"โคตรโกงเลือกตั้ง" สมญาที่ไม่พึงประสงค์และไม่ควรจะเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่หากย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.2542 มันเคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทยแลนด์แดนสยามของเรา เหตุไฉนการเลือกตั้งครั้งนั้น มันถึงถูกขนานนามว่า เป็นการ โคตรโกงเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งน้อยใหญ่ในเมืองไทย หลายครั้งที่ผ่านมา ก็มักจะถูกครหาว่าไม่ค่อยสู้จะโปร่งใสนักก็ตาม นั่นก็คงเป็นเพราะ โคตรโกงเลือกตั้ง ดังกล่าวนั้น เป็นครั้งแรกในประเทศของเรา ที่สื่อมวลชนคือสถานีโทรทัศน์ ITV ในสมัยนั้น สามารถจับภาพวินาทีประวัติศาสตร์ที่ชาติต้องจารึกเอาไว้ได้ว่า มีการโกงการเลือกตั้งชนิดไม่ได้เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม หรือกฎหมาย ที่ต้องใช้บังคับกับทุกคนในประเทศนี้ ใดๆ ทั้งสิ้น
" วินาทีที่ว่า นั่นก็คือ จู่ๆ ได้มีชาย 2 คน สวมหมวกกันน็อก วิ่งปรี่เข้าไปในคูหาเลือกตั้งที่ 7 หน้าพิพิธภัณฑ์ทหารเรือ จ. สมุทรปราการ ในวันที่ 2 พ.ค.2542 จากนั้นได้กระทำการที่สุดจะอุกอาจเกินกว่าที่จะมีใครคาดหมาย โดยชายคนแรกตรงเข้าใช้กุญแจที่พกติดตัวมา เปิดหีบบัตรเลือกตั้งอย่างง่ายดาย ส่วนชายคนที่ 2 ได้นำถุงกระดาษที่เตรียมมาซึ่งภายในบรรจุบัตรเลือกตั้งที่มีการกาเลือกเบอร์แล้ว รวมกว่าร้อยใบ ลงไปในหีบบัตรเลือกตั้ง ต่อหน้าต่อตา เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ประจำคูหาเลือกตั้ง รวมถึงประชาชนจำนวนหนึ่งที่มารอใช้สิทธิ โดยที่ทุกคนที่เห็นการกระทำทั้งหมด และส่วนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ที่ต้องอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับการเลือกตั้ง ทำได้เพียงอ้าปากค้าง และหยุดนิ่งราวกับไม่หายใจ ปล่อยให้ชายคนดังกล่าว กระทำการอหังการ ท้าทายความกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยนี้ ตามอำเภอใจ ซึ่งช่วงวินาทีประวัติศาสตร์รอยด่างดำของประเทศนี้ ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที แต่หลังจากสถานีโทรทัศน์ ITV นำเผยแพร่สู่สายตาประชาชน แทบทุกคนในชาติเวลานั้น ต่างตกตะลึงพรึงเพริด ไม่นึกฝันว่า สยามประเทศของเรา จะมีผู้ใดที่หาญกล้ากระทำการอุกอาจได้ถึงเพียงนั้น และนั่น จึงเป็นที่มาของคำว่า โคตรโกงเลือกตั้ง "
...
และเป็นที่มา ที่ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ของเรา จะได้นำทุกท่านนั่งไทม์แมชชีน ย้อนเวลาไปว่า เมื่อปี พ.ศ.2542 มันเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย จนนำไปสู่การทำให้ ผู้กว้างขวางแห่งปากน้ำคนหนึ่ง ต้องคำพิพากษาจำคุก ในปี พ.ศ.2558 หรืออีกกว่า 16 ปี หลังจากนั้น...
