ย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 ประเทศไทยเสียหายอย่างหนักจากอุทกภัยครั้งใหญ่ เส้นทางการขนส่ง โดยเฉพาะทางหลวงและทางหลวงพิเศษ จำนวนถึง 14 สายทางที่อยู่รอบนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ได้รับผลกระทบอย่างมาก กรมทางหลวงจึงเร่งบูรณะและฟื้นฟู โดยเสนอแผนบูรณะทางหลวงต่อรัฐบาลขณะนั้นและเมื่อวันที่ 13 ม.ค.2555 รัฐบาลไทย โดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำ ได้ลงนามบันทึกการหารือ (Record of Discussions) กับ องค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) ในโครงการ “Project for Comprehensive Flood Managerment Plan for The Chao Phraya River Basin” สรุปสาระสำคัญ 3 ข้อหลักคือ

การวางแผนบริหารจัดการน้ำ การออกแบบหรือกำหนดรูปแบบโครงการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลญี่ปุ่น โครงการนำร่อง โครงการบูรณะฟื้นฟูเร่งด่วน เพื่อป้องกันพื้นที่สำคัญ เช่น พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม หรือพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ JICA เห็นว่า ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจของไทย จึงได้หารือกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย รวมถึงแนวทางป้องกันอุทกภัยในอนาคตอย่างน้อย 1 เส้นทาง

...

JICA จึงมอบความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่กรมทางหลวง ในการบูรณะทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอก โดยยกระดับทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (ด้านตะวันออก) ในช่วงลำลูกกาถึงทางแยกต่างระดับบางปะอิน บริเวณ กม.ที่ 10+600–11+124, กม.ที่ 11+558–20+580 และ กม.ที่ 23+690–26+200 ให้สูงขึ้น รวมระยะทาง 15.056 กิโลเมตร
ซึ่งทางสายนี้หากมีปัญหาอุทกภัยเกิดขึ้นอีกในระดับเดิม เส้นทางดังกล่าวก็จะสามารถใช้งานได้ตามปกติ

โครงการบูรณะทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอก (ด้านตะวันออก) ก่อสร้างโดยกลุ่มบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างญี่ปุ่น 3 บริษัท คือ บริษัท Hazama Ando Corporation บริษัท Toa Road Corporation และบริษัท World Kaihatsu Kogyo Co., Ltd และมีบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างชาวญี่ปุ่น ได้แก่ บริษัท CTI Engineering International Co., Ltd เริ่มก่อสร้างเดือน มิ.ย.2556-เม.ย.2558 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 3,266,476,000 เยน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2558 ที่ผ่านมา กรมทางหลวงจัดพิธีรับมอบโครงการบูรณะทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอก (ด้านตะวันออก) โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ Mr.Akihiko Uchikawa อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมเป็นประธานในพิธีฯ 

ณ ศูนย์ควบคุมด่านเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางถาวรทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (CCB ลาดกระบัง) ความสำเร็จของโครงการนี้ จะทำให้ประชาชนผู้ใช้ทางได้รับความสะดวก ปลอดภัยในการเดินทางยิ่งขึ้น.