เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการ กทม. นายสัญญา ชีนิมิตร ปลัด กทม. ให้การต้อนรับ พล.ท.ภุชพงศ์ พงษ์ศิริ หัวหน้าฝ่ายอำนวยการประสานงานศูนย์แก้ไขปัญหาความมั่นคงแบบบูรณาการ (ศบม.) กระทรวงกลาโหม และคณะ ในโอกาสเข้ารับการฟังบรรยายภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ และการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในปี 2558
นายสัญญากล่าวในที่ประชุมว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของ กทม. มี 2 ระบบ ได้แก่ ระบบป้องกันน้ำท่วม โดยการก่อสร้างคันกั้นน้ำปิดล้อมพื้นที่ เพื่อป้องกันน้ำหลากและน้ำทะเลหนุนสูง และ 2. ระบบระบายน้ำ โดยก่อสร้างปรับปรุงระบบระบายน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง เนื่องจากน้ำฝน โดย กทม. สามารถระบายน้ำท่วมขังในระยะเวลา 2 ชั่วโมง ในกรณีที่มีปริมาณน้ำฝนตกไม่เกิน 60 มิลลิเมตร ประกอบด้วย 1.ท่อระบายน้ำ ยาว 6,400 กิโลเมตร 2.คู คลอง ระบายน้ำ 1,682 คลอง ยาว 2,600 กิโลเมตร 3.สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ บ่อสูบน้ำ 4.อุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ 7 แห่ง ยาว 19 กิโลเมตร 5.แก้มลิง เพื่อรองรับน้ำฝน 25 แห่ง และ 6.ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม ซึ่งเป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
สำหรับการเตรียมความพร้อมในการรับมือน้ำในปี 2558 กทม.ได้ขุดลอกและเปิดทางน้ำไหลตามคูคลอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลอง จำนวน 1,682 คลอง ยาว 2,600 กิโลเมตร โดยคลองที่ขุดจ้างเหมาแล้วเสร็จ 26 เปอร์เซ็นต์ และคลองที่ กทม. ดำเนินการเองแล้วเสร็จ 76 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังได้ทำความสะอาดท่อระบายน้ำแล้วเสร็จ 3,600 กิโลเมตร คิดเป็น 55 เปอร์เซ็นต์ และจัดเรียงกระสอบทราย รวมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ 833 เครื่อง ตามสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ บ่อสูบ
พล.ท.ภุชพงศ์กล่าวว่า ทางคณะทำงานไม่ได้มาเพื่อจับผิดการทำงานของ กทม. แต่ต้องการมาให้กำลังใจในการเตรียมแผนปฏิบัติการป้องกันน้ำท่วม และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพฯ ว่า กทม.มีความพร้อมในการดูแลและป้องกันปัญหาน้ำท่วมอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม หากกรณีเกิดพายุฝนขนาดใหญ่ ก็อาจจะทำให้เกิดการชะงักบ้างในบางส่วน รวมถึงปัญหาขยะ ซึ่งจากนี้จะรายงานผลการปฏิบัติงานของ กทม.ไปนำเรียนรัฐบาลต่อไป.
...