง จ.อุดรธานี จำนวนกว่า 50 คน นำโดย นายธนกฤต วิทยารัตน์ นายถวิล คูณเศรษฐ ตัวแทนชาวบ้านแกนนำคัดค้านโครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะแบบบูรณาการในพื้นที่ อบต.นิคมสงเคราะห์ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือคัดค้าน ต่อนายอนนท์ ศรีพรหม นายก อบต.นิคมสงเคราะห์ โดยมีการนำป้ายมีข้อความคัดค้านโครงการ


การพูดคุยเจรจากันทั้งสองฝ่าย โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ หลังจากนั้นกลุ่มชาวบ้านได้เดินทางต่อไปยังศาลากลางจังหวัดอุดรธานี เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านต่อศูนย์ดำรงธรรม โดยเจ้าหน้าที่ได้รับปากจะยื่นเรื่องไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง โดยชาวบ้านมีการไปถือป้ายคัดค้านร่วมกันพร้อมกับตะโกนคัดค้าน “เราไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะ” “เราไม่เอาขยะ”

...

แกนนำชาวบ้านร่วมกันกล่าวว่า หากมีการก่อสร้างโรงกำจัดขยะดังกล่าว อาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนและพื้นที่ทำกินของชาวบ้านใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมลพิษทางอากาศ ทางน้ำ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ซึ่งเป็นต้นน้ำเพื่อการเกษตร มีคลองน้ำไหลผ่านไปยังหลายหมู่บ้าน เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความแตกแยกในชุมชนอย่างรุนแรง ขาดความสามัคคี จึงขอคัดค้านด้วยประการทั้งปวง โดยโครงการนี้ไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม ที่แท้จริง และประชาชนไม่มีส่วนในการแสดงความคิดเห็น มีการประชาคมที่ไม่โปร่งใส โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยตรวจสอบและพิจารณาเหตุการณ์และข้อมูลดังกล่าวเพิ่มเติมด้วย


ด้าน นายอนนท์ ศรีพรหม นายก อบต.นิคมสงเคราะห์ เปิดเผยว่า โครงการนี้ ได้ดำเนินโครงการร่วมกับภาคเอกชนโดย บริษัทอุดร คลีน เอนเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นนายทุนมาจากประเทศจีน พื้นที่โครงการก็เป็นของนายทุนเอง ทาง อบต.เป็นเพียงหน่วยงานภาครัฐที่เข้าไปกำกับดูแลและรับผลประโยชน์ มีการทำประชาพิจารณ์ก่อนการลงนามไปแล้ว 2 ครั้ง ยืนยันทำถูกต้องตามขั้นตอน และเชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนเป็นอย่างมาก

ปัจจุบัน อบต.มีขยะประมาณ 10 ตันต่อวัน ต้องขนย้ายนำไปกำจัดที่บ่อกำจัดของเทศบาลนครอุดรธานี มีค่าใช้จ่ายรายเดือนหลายหมื่นบาท หากโครงการนี้แล้วเสร็จจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตรงนี้ และ อบต.ยังมีรายได้เพิ่มขึ้น ชาวบ้านมีงานทำ มีปุ๋ยชีวภาพไว้ใช้ในการเกษตร รวมทั้งมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างยั่งยืน หลังจากนี้คงจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมสภาฯ เพื่อทบทวนการดำเนินงาน พูดคุยกับบริษัทและชาวบ้าน หาทางออกร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง.