กรมการท่องเที่ยวสำรวจปี 2556 พบว่า ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวสูงถึง 26 ล้านคน สร้างรายได้ให้แก่ประเทศถึงกว่าหนึ่งล้านล้านบาท
ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2556 พบว่ามีผู้ทำงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวสูงถึงเกือบ 2 ล้านคน จึงมีการตั้งคำถามว่า...หากเปิดประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้จะมีแรงงานวิชาชีพท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิกอาเซียนเคลื่อนย้ายมาหรือไม่? และเราควรจะต้องเตรียมตัวอย่างไร?
นี่คือ “ดาบสองคมในวิชาชีพท่องเที่ยวของอาเซียน” ...ขนิษฐา ฮงประยูร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สะท้อนว่าการเคลื่อนย้ายแรงงานในวิชาชีพท่องเที่ยวไม่ได้ทำกันง่ายๆ จะต้องมีการกำหนดคุณสมบัติที่ได้ผ่านการเห็นชอบของประเทศสมาชิกอาเซียนเสียก่อน
ขนิษฐา ย้ำว่า สำหรับแรงงานวิชาชีพท่องเที่ยวอาเซียนกำหนดเอาไว้เพียง 32 ตำแหน่งงานเท่านั้น โดยจะต้องมีการทดสอบและขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ข้อกำหนดของอาเซียน ซึ่งในประเทศไทยมีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นหน่วยงานหลักในการดูแล
“กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะต้องหาแนวทางการบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพอย่างรัดกุม รวมถึงกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการที่จะพัฒนาคนให้มีศักยภาพเป็นที่ยอมรับ”
ตัดฉากไปที่จังหวัดเลย...เมืองแห่งผี... “ผี” ที่ทำคุณประโยชน์ แต่ก่อนถ้ามีการพูดถึงหรือกล่าวถึงจังหวัดเลย คนหนุ่มคนสาวในยุคหนึ่งมักจะเหมาเอาว่าสัญลักษณ์ของท้องถิ่นแห่งนี้ไม่น่าจะพ้นไปจาก “ภูกระดึง” ...
“ภู”...ซึ่งมีรูปพรรณสัณฐานไม่ต่างกระดึงแขวนคอโคกระบือ แล้วก็ยังเป็นภูที่กลายเป็นแหล่งทดสอบความแข็งแกร่งในพละกำลังร่างกายของคนหนุ่มคนสาว กับพลังแห่งความรักที่จะมีให้แก่กันในเยื่อใย บวกความเอื้ออาทรระหว่างการเดินบุกป่าฝ่าดงขึ้นไปบนความสูงของภูที่สูงชัน
...
แต่...บนนั้นเต็มไปด้วยธรรมชาติอันสวยสดงดงามที่สามารถบ่มรักให้สุกงอมสู่กันและกันได้อย่างดี
ไม่นานจากนั้นถึงมี...“ภูหลวง” แล้วก็...“ภูเรือ” เพิ่มเป็นจุดขายด้านธรรมชาติของเมืองนี้
กระทั่งกาลต่อมา...เมื่อ “ผีตาโขน” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่สดใสบริสุทธิ์ของชาว อ.ด่านซ้าย จ.เลย ที่อยู่ในวงรอบของป่าภูเรือและแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ ทางด้าน อ.นครไทย จ.พิษณุโลก จด จ.เพชรบูรณ์ ได้ถูกนำมาใช้เป็นสินค้าทางการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมของวิถีชุมชน
