ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพื่อรองรับการใช้โทรศัพท์มือถือที่มากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องติดตั้งเสาสัญญาณทุกพื้นที่เพื่อรองรับคลื่นสัญญาณที่ทั่วถึงและครอบคลุม จึงไม่แปลกที่หลายๆ คนจะพบเห็นเสาสัญญาณมือถือเหล่านี้ตั้งหัวระแหงอยู่ทุกพื้นที่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายคนจะมองเป็นความคุ้นชินไปโดยปริยาย แต่ก็ยังมีทั้งเสียงเห็นชอบและไม่เห็นชอบ

หลังจากการลงพื้นที่สำรวจการติดตั้งเสาสัญญาณดังกล่าว รวมถึงการสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนในชุมชนชวนชื่นบางเขน รวมไปถึงนักวิชาการอิสระที่คลุกคลีศึกษาเรื่องภัยอันตรายของคลื่นสัญญาณโทรศัพท์มาแล้ว ในตอนที่ 2 นี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะเดินหน้าไขคำตอบทุกมิติจากบริษัทผู้รับผิดชอบ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องว่า กระบวนการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ของบริษัทยักษ์ใหญ่นี้ เป็นไปตามความถูกต้องโดยชอบธรรมหรือไม่ อย่างไร

สร้างก่อนอนุญาต ผิดกฎหมายหรือไม่?

ทาง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พยายามหาคำตอบ จึงสอบถามไปยัง นายณรงค์ จงแจ่มฟ้า ผู้อำนวยการสำนักงานเขตหลักสี่ ซึ่งได้รับคำตอบว่า การอนุญาตการก่อสร้างนั้น ทางสำนักงานเขตหลักสี่ ยังไม่ได้อนุญาตให้มีการก่อสร้าง เนื่องจากว่าที่ผ่านมามีเพียงการแจ้งให้ทางสำนักงานเขตทราบเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานเขตหลักสี่ตัดสินใจแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยการชี้แจงกับทางบริษัทให้มีการทำประชาพิจารณ์กับทางชุมชนให้เรียบร้อยเสียก่อน จึงจะออกใบอนุญาตการก่อสร้างให้ได้

ก่อสร้างไปบางส่วนแล้ว ทั้งที่ยังไม่รับการอนุญาตจากสำนักงานเขตหลักสี่ ได้ชี้แจงว่า การก่อสร้างโดยที่ไม่ได้รับการอนุญาตนั้นถือเป็นความผิด จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและระงับการก่อสร้างไปแล้วเบื้องต้น จนกว่าจะได้รับการอนุญาตตามขั้นตอน ส่วนบทลงโทษกับทางบริษัทเจ้าของเสาส่งสัญญาณดังกล่าวนี้ จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.การก่อสร้าง และเข้าแจ้งความพร้อมดำเนินคดีกับทางบริษัท ซึ่งโทษเบื้องต้นอาจเป็นเพียงแค่การปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะนี้ทางสำนักเขตหลักสี่ทำเพียงระงับการก่อสร้างแต่ยังไม่มีการดำเนินการทางกฎหมายใดๆ

...

ผอ.สำนักงานเขตหลักสี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทาง บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินในพื้นที่ส่วนนั้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือเป็นพื้นที่ของทางบริษัทโดยชอบธรรม ทั้งนี้ ทางสำนักเขตหลักสี่ ต้องทำหน้าที่เป็นกลางด้วยการรับฟังทั้งสองฝ่าย

"การอนุญาตหรือไม่นั้น ไม่สำคัญ เพราะเรื่องการก่อสร้างเสาสัญญาณสามารถทำได้โดยไม่มีปัญหา แต่ปัญหาจริงๆ คือเรื่องของคลื่นสัญญาณที่จะมีผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของทาง กสทช. กับทางบริษัทที่จะต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้าน" นายณรงค์ กล่าว

สิ่งต้องเตรียม! ส่องขั้นตอนก่อนการก่อสร้าง

นอกจากนี้ นายณรงค์ ยังได้ชี้แจงถึงขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้งหรือก่อสร้างในชุมชนว่า มีการดำเนินการเหมือนการขออนุญาตปลูกสร้างบ้านทั่วไป คือต้องเตรียม 1. โฉนดที่ดิน 2. หนังสือสัญญาเช่าที่ทางสำนักงานเขตกำหนดไว้ และ 3. แบบแปลนการก่อสร้าง เข้ายื่นต่อสำนักงานเขต

ขณะเดียวกัน ทางทีมข่าวฯ ได้ติดต่อสอบถามไปยัง นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ในเรื่องการติดตั้งเสาสัญญาณดังกล่าว และได้รับคำตอบเพียงสั้นๆ ว่า เรื่องเสาสัญญาณยังคงต้องรอการตรวจสอบ แต่ส่วนความถูกต้องของคลื่นสัญญาณนั้นเป็นหน้าที่ของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ก่อนก่อสร้างควรทำความเข้าใจกับประชาชน!

