เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 มิ.ย. ที่ศาลาประชาคมบ้านสร้างพอก หมู่ 1 ต.โพนสว่าง อ.เมืองหนองคาย คณะทำงานเพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ กรณีการก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังงานขยะ โดยมีร้อยเอกจำนง แสงกุดเรือ นายทหารยุทธการ กองกำลังรักษาความสงบประจำจังหวัดหนองคาย เป็นหัวหน้าคณะทำงาน นำคณะทำงานซึ่งนายสุชาติ นพวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย แต่งตั้งขึ้นเป็นตัวแทน 3 ฝ่าย คือภาครัฐ จากสาธารณสุข จ.หนองคาย, อุตสาหกรรม, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายก อบจ.หนองคาย, นายก อบต.ในพื้นที่, ผู้ใหญ่บ้าน 10 หมู่บ้าน, นิติกรสำนักงานจังหวัด ฝ่ายที่สอง เป็นตัวแทนของบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด เจ้าของโรงงาน และฝ่ายที่สาม เป็นตัวแทนชาวบ้านที่คัดค้าน มารับฟังข้อมูลแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสอบถามข้อสงสัย โดยจะมีการจัดเวทีลักษณะนี้ ระหว่างวันที่ 22-26 มิ.ย.ใน 10 หมู่บ้านของตำบลโพนสว่าง
นายจีรภัทร์ โตมโหฬารทวีศรี ตัวแทนบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯได้ยื่นขอจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ มาตั้งแต่ปี 2554 และได้รับการอนุญาตจัดตั้งโรงงานแล้ว บนพื้นที่ 210 ไร่ เป็นพื้นที่โรงไฟฟ้า 40 ไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่สีเขียวของโรงงาน มีการทำสัญญารับขยะจากพื้นที่อำเภอเมืองหนองคาย และใกล้เคียงเข้าสู่ระบบกำจัดขยะด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ได้มาตรฐาน ปล่องไฟสูง 60 เมตร ขอยืนยันว่าไม่มีมลพิษทั้งอากาศ น้ำเสีย กลิ่น โดยทางโรงงานขอให้ชาวบ้านมาร่วมเป็นกรรมการตรวจพิจารณารถขนขยะที่จะขับเข้าสู่โรงงาน ถ้าไม่ได้มาตรฐานก็จะไม่อนุญาตให้ผ่าน รวมถึงโรงงานไม่รับขยะสารพิษทุกชนิดเข้ามาเผา ส่วนเถ้าจากการเผาขยะนั้น เถ้าเบาจะส่งไปกำจัดที่ จ.สระบุรี ส่วนเถ้าหนักจะส่งไปยังจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทั้งสองแห่งได้ทำข้อตกลงกันไว้แล้ว ที่ผ่านมาได้พาชาวบ้านส่วนใหญ่ไปชมโรงงานต้นแบบที่ จ.ภูเก็ตมาแล้วทำให้เห็นภาพของโรงงานชัดเจนมากขึ้น
...
ขณะที่อุตสาหกรรมจังหวัดหนองคาย ชี้แจงว่าทางโรงงานได้ขออนุญาตถูกต้อง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบเอกสาร เครื่องจักรที่ใช้และอื่นๆรอบด้านแล้ว เช่นเดียวกับเรื่องมลพิษที่เป็นห่วงจากข้อมูลพบว่า ทางโรงงานขออนุญาตผลิตไฟฟ้าจากขยะขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นเวลา 20 ปี ตามอายุของเครื่องจักรที่ใช้ หากชาวบ้านยังไม่สบายใจก็ขอให้คอยหมั่นตรวจสอบและแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งในส่วนภาครัฐมีคณะทำงานตรวจสอบทุกกระบวนการอยู่แล้ว หากโรงงานทำไม่ถูกต้องก็จะพิจารณาระงับใบอนุญาตได้
อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นของชาวบ้านนั้นมีสองฝ่าย ทั้งฝ่ายเห็นด้วยอยากให้มีโรงงานเกิดขึ้นและกลุ่มที่ยังคัดค้าน ซึ่งตัวแทนชาวบ้านกลุ่มคัดค้านได้สอบถามความชัดเจนของปริมาณขยะ และรูปแบบการกำจัดขยะของจังหวัดหนองคายในปัจจุบัน โดยเกรงว่าจะมีการปล่อยน้ำเสียลงสู่ผิวดิน เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้น้ำใต้ดินเป็นหลัก และยังคงมีชาวบ้านบางส่วนไม่อยากให้มีโรงงานเกิดขึ้นในพื้นที่เช่นเดิม.