ด้วยความเชื่อถือศรัทธาในตัว “เจ้าพ่อกวน” และ “เจ้าแม่นางเทียม” ของชาวท้องถิ่น อ.ด่านซ้าย พร้อมกับนำเอา “หวด”...ภาชนะนึ่งข้าวเหนียวของคนอีสานกับไม้นุ่นมาประยุกต์เป็นหน้ากาก แล้วอุปมาว่าเป็นผีตาโขนที่คุ้มครองคนในชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุขกันเรื่อยมา
จนทุกวันนี้ผีตาโขนกลายเป็นงานประเพณีที่โด่งดังไปทั่วทุกแคว้นแดนถิ่นในเมืองไทย เตลิดไกลออกไปถึงตลาดเมืองนอก มีการนำไปเสนอขายยังตลาดท่องเที่ยวใหญ่ๆ เช่น ที่งานส่งเสริมการขายการท่องเที่ยวระดับโลกที่กรุงเบอร์ลิน และกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรมาแล้ว ปีนี้กำหนดจะมีขึ้นอีกครั้งในระหว่างวันที่ 26-28 มิถุนายน และผลพลอยได้จากงานดังกล่าวมิใช่เพียงนักท่องเที่ยวแห่กันไปเที่ยว
หน้ากากผีตาโขนแต่ละขนาดตั้งแต่หัวใหญ่ยันหัวเล็ก จนถึงขนาดไว้แขวนคล้องคู่กับพวงกุญแจกลายเป็นอาชีพเสริมเลี้ยงคนด่านซ้ายได้ตลอดทั้งปี
มาถึงวันนี้...ก็ได้มีการปลุกปั้นผีตัวใหม่ให้ออกมาอาละวาดกวาดเม็ดเงินเข้าสู่ท้องถิ่นกันอีกหนึ่งผี เป็นผีรุ่นเก่าที่เชื่อว่ามีตำนานเล่าขานและสืบทอดกันมายาวนานกว่า 300 ปี ด้วยผีที่สืบทอดกันในยุคนี้จัดว่าเป็นทายาทผีรุ่นที่ 5 เข้าไปแล้ว...
ผีที่ว่านี้มีชื่อเรียกว่า “ผีขนน้ำ” แหล่งกำเนิดของผีพวกนี้จะอยู่ที่บ้านนาซ่าว ต.นาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย
วิชิต ทำทิพย์ วัย 52 ปี ลูกหลานผีขนน้ำขนานแท้แห่งบ้านนาซ่าว กับมีตำแหน่งเป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลนาซ่าว เล่าว่า พวกเขาเป็นชาวไทพวนมีถิ่นกำเนิดของบรรพบุรุษอยู่เมืองหลวงพระบาง อพยพมาอาศัยถิ่นนี้ทำไร่ทำนากันมานานและไม่เคยคิดจะเคลื่อนย้ายไปไหน
“แต่เดิมพวกเราไม่มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงบูชาผีปู่ผีย่าจนทำให้เกิดประเพณีไหว้ผีบรรพบุรุษที่เชื่อว่าคุ้มครองคนทุกหมู่เหล่าในชุมชนแห่งนี้ โดยจะทำกันในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 ปีนี้ตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยจะเริ่มจากการทำบุญเลี้ยงบ้านจัดสำรับอาหารให้ผีบรรพบุรุษ กับให้จ้ำผู้เป็นร่างทรงประกอบพิธีกรรม จ้ำจึงมักมองชาวบ้านว่าเป็นพวกแมงหน้างาม ชาวบ้านบางกลุ่มจึงมักเรียกประเพณีนี้เพิ่มว่าแมงหน้างามไปด้วย”
