สคร.7 อุบลฯ เตือนหน้าร้อนมีโอกาสเสี่ยงท้องร่วง โดยเฉพาะอาหารงานบุญ อาหารสุกๆ ดิบๆ แนะยึดหลักปฏิบัติ "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” เผย ม.ค.-ก.พ. พบผู้ป่วยในเขตรับผิดชอบ 7 จังหวัดแล้วกว่า 3.5 พันคน ...
วันที่ 21 เม.ย. 58 นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูร้อนมักจะพบการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ที่สำคัญ 6 โรค ได้แก่ อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ อุจาระร่วง ไทฟอยด์ บิด และไวรัสตับอักเสบ เอ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงในช่วงหน้าร้อน ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในอาหาร เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลงานบุญ จะมีการทำอาหารเพื่อแจกจ่ายคนในงาน ซึ่งเมนูอาหารที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ได้แก่ อาหารที่ปรุงด้วยกะทิ ขนมจีน อาหารทะเลสด อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารถุง ส้มตำ อาหารค้างมื้อ หากผู้ปรุงอาหารปริมาณมาก หรือภาชนะใส่อาหารไม่สะอาดเพียงพอ ทำอาหารล่วงหน้าก่อนถึงเวลารับประทาน อาหารอาจบูดเสีย มีกลิ่นหรือรสชาติเปลี่ยน ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษหรือโรคอุจาระร่วงได้
นพ.ศรายุธ ยังกล่าวอีกว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงอย่างแรงของกลุ่มระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 28 ก.พ. 58 พบรายงานผู้ป่วยในพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด แล้วทั้งสิ้น 3,526 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ จ.อุบลราชธานี รายงานผู้ป่วย 1,078 ราย รองลงมา คือ จ.ศรีสะเกษ 964 ราย ขอให้ประชาชนยึดหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันง่ายๆ เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง และโรคติดต่อทางอาหารและน้ำอื่นๆ คือ "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" ประกอบด้วย 1. กินร้อน โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและปรุงสำเร็จใหม่ๆ หากเป็นอาหารค้างมื้อ ควรอุ่นให้ร้อนหรือเดือดก่อนรับประทาน 2. ใช้ช้อนกลาง ตักอาหารขณะกินอาหารร่วมวงกับผู้อื่น 3. ล้างมือ ด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง หลังจากใช้ห้องส้วมก่อนปรุงและรับประทานอาหาร รวมถึงก่อนเตรียมนมให้เด็กทุกครั้ง
...
สำหรับอาการป่วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ อาการของผู้ป่วยจะคล้ายๆ กัน มักถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำหรือมีมูก ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ในการดูแลผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงทั่วๆ ไป ขอให้รับประทานอาหารตามปกติ ไม่ควรงดอาหาร เพื่อให้มีสารอาหารที่จำเป็นไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และควรเป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด และให้ดื่มผงน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอสแทนน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น ยังถ่ายบ่อย อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ มีไข้สูง หรือถ่ายอุจจาระเป็นมูกปนเลือด ให้รีบไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์ทันที หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422