บทเริ่มต้นมหากาพย์ "โคตรโกงเลือกตั้ง" ปากน้ำ
ย้อนเวลากลับไป เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2542 ได้มีการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) นครสมุทรปราการ ซึ่งได้เลื่อนฐานะจากเทศบาลเมืองเป็นเทศบาลนคร และนับเป็นครั้งแรกที่ให้ท้องถิ่นดำเนินการจัดการเลือกตั้ง มี ส.ท. ได้ 24 คน มีหน่วยเลือกตั้ง 44 หน่วย โดยมีทีมที่เข้าร่วมลงสมัคร 2 ทีม คือ 1. กลุ่มปากน้ำปี 2000 มีนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เป็นหัวหน้าทีม และ 2. กลุ่มเมืองสมุทร มีนายประสันต์ ศีลพัฒน์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของนายชนม์สวัสดิ์ เป็นหัวหน้าทีม
แต่แม้จะเป็นศึกระหว่างเครือญาติ แต่ก็มีการห้ำหั่นกันอย่างถึงพริกถึงขิง กระทั่งเกิดเหตุการณ์สุดอื้อฉาวในวันนั้น มีหลายหน่วยเลือกตั้งเกิดการทุจริตอย่างชัดเจนหลายรูปแบบ เช่น 1. การใช้กุญแจผีไขหีบบัตรเลือกตั้งทุกหน่วยได้ 2. หย่อนบัตรปลอม 3. การเข้าแย่งบัตรเลือกตั้งจากเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเพื่อกาหมายเลขที่ต้องการนำไปหย่อนในหีบบัตรเลือกตั้ง 4. บุคคลหรือคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งร่วมกันทุจริต โดยช่วยลงคะแนนให้กลุ่มนักการเมืองที่ลงสมัคร 5. แต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 6. ไม่มีการเซ็นแต่งตั้งผู้สังเกตการณ์อย่างเป็นทางการ 7. การใช้สิทธินอกเขต 8. การปิดหีบเลือกตั้งก่อนหมดเวลาลงคะแนน นอกจากนี้ สถานีโทรทัศน์ ITV ในขณะนั้น ยังสามารถจับภาพชายปริศนานำบัตรเลือกตั้งผีมาใส่ในหีบบัตรเลือกตั้งจนเป็นที่ตะลึงงันของประชาชน เป็นอย่างมาก รวมถึงยังมีการร้องเรียนกล่าวหากัน ระหว่างทั้งสองฝ่ายอีกหลายคดี จนทำให้สื่อมวลชนทุกแขนงในขณะนั้น พร้อมใจขนานนามการเลือกตั้งดังกล่าวว่า "โคตรโกงเลือกตั้ง" ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง ได้มีพิธีร่วมดื่มน้ำสาบานที่ทางจังหวัดจัดขึ้นเพื่อรับประกันว่าจะไม่มีการทุจริตในการเลือกตั้งคราวนี้ ก็ตาม
...
ชาวบ้านอึ้ง! ตำรวจอ้างเฉย แค่ดูแลความสงบหน่วยเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ไม่บอก จับคนร้ายไม่ได้
แต่ที่น่าเจ็บปวดสำหรับประชาชนในเวลานั้น เสมือนหัวใจถูกขยี้ด้วยฝ่าเท้า ก็คือ การที่ พ.ต.อ.ประพันธ์ พานิคม ผกก.สภ.เมืองสมุทรปราการ กลับมาให้สัมภาษณ์ปกป้องตำรวจ ที่อยู่ประจำหน่วยเลือกตั้งที่มีปัญหา ซึ่งพบเห็นการกระทำผิด แต่ไม่มีการดำเนินการจับกุมว่า "เป็นเพราะกฎหมายเปิดช่องให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปเฝ้าหน่วยเลือกตั้งมีหน้าที่ดูแลความสงบเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการจับกุม การจับกุมจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับการร้องขอจากประธานหน่วยเท่านั้น หรือแม้พบความผิดซึ่งหน้า หากทุกคนในหน่วยไม่รู้ไม่เห็น ตำรวจก็ไม่สามารถทำอะไรได้"
โวยโกงสะบั้น ร้องรัฐบาลยุบสภาเทศบาล เปิดทางเลือกตั้งใหม่
ขณะที่ บางหน่วยเลือกตั้งเกิดการชุลมุน จนต้องสั่งปิดหีบลงคะแนนก่อนเวลา และต้องยกเลิกการเลือกตั้งในหน่วยที่ 5, 9 และ 23 พร้อมทั้งจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 30 พ.ค. 2542 ขณะที่ผลการนับคะแนนจาก 41 หน่วยเลือกตั้งไม่รวม 3 หน่วยเลือกตั้งที่มีปัญหานั้น ปรากฏว่า กลุ่มปากน้ำปี 2000 ได้รับเลือกตั้ง 23 คน โดยชนม์สวัสดิ์ ได้คะแนนสูงสุด 10,763 คะแนน ส่วนกลุ่มเมืองสมุทร ได้เพียงแค่คนเดียวเท่านั้น จนทำให้กลุ่มเมืองสมุทร ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล ออก พ.ร.ก. ยุบสภาเทศบาล เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่
...
