คสช.ลงพื้นที่ นครพนม ติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมโยงการค้าชายแดน ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้า ด้านพ่อเมือง ยัน พร้อมวางพื้นฐานพัฒนา ดึงดูดนักลงทุน พอใจมูลค่าการค้าชายแดนพุ่ง เกือบ 5 หมื่นล้าน 

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2558 นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะทำงานขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล พร้อมด้วย นายจตุพร เณรนุ่ม เลขานุการรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายสมบัติ ธนพัฒนพงศ์ ผู้อำนวยการส่วนประชาสัมพันธ์ และวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้า มอบแนวทาง และรับฟังปัญหา ในการขับเคลื่อนวางแผนการพัฒนาของศูนย์เศรษฐกิจพิเศษ จ.นครพนม

ภายหลัง จ.นครพนม ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 เพื่อเดินหน้าพัฒนาเป็นเมืองศูนย์กลางการค้า การท่องเที่ยว เชื่อมโยงสู่ชายแดนไทย ลาว เวียดนาม และจีน โดยมี นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือสรุปการดำเนินงาน ภายในห้องประชุมศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าผ่านแดน จ.นครพนม บริเวณใกล้ด่านชายแดน สะพานมิตรภาพไทยลาว แห่งที่ 3 นครพนม – คำม่วน ในครั้งนี้

...

ทาง นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้สรุปความก้าวหน้าการขับเคลื่อนพัฒนารองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจ ของ จ.นครพนม เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล ในการประกาศให้ จ.นครพนม เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 ว่า ได้ทำงานเชิงรุกวางยุทธศาสตร์ในการวางรากฐานเพื่อดึงดูดนักลงทุน ผู้ประกอบการการค้าทุกภาคส่วนมาลงทุน ซึ่งเน้นให้จังหวัดนครพนม เป็นศูนย์กลางการค้าเพื่อกระจายสินค้าส่งออกชายแดน ไปยัง ลาว เวียดนาม และจีน เนื่องจาก นครพนม มีสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 3 นครพนม – คำม่วน เชื่อมไปยังเส้นทาง หมายเลข 8 หมายเลข 12 ที่มีระยะทางขนส่งสั้นที่สุดไปยัง ชายแดนเวียดนาม ประมาณ 300 กิโลเมตร จึงเป็นจุดแข็งในการลดต้นทุนการขนส่ง

เบื้องต้น ได้มีการกำหนดพื้นที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแต เนื้อที่กว่า 2,500 ไร่ ในพื้นที่บ้านไผ่ล้อม ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจใน อ.เมืองนครพนม 10 ตำบล และ อ.ท่าอุเทน 3 ตำบล ซึ่งปัจจุบันได้มีการตั้งศูนย์ประสานงานพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงก่อสร้างโลจิสติกส์ เกี่ยวกับการจัดการขนส่งสินค้าชายแดน รองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจ และวางเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าชายแดน ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ และปัจจุบันถือว่ามีความพอใจเกี่ยวกับมูลค่าสินค้าส่งออกนำเข้าชายแดน นครพนม ซึ่งในช่วงปี 2556 มีมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท ปี 2557 ประมาณ 80,000 ล้านบาท คาดว่าในปี 2558 จะเพิ่มขึ้นถึงกว่าแสนล้านบาท ที่จะเป็นตัวชี้วัด ว่า จ.นครพนม จะต้องเป็นเมืองเศรษฐกิจพิเศษ ที่มีความเติบโตด้านเศรษฐกิจการค้าการท่องเที่ยว ที่สำคัญของภาคอีสานในอนาคต และจะสามารถดึงดูดนักลงทุนมาประกอบธุรกิจได้อย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน ทางด้าน นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากภาพรวมการสรุปข้อมูลการขับเคลื่อนวางแผนงานพัฒนา รองรับเมืองเศรษฐกิจพิเศษ ยอมรับว่า เป็นที่น่าพอใจ เกี่ยวกับเรื่องมูลค่าสินค้าชายแดน ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากจะเป็นตัวชี้วัดที่จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยทางรัฐบาลจะติดตามการดำเนินงานใกล้ชิด เพื่อให้ จ.นครพนม มีศักยภาพในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องงบประมาณ รวมถึงปัญหาด้านต่างๆ ที่ยังติดขัด จะได้นำไปหารือแนวทางวางแผนแก้ไขเร่งด่วน เนื่องจากรับทราบว่า ทางภาคเอกชน กลุ่มพ่อค้า ผู้ประกอบการ ยังมีความต้องการเรื่องสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อมาลงทุนในพื้นที่ จ.นครพนม และจะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านธุรกิจการค้า ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเงินทุน เรื่องของการเสียภาษี รวมถึงทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีแคมเปญ ดึงดูดผู้ประกอบการ ทั้งนี้อยากเรียนไปยังทุกภาคส่วน รวมถึงนักลงทุนว่า ขอให้มีความเชื่อมั่นในรัฐบาล และความมั่นคงด้านต่างๆ ยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้จะทุ่มเททำงานพัฒนาด้านเศรษฐกิจ รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ จะต้องได้รับการดูแล ให้สามารถขับเคลื่อนไปได้ตามเป้าหมาย เพราะเป็นความคาดหวังของรัฐบาลที่จะให้พื้นที่ชายแดน รวมถึง จ.นครพนม มีความเจริญ ก้าวหน้าด้านการค้า เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ อยู่ดี กินดี ในอนาคต