เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. นายไพศาล บุรินทร์วัฒนา อธิการบดี ม.เทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ กำกับดูแลราชมงคลสุพรรณบุรี อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เผยว่า จากการที่มหาวิทยาลัยมีความมุ่งมั่นสร้างบัณฑิตให้เป็นคนดี มีความรู้ รักสู้งาน และจิตอาสา จึงได้กำหนดแผนพัฒนานักศึกษาให้มีคุณภาพ ด้วยการสร้างนวัตกรรมและบริการวิชาการ เพื่อนำไปพัฒนาชุมชน บำรุงศิลปวัฒนธรรม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตอบสนองตามความต้องการของชุมชน ที่ผ่านมานักศึกษาจิตอาสาได้ทุ่มเทกำลังกายและทรัพย์ ออกพื้นที่พัฒนาชุมชนตามท้องถิ่นห่างไกลที่ขาดโอกาสมาตลอดเช่น ปรับปรุงซ่อมแซมวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้าในโรงเรียนขนาดเล็ก ไปเป็นลูกศิษย์วัดเก็บกวาดวัด สถานที่ปฏิบัติธรรม ส่งผลให้ผู้ที่พบเห็นบอกต่อถึงความเป็นคนดี มีน้ำใจ ทำให้ประชาชนทั่วไปมีทัศนคติที่ดีงามต่อสถาบันแห่งนี้
ขณะที่นายภัควัฒน์ จันทร์ตรี อาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการจิตอาสา กล่าวว่า ตนได้ดำเนินโครงการจิตอาสานี้มาตลอด 7 ปี เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้นำนักศึกษาในโครงการ เดินทางไปที่ห้องเรียนตะเพินคี่ สาขา ร.ร.บ้านกล้วย อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ระยะทางไป-กลับที่ต้องลัดเลาะไปตามหุบเหวกว่า 300 กม. เป็นถิ่นอาศัยของชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลืองอยู่บนเทือกเขาเทวดา ภูเขาที่สูงที่สุดในภาคกลาง เพื่อไปติดตั้งไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับเด็กกะเหรี่ยง ที่ห้องเรียนตะเพินคี่ ได้มีไฟฟ้าไว้ใช้ในการเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม ช่วงนั้นนักศึกษาได้เดินสำรวจสภาพพื้นที่โดยรอบ ปรากฏว่าพบแหล่งน้ำตกทางธรรมชาติ จากการพิจารณาร่วมกันสรุปว่าน้ำตกตะเพินคี่แห่งนี้ สามารถสร้างพลังงานทดแทนผลิตกระแสไฟฟ้าได้ เป็นไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดจิ๋ว ซึ่งจะทำให้ชุมชนชาวกะเหรี่ยงมีไฟฟ้าใช้
นายภควัฒน์เผยต่อไปว่า เมื่อประมาณต้นเดือน มิ.ย. ตนจึงได้นำคณะนักศึกษาในโครงการจิตอาสาขึ้นตะเพินคี่อีกครั้ง เพื่อไปติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดจิ๋วด้วยการฝังท่อน้ำใต้ดิน เพื่อบังคับทิศทางน้ำไปปั่นกระแสไฟฟ้า โดยใช้งบประมาณ 5 หมื่นบาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากค่ายสิงห์อาสา 3 หมื่นบาท นอกนั้นนักศึกษาช่วยกันบริจาค ซึ่งการผลิตกระแสไฟฟ้าครั้งนี้ประสบความสำเร็จ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ขนาด 2 กิโลวัตต์ ติดตั้งหลอดไฟฟ้าขนาด 10 วัตต์ ได้ 200 หลอด ดูทีวีได้ 20 เครื่อง ทำให้ชาวกะเหรี่ยงด้ายเหลืองที่มีอยู่ 74 ครัวเรือนพึงพอใจเป็นอย่างมากที่มีไฟฟ้าใช้ทั้งหมู่บ้าน ในอนาคตจะทำการสำรวจปริมาณลมเพื่อจะทำไฟฟ้าพลังงานลมด้วย โดยจะนำไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ มาทำงานร่วมกันเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มต่อไป.
...