เสธ.หนั่น ออกตัว เลือกตั้งใหม่ไม่ได้ อ้าง ไร้กฎหมายรองรับ
แต่เสียงตอบรับจากฝ่ายรัฐบาล ผ่านแกนนำในขณะนั้น คือ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี และ มท.1 กลับบอกเพียงให้ กลุ่มเมืองสมุทรซึ่งเป็นผู้เสียหาย ควรจะไปฟ้องร้องต่อศาลเอง โดยอ้างว่ารัฐบาลไม่สามารถตอบสนองข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนเรื่องข้อกฎหมาย อีกทั้งหากทำเช่นนั้น อาจจะถูกกลุ่มปากน้ำปี 2000 ที่ได้รับเลือก ฟ้องร้อง หรือ ถูกยื่นถอดถอนจากตำแหน่ง ฐานขัดรัฐธรรมนูญได้ ด้านท่าทีของ กกต. ในเวลานั้น นายธีรศักดิ์ กรรณสูต ในฐานะประธาน กกต. ก็ทำอ้างเพียงว่า กกต. ในเวลานั้น ไม่มีอำนาจเข้าไปดูแลการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ
ร้อง นายกฯ ชวน ช่วย สอบทุจริตโคตรโกงเลือกตั้ง เด้งกราวรูดผู้เกี่ยวข้อง
เมื่อเห็นว่าฝ่ายรัฐ เริ่มโยนกลองกันไปมา นายประสันต์ หัวหน้ากลุ่มเมืองสมุทร จึงได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการเลือกตั้ง ส.ท. นครสมุทรปราการ รวมถึงลงโทษในทางวินัยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยอ้างว่ามีการทุจริตเกือบทุกหน่วยเลือกตั้ง ทำให้ฝ่ายรัฐ เริ่มขยับ โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้แต่งตั้งให้ นายสุจริต นันทมนตรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เขต 1 เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีทุจริตการเลือกตั้ง ส.ท. สมุทรปราการ และในเวลาถัดมา ได้เข้าทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าฯ ปากน้ำ จนนำไปสู่การโยกย้ายกราวรูดแบบบิ๊กลอต!
...