วิชิตยังเล่าอีกว่า พอพวกเขาไหว้ผีปู่ผีย่าเสร็จแล้ว สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการไหว้ผีโคผีกระบือผู้ให้คุณต่อการทำไร่ทำนา ครั้นไหว้เสร็จก็จะถึงวาระแห่งความสนุกสนาน โดยหนุ่มฉกรรจ์ในหมู่บ้านรวมถึงเหล่าเด็กที่ชอบความบันเทิง จะชวนกันทำหน้ากากผีที่ใช้สัญลักษณ์โคกระบือเป็นต้นแบบ แล้วแต่งแต้มสีสันให้ดูเข้มข้นแบบน่าเกรงขามด้วยไม้นุ่นที่อ่อนพอที่จะแกะสลักได้ง่าย
ขณะเดียวกันก็ไปเลาะเอาผ้าฟูกนอนเก่าๆ ติดเปลือกนุ่นมาใช้ห่มร่างเป็นผี แล้วก็เต้นโยกขยับไปตามจังหวะดนตรีพื้นบ้าน ช่วงที่เต้นนุ่นแต่ละขยุ้มที่ติดอยู่บนฟูกจะฟุ้งกระจายไปตามจังหวะดนตรีดูแล้วถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ส่วนผีที่ออกมาเต้นรื่นเริงนัยว่าเป็นวิญญาณผีขนของโคกระบือที่มีขนหุ้มร่างขณะมีชีวิต
ลูกหลานผีจึงเรียกพิธีกรรมนี้ว่า “ผีขน” แต่ทุกครั้งที่แห่ผีขนช่วงนี้ก็มักมีฝนตกลงมาพรมชุมชน เหมือนพร้อมทำไร่ทำนากันตามฤดูกาล ลูกหลานชาวนาซ่าวจึงพร้อมใจกันเรียกประเพณีนี้ว่า “ผีขนน้ำ” จนปัจจุบันมีชาวนาซ่าว 15 หมู่บ้าน ประกอบด้วยผู้คนกว่า 700 คน ออกมาร่วมขบวนแห่ผีขนน้ำกันเป็นประจำทุกปี
...
“ทุกปีที่มีงานแห่ผีขนน้ำไม่เฉพาะแต่คนในท้องถิ่น หรือคนไทยจากต่างถิ่นจะแห่กันมาร่วมเทศกาล คนญี่ปุ่นที่สนใจจะซื้อทัวร์และมาร่วมงานพอจบงานแล้วยังจะใช้เวลาอีกส่วนหนึ่งมาฝึกทำหน้ากากผีขนน้ำด้วยตนเอง เสร็จแล้วจะเก็บกลับไปเป็นของที่ระลึก”
ไม่เพียงเท่านั้น...เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทั้งสื่อฯ และนักศึกษาด้านจิตรกรรมของญี่ปุ่นอีกกลุ่มใหญ่ ยังเดินทางไปบ้านนาซ่าว เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของคนถิ่นนี้
โดยคนถิ่นนี้ก็เริ่มมีอาชีพเสริมในการผลิตหน้ากากผีขนน้ำขายให้กับตลาดบนถนนคนเดินริมโขงเชียงคาน แล้วก็ทำตาม
ออเดอร์ที่มาจากภาคส่วนอื่นแดนไกลไปถึงต่างประเทศอยู่เป็นประจำ
สมฤดี ชาญชัย ผอ.ภูมิภาคอีสาน ททท. บอกว่า ทั้งผีตาโขน อ.ด่านซ้าย และผีขนน้ำ อ.เชียงคาน เป็นวิถีไทยที่ถือว่าเป็นวัฒนธรรมโดดเด่นของท้องถิ่น ที่ ททท.ภูมิภาคอีสานจัดบรรจุให้อยู่ภายใต้กิจกรรม “แซ่บ! อีสาน” ในแผนตลาดการท่องเที่ยวอีสานปี 2559
เพื่อเป็นการช่วยส่งเสริมตลาดให้ จ.เลย ก้าวขยับจากที่เคยมีรายได้ทางการท่องเที่ยวปีละ 2,883.37 ล้านบาท จากนักท่องเที่ยวกว่า 1.77 ล้านคนต่อปี ขึ้นไปสู่ 3 ล้านบาท และนักท่องเที่ยว 2 ล้านคนต่อปี
เห็นยังว่า...ผีท้องถิ่นสามารถสร้างคุณประโยชน์ได้ดีกว่าผีตามคูหาเลือกตั้ง ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับ คสช.ร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผีพวกนี้จะฟื้นคืนชีพขึ้นมาตามคำสั่งหัวหน้าผีอีกรึเปล่า?