เพื่อให้เกิดความกระจ่างว่า การทำประชาพิจารณ์จำเป็นหรือไม่ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงสอบถามไปยัง นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ไขคำตอบว่า ตามประกาศของ กสทช. ระบุไว้ว่า การติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะเขต สถานศึกษา สถานรับเลี้ยงเด็ก และสถานพยาบาล หากว่ามีหลักฐานการทำความเข้าใจเรียบร้อยแล้ว ทาง กสทช. จึงจะสามารถออกใบอนุญาตให้ได้

...

"ที่ผ่านมาการแสดงหลักฐานการทำความเข้าใจระหว่างบริษัทกับประชาชนนั้น เป็นลักษณะที่ทางบริษัทถ่ายรูปชาวบ้าน เพียง 2-3 คน โดยอ้างว่าทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว ทำให้เกิดกรณีชาวบ้านออกมาร้องเรียนว่าไม่ทราบเรื่อง และไม่เห็นด้วยกับการกระทำของบริษัท จึงต้องเรียกร้องให้มีการจัดการประชุมหรือประชาพิจารณ์ขึ้นมา"

กรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ยังบอกอีกว่า หากเรื่องราวดังกล่าวมีการร้องเรียนไปยัง กสทช. จริง ทางส่วนของ กสทช. จะต้องตรวจสอบต่อไปว่า เสาสัญญาณของบริษัทที่ว่านี้มีหลักฐานการทำความเข้าใจกับประชาชนหรือไม่ ขณะเดียวกัน ประชาชนต้องเข้าใจถึงเหตุผลส่วนหนึ่งว่า เนื่องด้วยกรรมการส่วนใหญ่เป็นห่วงอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก จึงไม่ค่อยมีกรณีคำสั่งให้เพิกถอนเสาสัญญาณ เพราะหากได้รับใบอนุญาตแล้วจะสามารถให้ทางบริษัทดำเนินการต่อได้ แต่กระนั้นทางบริษัทจะต้องไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านในภายหลัง

ทาง กสทช. มีกฎกติกาว่า หากมีการร้องเรียนก่อนออกใบอนุญาตนั้น ทาง กสทช. จะไม่ออกใบอนุญาตให้โดยเด็ดขาด เพราะหมายถึงว่าชุมชนได้รับผลกระทบ แต่ขณะเดียวกัน หากทางบริษัทมีหลักฐาน การทำความเข้าใจกับประชาชน จนได้รับการออกใบอนุญาตให้แล้วเรียบร้อย แต่มีชาวบ้านมาร้องเรียนภายหลัง กรณีนี้กรรมการจะไม่เพิกถอน

ทาง กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึงทางออกของปัญหาดังกล่าวนี้ว่า ทาง กสทช. มีการตกลงร่วมกันที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจนว่า ด้วยการมีกติกาที่ชัดเจน คือ การทำความเข้าใจกับประชาชนจะต้องทำอย่างไร เช่น จะต้องประกาศให้ประชาชนทั้งชุมชนรับรู้ด้วยวิธีใด จะต้องมีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นกันหรือไม่ และจำนวนประชาชนมากน้อยเพียงใดที่ไม่ต้องการให้มีการติดตั้งเสาสัญญาณ ส่วนประชาชนที่ต้องการเสาสัญญาณนั้น ต้องการจะให้ติดตั้งในพื้นที่ดังกล่าวหรือไม่

...



อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา หลังจากสกู๊ปข่าวตอนที่ 1 ภัยเงียบคลื่นมือถือ EP.1 ตั้งเสาพิลึก ชาวบ้านหลักสี่ผวาเสี่ยงก่อมะเร็ง เผยแพร่ออกไป ทำให้ทางบริษัทผู้รับผิดชอบคลื่นสัญญาณดังกล่าว ได้ติดต่อเข้ามายัง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เพื่อขอชี้แจงถึงเรื่องราวดังกล่าว โดยมีข้อความระบุ ดังนี้

บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จํากัด กล่าวชี้แจงกรณีมีการร้องเรียนในการก่อสร้างเสาสัญญาณมือถือบริเวณชุมชนชวนชื่น บางเขน ย่านหลักสี่ ดังนี้

1. ดีแทค ไตรเน็ต เห็นความจำเป็นในการพัฒนาและบริการคุณภาพสัญญาณมือถือ บริษัทฯ ได้จัดจ้าง บริษัทที่รับผิดชอบการหาพื้นที่และการสร้างติดตั้งเสาสัญญาณให้เข้าจัดเตรียมพื้นที่ และทำการก่อสร้างเสาสัญญาณ โดยบริษัทที่รับจ้างได้ทำงานควบคู่กับการขออนุญาตจากกรมโยธาธิการ กรุงเทพมหานคร การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไขของ กสทช. ซึ่งแบบการก่อสร้างเป็นไปตามหลักวิศวกรรม โดยแบบที่ก่อสร้างนี้ได้มีการรับรองแบบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการก่อสร้างมาแล้วทั่วประเทศตามขั้นตอนปกติ

...