โดยกระทรวงมหาดไทย ได้มีคำสั่งโยกย้าย นายวีระ รอดเรือง ผวจ.สมุทรปราการ ไปช่วยราชการที่กระทรวงมหาดไทย และแต่งตั้ง นายสุจริต นันทมนตรี รักษาการแทน ผวจ.สมุทรปราการ พร้อมกันนี้ ยังมีคำสั่งจากอธิบดีกรมการปกครอง ย้ายด่วน นายวิศว ศะศิสมิต ปลัด จ.สมุทรปราการ ไปช่วยราชการกรมการปกครอง นายปิติชาติ ไตรสุรัตน์ ปลัดเทศบาลนครสมุทรปราการ ไปช่วยราชการที่สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการ รวมทั้งยังได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่บริหารเทศบาล และเจ้าหน้าที่ของเทศบาลทั้งหมด โดยเฉพาะ นายชนม์สวัสดิ์ ในฐานะรักษาการนายกเทศมนตรีเทศบาล และ นายปิติชาติ ไตรสุรัตน์ อดีตปลัดเทศบาล เพื่อเอาผิดทางวินัยและอาญา
นอกจากนี้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผบ.ตร. ในขณะนั้น มีคำสั่งย้าย พล.ต.ต.สุรศักดิ์ ไชยโกมินทร์ ผบก.ภ.จ.สมุทรปราการ ไปช่วยราชการที่กองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 รวมถึงมีคำสั่งย้ายด่วน พ.ต.ท.ไพสาล ชัยนา รอง ผกก.สส. สภ.อ.เมืองสมุทรปราการ และ พ.ต.ท.อดิศักดิ์ น้อยประเสริฐ รอง ผกก.จร.สภ.อ.เมืองสมุทรปราการ อีกเช่นกัน เพื่อเปิดทางให้มีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเรื่องการโคตรโกงเลือกตั้งในครั้งนี้
ผลสอบชัด มีทุจริต เจ้าหน้าที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่
ซึ่งที่สุด ในวันที่ 19 พ.ค.2542 นายสุจริต ได้รายงานสรุปผลการสอบสวน ต่อ เสธ.หนั่น ซึ่งมีที่น่าสนใจดังนี้ว่า 1. มีการทุจริต กระทำผิดกฎหมาย โดยมีการเปิดหีบเลือกตั้งทั้งหมด 5 หน่วยเลือกตั้ง 2. มีการกระทำส่อไปในเชิงทุจริตลักษณะอื่น เช่น ใช้บัตรปลอม นำบัตรออกจากหน่วยเลือกตั้งหนึ่งไปใช้อีกหน่วยเลือกตั้งหนึ่ง จำนวน 15 หน่วยเลือกตั้ง 3. พนักงานเจ้าหน้าที่ละเลยการปฏบัติหน้าที่เมื่อพบเห็นการกระทำผิด
เสธ.หนั่น กล่อมสำเร็จ ชนม์สวัสดิ์ ยอมลาออก
หลังจากกลายเป็นข่าวอื้อฉาว รวมถึง พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ซึ่งในช่วงเวลานั้น มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นอย่างดีกับ นายวัฒนา อัศวเหม บิดาของนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม รวมทั้งยังดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ในเวลานั้น เนื่องจากนายวัฒนา เพิ่งยกกลุ่มงูเห่า แยกทางจากพรรคประชากรไทย มาสนับสนุน พรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เข้าเกลี้ยกล่อมอย่างหนัก นายชนม์สวัสดิ์ จึงได้ตัดสินใจยื่นหนังสือลาออก จากตำแหน่งรักษาการนายกเทศมนตรีเทศบาลนครสมุทรปราการ แต่ก็ไม่วายทิ้งท้ายประโยคเด็ด เอาไว้ว่า "หลังจากนี้อีกไม่นานเราคงได้กลับมาเจอกันอีก"
ต่อมาในวันที่ 26 พ.ค. 2542 นายสุจริต นันทมนตรี รักษาการแทน ผวจ.สมุทรปราการ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อร้องขอให้การเลือกตั้ง ส.ท.สมุทรปราการ ในวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมาเป็น ‘โมฆะ’ พร้อมทั้งยกเลิกการเลือกตั้งอีก 3 หน่วย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 พ.ค. เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด แต่ศาลจังหวัดสมุทรปราการยกเลิกคำร้องดังกล่าว ในวันที่ 27 พ.ค. 2542
