กรณีบ่อขยะอิทธิพลบ้านโฮ่งนอก หมู่ 10 ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่มีการนำขยะจำนวนกว่า 100 ตันที่จัดเก็บในพื้นที่เทศบาลถึง 6 แห่ง ใน อ.แม่ริม และหลายเทศบาลใน 4 อำเภอ นอกเขตแม่ริม นำมาทิ้งในบ่อดินเอกชนพื้นที่กว่า 10 ไร่ โดยไม่มีระบบการจัดการที่ดี ทำให้ขยะส่งกลิ่นเหม็นและมีแมลงวันรบกวนความเป็นอยู่ของชาวบ้าน 3 หมู่บ้าน จนมีการเข้าร้องทุกข์กับนายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผวจ.เชียงใหม่ ให้ช่วยเหลือ จนมีการจัดระบบบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็คงให้มีการนำขยะเข้ามาทิ้งในบ่อดินได้เหมือนเดิม จนหลายฝ่ายหวั่นว่าการนำขยะทิ้งในบ่อดินยักษ์จะเป็นจุดเริ่มต้นให้มีการเลียนแบบกันขึ้นเพราะบ่อดินร้างในเชียงใหม่ มีจำนวนมากมาย หากมีการนำมาแอบทิ้งหรือทิ้งยอมเสียค่าปรับให้ทางอำเภอแต่ละแห่งเสีย จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาลเพราะบ่อดินยักษ์หลายแห่งอยู่ในพื้นที่ติดป่าและดอยแทบทั้งสิ้นตามข่าวที่ไทยรัฐเสนอไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 21 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการเตรียมความพร้อมในการประชุม ครม.สัญจร ที่เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 29-30 มิ.ย. ในส่วนของทางจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการนำเสนอด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มี 3 โครงการ คือ 1. โครงการพัฒนาและแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า 2. โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ ห้วยแม่เหียะน้อย อ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรของราษฎรในพื้นที่ และจัดหาแหล่งน้ำสำหรับอุทยานหลวงราชพฤกษ์และไนท์ซาฟารี 3.โครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร ซึ่งปัญหาขยะเชียงใหม่ ถือเป็นปัญหาที่ต้องรีบมีการดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน โดยทราบว่าทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถือเรื่องดำเนินการจัดการกับขยะถือเป็นวาระแห่งชาติ และหากจะพูดถึงข้อ เท็จจริงการแก้ไขปัญหาขยะเชียงใหม่ที่มีมากกว่าวันละ 1,000 ตันยังเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง ในขณะนี้ชาวเชียงใหม่ยังคงมีความสับสนกับปัญหาการจัดการกับขยะอย่างครบวงจร เคยมีการนำเสนอข่าวมีการแก้ไขแบ่งเป็น 3 โซนแต่ก็เงียบหายไปจนมีการลอบทิ้งขยะแบบพเนจรตามบ่อดินร้างเอกชนและบ่อหลุมหุบเหวบนดอยหลายแห่งของเชียงใหม่ในเวลานี้

...

ผู้สื่อข่าวได้เข้าพบกับนายจงคล้าย วรพงศธร ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ สอบถามถึงเรื่องจะมีการนำเสนอเรื่องโครงการบริหารจัดการขยะครบวงจรในการประชุม ครม.สัญจร ที่เชียงใหม่ ในด้านใดบ้างและมีสถานที่ดำเนินการกับขยะเชียงใหม่ อย่างเป็นรูปธรรมหรือยัง นายจงคล้ายเผยว่า จะมีการนำเสนอโครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร แต่คงจะไม่ลงรายละเอียดมากเพราะมีเรื่องงบประมาณคือนโยบายของรัฐ จะให้เอกชนมาลงทุนในการดำเนินการประเภททำกระแสไฟฟ้า ส่วนการที่จะทำเป็นในการดำเนินการกับขยะ โซนเหนือก็คงเป็นของ อ.ฝาง อย่างแน่นอน โซนกลางที่ อ.ดอยสะเก็ด แต่ก็จะดูว่าพื้นที่ควรทำหรือเปล่า หากไม่เหมาะก็ต้องหาจุดใหม่ ส่วนโซนใต้ก็ยังคงเป็นที่ อ.ฮอด และนอกจากนี้จะมีการสร้างสถานีขนถ่าย อย่างเช่นบ้านโฮ่งนอก อ.แม่ริม ที่มีปัญหาอยู่จะต้องมีสถานีขนถ่ายออกมาในลักษณะเป็นเรื่องเป็นราว

“ตนเข้าไปดูสถานที่แห่งนี้แล้ว เห็นทางนายอำเภอแม่ริม จะทำเป็นอาคารมีหลังคาคลุมเพื่อไม่ให้กลิ่นออกไปรบกวนชาวบ้าน ที่นี่ในอนาคตจะมีสถานีขนถ่ายที่เป็นมาตรฐานลงในจุดตรงนี้เลย จะเป็นตัวอาคารและมีเครื่องมือแพ็กขยะออกมาเป็นก้อนเพื่อจะขนถ่ายไปทิ้งที่จุดกำจัดขยะครบวงจร แต่ละจุดที่จะทำก็ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ชาวบ้านในพื้นที่ด้วย ตามโซนต่างๆ ที่กำหนดไว้จะมีการประชุมและนำความเห็นในแต่ละแห่งแต่ละอำเภอนำเสนอในเรื่องการดำเนินการกับขยะ เช่นที่ อ.เวียงแหง เขาระบุมาว่าจะจัดการขยะแบบเบ็ดเสร็จในอำเภอเลยไม่ต้องนำขนไปทิ้งที่อื่น ส่วนที่เกรงกันว่าจะมีการนำไปทิ้งตามบ่อดินต่างๆ อย่างที่เป็นข่าวก็จะได้รับการแก้ไขทั้งหมด คือต่อไปการแก้ไขปัญหาขยะจะแก้เป็นภาพรวมของจังหวัด ขยะที่นำไปทิ้งอย่างไม่ถูกสุขลักษณะมันจะต้องไม่เกิดขึ้นแล้วต่อไป มันจะต้องมีการขนมาที่เซ็นเตอร์ใดเซ็นเตอร์หนึ่ง ซึ่งในขณะนี้มีแผนเตรียมไว้แล้วเป็นแผนปฏิบัติการจริงๆ เลย และแผนที่จะดำเนินการนี้ทางเราได้ส่งไปที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว รอเพียงกระทรวงฯ อนุมัติแผนตัวนี้มาให้ก็จะมีการจัดทำในพื้นที่เลย แต่ก่อนที่จะไปทำในแต่ละจุดก็แล้วแต่ เราก็จะมีการเข้าไปทำประชาพิจารณ์อีกทีไปประชุมชาวบ้านในพื้นที่ได้รับทราบทุกครั้ง” ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวในที่สุด.