ทั้งนี้ เพื่อความรวดเร็วในการขยายสัญญาณสู่การบริการที่ดีเพื่อคุณภาพ และเพื่อเป็นการแก้ไขปรับปรุงคุณภาพสัญญาณในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งได้รับการร้องเรียนถึงปัญหาการใช้งาน สำหรับเสาสัญญาณแห่งนี้จะสามารถรองรับการใช้งานดาต้าทั้งในด้านปริมาณการใช้งานและประสิทธิภาพความเร็วในการรับส่งข้อมูล สอดรับกับแผนการใช้งานของประชากรในพื้นที่โดยรอบพื้นที่ 2-3 กิโลเมตร

2. เสาสัญญาณดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง จึงมีแค่โครงสร้างเสาสัญญาณยังไม่ได้มีการเชื่อมต่อใดๆ ในการใช้งาน และเมื่อมีเสียงคัดค้านจากชุมชน ทางบริษัทฯ ได้สั่งให้บริษัทที่ได้รับการว่าจ้างให้ระงับการดำเนินการก่อสร้างเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

3.ทีมงานติดตั้งเสาสัญญาณได้มีการทำการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจและเห็นถึงความจำเป็นในการสร้างเสากับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่รอบบริเวณดังกล่าว ผ่านสื่อติดประกาศและผ่านช่องทางสื่อโซเชียลและอีเมล์เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนในพื้นที่

4. ทีมงานดีแทค ไตรเน็ต จะยังคงเร่งเข้าไปในพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจกับชุมชนดังกล่าวเพิ่มเติม พร้อมรับฟังในสิ่งที่ชุมชนร้องเรียนและหาทางออกร่วมกันต่อไป อย่างไรก็ตามความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ และคลื่นสัญญาณ ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือร่วมใจกันให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และมิให้ประชาชนสับสนหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนไปกับความคิดเห็นส่วนตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญ ดังนั้นทุกอย่างควรอิงข้อมูลทางวิชาการที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และต้องเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์และการแพทย์สากลกับประชาชน ที่มีความกังวลและได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ซึ่งจะกระทบต่อความสำคัญในการสร้างสาธารณูปโภคเพื่อการพัฒนาประเทศชาติ โดยเฉพาะเทคโนโลยีโทรคมนาคมและการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา ผ่านอุปกรณ์ใกล้ตัวอย่าง เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ซึ่งส่วนใหญ่ทุกวันนี้จะเป็นการเพิ่มการสื่อสารด้วยข้อมูลผ่านโมบายล์อินเทอร์เน็ตแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันที่เข้าสู่ยุค 3G และ 4G

5. ดีแทค ไตรเน็ต ขอยืนยันว่า อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่นำมาใช้สร้างเสาสัญญาณและให้บริการทั้งหมดทุกชิ้นได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามระเบียบของ กสทช. และผ่านการรับรองตามมาตรฐานสากลจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (The International Telecommunication Union) หรือ ITU ที่ทำหน้าที่ออกกฎระเบียบและกำกับโทรคมนาคมที่เป็นสากลและใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติทั่วโลกเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ผู้บริโภคจึงไม่ควรต้องกังวลในเรื่องสุขภาพ เพราะหน่วยงานของรัฐทั้งในและอีกหลายหน่วยงานทั่วโลกได้กำหนดค่ามาตรฐานโดยคำนึงถึงความปลอดภัยอยู่แล้ว ทั้งนี้บริษัทฯ ขอยืนยันว่าได้ดำเนินการระเบียบและขั้นตอน ตามที่ กสทช. กำหนดหลักเกณฑ์ และเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ ได้ให้สัมภาษณ์กับทางผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมว่า จากเรื่องราวดังกล่าว ทางบริษัทได้มีการเข้าไปประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในชุมชนเบื้องต้นแล้ว อย่างไรก็ตาม หากทางชุมชนมีความคิดเห็นว่าทางบริษัทยังเข้าไปพูดคุยน้อยเกินไป ทางบริษัทจะเร่งเข้าไปเจรจาหารือเพื่ออธิบายและคลายความกังวลใจ พร้อมทั้งหาทางออกร่วมกับชุมชนต่อไป