ต่อมา ในวันที่ 30 พ.ค. 2542 เทศบาลสมุทรปราการ จึงได้จัดให้มีการเลือกตั้ง ในหน่วยเลือกตั้ง 3 หน่วย ที่มีปัญหา โดยครั้งนี้ หีบบัตรเลือกตั้งมีกุญแจล็อกถึง 3 ดอก นอกจากนี้ยังมีการใช้ผ้าเทปพันปิดทับที่ปากหีบอีกชั้นหนึ่ง แถมการตรวจและปิดผนึกหีบหย่อนบัตรลงคะแนน ยังกระทำต่อหน้า นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ซึ่งรับผิดชอบดูแลการปกครองส่วนท้องถิ่น ลงมาดูแลด้วยตัวเองเสียด้วย
ซึ่งผลปรากฏว่าคะแนนรวมทั้ง 44 หน่วย กลุ่มปากน้ำปี 2000 ได้รับเลือกเป็น ส.ท. จำนวน 22 คน กลุ่มเมืองสมุทร ได้ 2 คน จากจำนวน ส.ท. ทั้งหมด 24 คน
ประธานวุฒิสภา รับไม่ไหว จี้รัฐบาลยกเลิกผลการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี หลังจากเกิดผลเลือกตั้งดังกล่าวขึ้น โดยที่รัฐบาล ยังไม่ไม่ได้ลงมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ทำให้ นายมีชัย ฤชุพันธ์ุ ประธานวุฒิสภาในขณะนั้น ซึ่งถือเป็นมือกฎหมายชั้นนำของเมืองไทย ต้องออกมากระทุ้งแรงๆ ให้รัฐบาลของนายชวน หลีกภัย ควรเร่งหาทางยกเลิก และให้มีการเลือกตั้งใหม่ทั้งหมดโดยเร็วที่สุด เพราะถือเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย และเหตุการณ์ครั้งนี้ อาจจะเป็นตัวอย่างในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้ พร้อมกับแนะนำว่า หากรัฐบาลห่วงว่า ถ้ากฎหมายไม่ให้อำนาจในการยกเลิกการเลือกตั้งครั้งนี้ ตามที่ พล.ต.สนั่น เป็นห่วง รัฐบาลก็สามารถออกเป็นพระราชกำหนดมาใช้ได้
สิ้นเสียง นายมีชัย ในวันที่ 2 มิ.ย. 2542 หัวหน้ากลุ่มเมืองสมุทร จึงเดินหน้ายื่นหนังสือถึง นายพิชัย รัตตกุล รักษาการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อขอให้รัฐบาลใช้อำนาจบริหารออกพระราชกำหนดสั่งยกเลิกการเลือกตั้ง ส.ท.สมุทรปราการ ตามที่ประธานวุฒิสภาเสนอทันที
โดนบีบหนัก เสธ.หนั่น เปิดศึก ชำนิ
เมื่อถูกแรงกดดันทั้งจากประชาชน และฟากฝั่งการเมืองถั่งโถมเช่นนี้ ทำให้เกิดศึกภายในพรรคประชาธิปัตย์ที่แกนนำรัฐบาลในขณะนั้น เนื่องจาก นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ได้เรียกร้องให้ เสธ.หนั่น ลงไปสั่งการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ด้วยตัวเอง เพื่อให้การทำงานมีเอกภาพ โดยอ้างว่า เพราะที่ผ่านมามีการกล่าวหาไปพาดพิง นายวัฒนา อัศวเหม รมช.มหาดไทย บิดาของนาย ชนม์สวัสดิ์ และแกนนำกลุ่มงูเห่า รวมทั้งยังถือครองสิทธิเป็นพันธมิตรอันสำคัญยิ่งของพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้นหลายครั้ง ขณะที่การเลือกตั้งท้องถิ่นแห่งอื่นๆ ตนเองจะขอไปดูแลเอง แต่สิ้นคำของ นายชำนิ ก็ถูก พล.ต.สนั่น สวนกลับอย่างดุเดือดว่า หากคิดแบบนั้น ก็ควรจะคืนอำนาจการดูแลการปกครองส่วนท้องถิ่น มาให้ทั้งหมดเลยจะดีกว่า ! ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ ทั้งสองคนถือเป็นกลจักรสำคัญในการเดินแผนเหนือเมฆ ดึง กลุ่มงูเห่า ออกมาจากพรรคประชากรไทย จนทำให้พรรคประชาธิปัตย์ จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
ไร้ทางออก พึ่งกฤษฎีกา ช่วยตีความข้อกฎหมาย
