กรณีปัญหาที่ดิน สปก.4-01 บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ต.แม่กา อ.เมืองพะเยา ที่มีการนำพื้นที่ ส.ป.ก.หลายร้อยไร่ที่ระบุใช้เพื่อเกษตรกรรมแต่ถูกนำไปสร้างเป็นอาคารหอพัก ร้านค้าเชิงพาณิชย์ จนเกิดมีปัญหาพิพาทกันขึ้นระหว่างเจ้าของที่ดินเดิมกับนายทุนที่เข้ามาฮุบพื้นที่ใช้ทำหอพัก ทำให้เกิดปัญหาบานปลายขยายเป็นวงกว้าง จน ส.ป.ก.ส่วนกลาง ส่งมือกฎหมายมาทำให้สิ่งที่ผิดเงื่อนไขที่ดินเกษตรกรรม สามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ โดยใช้กฎหมาย ส.ป.ก.มาตรา 30 (5) ที่ระบุให้ ส.ป.ก.มีอำนาจจัดที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ให้กับบุคคลใดเช่า เช่าซื้อ ซื้อ หรือเข้าทำประโยชน์ เพื่อใช้สำหรับกิจการอันเป็นการสนับสนุน หรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดิน จึงเป็นต้นแบบ หรือ “พะเยาโมเดล” เพื่อจะสามารถนำไปใช้ในปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.แห่งอื่นๆทั่วประเทศได้ตามข่าวที่ได้เสนอไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 9 ก.ค. นายชูชาติ กีฬาแปง ผวจ.พะเยา กล่าวว่า ปัญหา ส.ป.ก.หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา เป็นประเด็นสนใจของสังคม สมควรอย่างยิ่งที่นำสื่อมวลชนมาดูในพื้นที่และรับฟังข้อเท็จจริงให้รอบด้าน หากรับฟังด้านเดียวจะเกิดความคลาดเคลื่อน นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม ในพื้นที่พะเยา ตั้งแต่ปี 2542 มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ได้มาขยายที่วิทยาเขตพะเยา ทำให้มีนักศึกษาเดินทางเข้ามาเรียนตามลำดับ จนเมื่อปี 2554 ได้มีการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยพะเยา ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ที่ดินจากเดิมที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม กลายเป็นพื้นที่พาณิชยกรรม ดังนั้น การมีมหาวิทยาลัยมาตั้งในพื้นที่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งรองรับไม่ว่าเรื่องที่พักอาศัย ทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ที่ดิน ถือเป็นสภาพบังคับที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

นายชูชาติ กีฬาแปง ผวจ.พะเยา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยพะเยา ยังมีนโยบายที่จะสร้างเป็นศูนย์การแพทย์ขนาดใหญ่ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ใช้เป็นที่ฝึกวิชาของนิสิตนักศึกษาและรองรับประชาชนในพื้นที่โดยรอบ มหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งมีพื้นที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ได้มีความเจริญจากการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด มีการขับเคลื่อนในเรื่องนี้มาโดยตลอด ทำแผนแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา เทศบาลตำบลแม่กา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาถึงแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นระบบมีเหตุมีผลน่าเชื่อถือได้ โดยคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินได้มีมติเห็นชอบให้มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ประกอบกิจการเพื่อเป็นการสนับสนุนการปฏิรูปที่ดินที่สามารถดำเนินการได้นอกเหนือการเกษตรกรรม ถือว่าเป็นทางออกที่นโยบายระเบียบกฎหมายได้กำหนดไว้

...

“เรื่องที่เกิดขึ้นมาได้มีคณะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเดินทางเข้ามาในพื้นที่เพื่อรับฟังข้อมูลมาศึกษามารับทราบ โดยมีคณะกรรมาธิการของทางการเมือง สมาชิก วุฒิสภา แม้กระทั่งอนุกรรมการ ป.ป.ช.เจ้าหน้าที่ หลายระดับและเลขาธิการ ส.ป.ก.และผู้บริหาร ส.ป.ก.ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะจะมีผลเกี่ยวเนื่องกับพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศในลักษณะเดียวกัน อย่างไร ก็ตาม ตนขอยื่นยันว่า จ.พะเยา ต้องการที่จะแก้ปัญหาบริหารจัดการพื้นที่ ส.ป.ก.รอบมหาวิทยาลัยพะเยานั้นเพื่อไปเพื่อประโยชน์ส่วนร่วมอย่างแท้จริง” นายชูชาติ ผวจ.พะเยา กล่าวสรุป.