ตั้งศูนย์เรียนรู้แผ่นดินไหว-ทำแอพฯตรวจสอบจุดเสี่ยง

ที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายก วสท. ร่วมกับนายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี แถลงข่าวความคืบหน้าโครงการพัฒนาศูนย์ถ่ายทอดความรู้ธรณีพิบัติแผ่นดินไหว จังหวัดเชียงราย และแผนเตรียมรับมือภัยพิบัติปี 2558 โดยนายสุชัชวีร์กล่าวว่า วันที่ 5 พ.ค.2558 จะครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประเทศไทย ในการนี้ วสท.ได้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวจังหวัดเชียงราย พร้อมลงพื้นที่และจัดกิจกรรมให้ความรู้บุคลากรท้องถิ่นด้านก่อสร้างและซ่อมแซมตามหลักวิศวกรรมมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับอาคารเรียนพระราชทานจากสมเด็จพระเทพ
รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้รับความเสียหาย วสท.ได้ออกแบบและปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างใหม่จำนวน 4 หลัง ได้แก่ โรงเรียนธารทองพิทยาคมและโรงเรียนโป่งแพร่วิทยาคม เป็นอาคาร 2 ชั้น จะก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2558 อีก 2 อาคาร คือ โรงเรียนพานพิทยาคม และโรงเรียนแม่ลาววิทยาคม เป็นอาคาร 3 และ 4 ชั้นตามลำดับ จะแล้วเสร็จกลางปี 2559

นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ ทางกรมได้มีการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านธรณี
พิบัติภัยแผ่นดินไหวให้แก่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดความรู้ธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหวขึ้น ที่ อบต.ทรายขาว อ.พาน จังหวัดเชียงราย ศูนย์ดังกล่าวประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1.นิทรรศการองค์ความรู้ด้านธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหว 2.สวนหินชนิดต่างๆในพื้นที่เพื่อให้ความรู้ด้านธรณี 3.อนุสรณ์รำลึกเหตุแผ่นดินไหว โดยมีการจัดแสดงชิ้นส่วนตัวอย่างของบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ วสท.ได้ทำโครงสร้างบ้านต้านแรงแผ่นดินไหว สร้างห้องจำลองการสั่นจากแรงแผ่นดินไหว มอบให้ทางศูนย์เพื่อให้ความรู้ด้านแผ่นดินไหวอีกด้วย ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก สำหรับแผนรับมือภัยพิบัติ ปี 2558 อาทิ จะมีการเชื่อมโยงเครือข่ายสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวแบบต่อเนื่องตลอดเวลา ทั้งจากหน่วยงานในและต่างประเทศ จัดทำแผนที่แสดงการเกิดแผ่นดินไหวระดับจังหวัด ขณะนี้เสร็จแล้ว 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และลำพูน ต่อไปจะทำที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก และกาญจนบุรี รวมถึงติดตามพฤติกรรมการเลื่อนตัวของรอยเลื่อน ด้วยการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคลื่นสั่นสะเทือนพื้นดินระบบอัตโนมัติ จำนวน 60 แห่ง ครอบคลุม 14 รอยเลื่อนทั่วประเทศ แล้วเสร็จปลายปี 2558 นอกจากนี้ กรมเตรียมทำแอพพลิเคชั่น เพื่อตรวจสอบจุดเสี่ยงภัย คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้เร็วๆนี้.

...