หลังจากพายเรือในอ่างมาพักใหญ่ โดยที่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนมาให้กับประชาชน ว่า จะจัดการแก้ปัญหาอย่างไร กับการเลือกตั้งโคตรโกง ดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรง จึงหันหน้าไปพึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ตีความใน 2 ประเด็น คือ 1. สภาเทศบาลนครเมืองสมุทรปราการ ปัจจุบัน ถือเป็นสภาแล้วหรือยัง 2. เหตุผลของการทุจริตเลือกตั้ง จะไปยกเอาผลการสอบสวนมาถือเป็นเหตุผลการยุบสภาได้หรือไม่
ซึ่งทางคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงมีมติให้ ผวจ.สมุทรปราการ ร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้เพิกถอนประกาศผลเลือกตั้ง ส.ท.นครสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 30 พ.ค. เพราะคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายปกครอง! กระทรวงมหาดไทย จึงเดินเครื่องให้ ผวจ.สมุทรปราการ ส่งเรื่องร้องขอต่อศาลทันที
แต่ที่สุด ศาลสมุทรปราการ ก็ได้มีคำสั่งให้ยกคำฟ้องดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะมาเป็นโจทย์ยื่นฟ้องได้ เพราะผู้ที่จะมาเป็นโจทย์ยื่นฟ้องในกรณีนี้ ต้องเป็นประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง 10 คนขึ้นไป หรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง!
ศาลสั่งเปิดหีบเลือกตั้ง ตะลึง! พบบัตรเกินจำนวนผู้มาใช้สิทธิกว่าพันใบ !?
ทำให้ในเวลาต่อมา กลุ่มเมืองสมุทร 7 คน จึงได้เข้าร้องต่อศาล เพื่อคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ท.สมุทรปราการ ทั้งหมด ที่สุด ในวันที่ 21 ก.ค. 2542 ศาลสมุทรปราการ จึงมีคำสั่งให้เปิดหีบบัตรเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งที่ 2, 6, 7, 11, 25, 26, 27, 35, 38, 39 และ 40 รวม 11 หีบ โดยมีนายชนม์สวัสดิ์ และพวกซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งกลุ่มปากน้ำปี 2000 ยื่นคำร้องคัดค้านไม่ให้มีการเปิดหีบ แต่ก็ไม่สำเร็จ
ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 7,539 คน มีผู้มาแสดงตนใช้สิทธิ 3,633 คน แต่ปรากฏว่า มีผู้มาใช้สิทธิตามแบบรายงานผล 4,467 คน มีจำนวนบัตรปลอมที่ไม่ได้จัดพิมพ์ส่วนท้องถิ่น 1,897 ใบ และมีบัตรที่ไม่ได้กาคะแนนแต่ถูกขานคะแนน 301 ใบ สรุปผลจากการพิจารณาของศาลได้ 4 ประเด็น คือ 1. มีการปลอมแปลงบัตรเลือกตั้ง 2. มีการทำกุญแจเปิดหีบโดยไม่ได้รับอนุญาต 3. มีการนับคะแนนให้ผู้สมัครทั้งที่ไม่ได้กาบัตรเลือกตั้ง และ 4. มีการกรอกคะแนนให้ผู้สมัครโดยไม่มีผู้มาใช้สิทธิ
อึ้งซ้ำสอง! เจ้าหน้าที่ดูแลเลือกตั้งโคตรโกง โดนแค่ ตักเตือน ภาคทัณฑ์
เมื่อผลเป็นที่เห็นประจักษ์ชัด มท. จึงตั้งคณะกรรมการขึ้น 4 ชุด เพื่อสอบสวนผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ ปลัดจังหวัด จ่าจังหวัด ปลัดเทศบาล เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง
ซึ่งที่สุด ในวันที่ 10 ส.ค. 2542 ผลการสอบสวนปรากฏว่า นายวีระ รอดเรือง อดีตผู้ว่าฯ ปากน้ำ นายวิศว ศะศิสมิต อดีตปลัดจังหวัด และ นายทิวา พรหมอินทร์ อดีตจ่าจังหวัด มิได้มีพฤติกรรมโกงการเลือกตั้ง แต่น่าจะมีความผิดในฐานะที่เป็นผู้มีอำนาจในการควบคุมการเลือกตั้งให้เรียบร้อยถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย แต่ได้เกิดความไม่เรียบร้อยและโกงการเลือกตั้งขึ้น จึงถูกลงโทษเพียง …… โดนตักเตือน และภาคทัณฑ์ งดเลื่อนขั้นเงินเดือน ตามลำดับ เท่านั้น!
ขณะที่ในส่วนการสอบสวนประชาชนที่กระทำความผิด พบว่ามีผู้กระทำผิด 8 หน่วยเลือกตั้ว จับกุมผู้กระทำผิดได้ 11 คน หลบหนีไปได้ 1 คน และรู้พฤติกรรมการกระทำผิด แต่ไม่ทราบตัวผู้กระทำผิดที่แน่ชัดอีกจำนวนมาก
ศาล สั่ง เลือกตั้ง ส.ท.นครสมุทรปราการ โมฆะ !!
หลังจากการเปิดหีบเลือกตั้งพิสูจน์แล้วเสร็จนั้น ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสมุทรปราการ อ่านคำสั่งศาลในคดีทุจริตการเลือกตั้ง ส.ท.นครสมุทรปราการ โดยศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า การเลือกตั้ง ส.ท.นครสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2542 เป็นไปโดยมิชอบ จึงไม่มีผู้ใดได้รับเลือกตั้ง ทั้งนี้ เป็นผลให้เทศบาลนครสมุทรปราการจะต้องจัดเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน หลังจากที่มีการยกเลิก โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 9 ต.ค. 2542
จากนั้น นายชนม์สวัสดิ์ จึงเปลี่ยนชื่อกลุ่มจาก ‘กลุ่มปากน้ำปี 2000’ เป็น ‘กลุ่มปากน้ำก้าวหน้าปี 2000’ เพื่อลงสมัครเลือกตั้ง ส.ท.นครสมุทรปราการ อีกครั้ง
สำหรับผลการเลือกตั้ง ส.ท.นครสมุทรปราการ ครั้งใหม่ ปรากฏว่า กลุ่มปากน้ำก้าวหน้าปี 2000 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ท.นครสมุทรปราการ 15 คน กลุ่มเมืองสมุทรปราการ 9 คน
3 ปีต่อมา อัยการยื่นฟ้อง 'ชนม์สวัสดิ์' ฐานปฏิบัติโดยมิชอบ !
อย่างไรก็ดี หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ “โคตรโกง” การเลือกตั้ง ส.ท.นครสมุทรปราการ นายประสันต์ ศีลพิพัฒน์ หัวหน้ากลุ่มเมืองสมุทร ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสมุทรปราการ กล่าวหาว่า การเลือกตั้งมีการทุจริตเกิดขึ้น กระทั่ง 3 ปีต่อมา เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2545 อัยการจังหวัดสมุทรปราการ ได้ยื่นฟ้องนายชนม์สวัสดิ์ หัวหน้ากลุ่มปากน้ำปี 2000 ผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ท.นครสมุทรปราการ เป็นจำเลยที่ 1 และนายปิติชาติ ปลัดเทศบาลนครสมุทรปราการ เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีร่วมกันปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ท.นครสมุทรปราการ เป็นเหตุให้การจัดการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยเรียบร้อยบริสุทธิ์และยุติธรรมตามกระบวนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยและปลอมแปลงเอกสารราชการ
โดยในคดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2542 ถึง 2 พ.ค. จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ ส่วนจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งปลัดเทศบาลนครสมุทรปราการ ในสมัยนั้น เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเทศบาลและรับผิดชอบในงานประจำทั่วไปของเทศบาลนครสมุทรปราการ จำเลยทั้งสองจึงเป็นพนักงานตามกฎหมาย ร่วมกันปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ท.นครสมุทรปราการ เป็นเหตุให้การจัดการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยเรียบร้อยบริสุทธิ์และยุติธรรมตามกระบวนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยและปลอมแปลงเอกสารราชการ
และในเวลาต่อมา ศาลชั้นต้นพิจารณาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกเทศบาล พ.ศ.2482 การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องมีเจตนาเพียงอย่างเดียวคือไม่จัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายบริสุทธิ์ยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย จึงถือเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้บทลงโทษที่หนักที่สุด สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลเอกสารกระทำการปลอมเอกสารให้จำคุก 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา กับให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยทั้งสอง มีกำหนดเวลาคนละ 4 ปี รวมทั้งริบของกลาง
อย่างไรก็ดี จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นให้ลงโทษจำคุก จำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี แต่จำเลยยื่นฎีกาต่อ และทั้งคู่ผลัดกันขอเลื่อนรับฟังคำพิพากษาถึง 5 ครั้ง จนระยะเวลาล่วงเลยมาจนถึงปี 2558
เจอพิษ ม.44 ลอตสอง เชือด 71 ขรก. รวม ‘ชนม์สวัสดิ์’ ถูกพักงานชั่วคราว
แต่แล้วสถานการณ์ก็เกิดพลิกผัน เนื่องจากเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2558 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 โยกย้ายข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวโยงในการทุจริตทั่วประเทศครั้งใหญ่ลอตที่สอง 71 ข้าราชการทั่วประเทศ โดยหนึ่งในข้าราชการกลุ่มนั้น มีนายชนม์สวัสดิ์ นายก อบจ.สมุทรปราการ ถูกพักงานในตำแหน่ง นายก อบจ.สมุทรปราการ ชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน จากกรณีความไม่โปร่งใส่ในการเบิกจ่ายงบประมาณในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ
ปิดฉาก มหากาพย์ 16 ปี โคตรโกงเลือกตั้งเมืองปากน้ำ !!
กระทั่งในวันที่ 4 ส.ค. 2558 วันปิดฉาก ‘16 ปี คดีโคตรโกง’ ก็มาถึง หลังศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาครั้งที่ 6 ซึ่งนายชนม์สวัสดิ์เดินทางมารับฟังคำตัดสินด้วยตัวเอง แต่กลับไร้เงานายปิติชาติ โดยแจ้งว่าเจ็บป่วยแต่ไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดง ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับนายปิติชาติ เนื่องจากเคยกำชับแล้วว่าคดีนี้มีการเลื่อนอ่านคำพิพากษาหลายครั้ง และขอให้จำเลยทั้งสองเลี่ยงการไม่มาตามนัดศาล
และ ณ ห้องพิจารณาคดี นี้เอง หลังจาก ศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษากว่า 2 ชม. ระบุว่า จำเลยที่ 1 และทนายจำเลยที่ 1 มาศาล แต่เนื่องจากจำเลยที่ 2 ยังจับตัวไม่ได้และพ้นระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้ออกหมายจับแล้ว จึงได้มีการอ่านคำพิพากษาฎีกาลับหลังจำเลยที่ 2 ซึ่งศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ภาค 1 ให้จำคุกทั้งสองคนโดยไม่รอลงอาญา โดยลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำเลยทั้งสองคน คนละ 4 ปี
ภายหลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษายืน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศาลจังหวัดสมุทรปราการได้เข้าควบคุมตัวเจ้าพ่อเมืองปากน้ำทันที เพื่อส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์นำตัวเข้าเรือนจำ เพื่อรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลฎีกาในที่สุด...