ชาวไทยพวน บ้านโภคาภิวัฒน์ ต.บางน้ำเชี่ยว อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี รักษาประเพณีสงกรานต์ดั่งเดิม จัดพิธีสรงนำพระสงฆ์ด้วยการตักน้ำผ่านรางไม้สักขุดอายุนับ 100 ปี รองรับน้ำใน "บ่อนสรงน้ำเจ้าหัว" ระบุเป็นการสรงน้ำพระสงฆ์ที่แปลกไปจากที่อื่นๆ ...

เมื่อวันที่ 14 เม.ย.58  ที่ วัดโภคาภิวัฒน์ ต.บางน้ำเชี่ยว อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ชาวไทยพวนบ้านโภคาภิวัฒน์ จัดงานประเพณีสงกรานต์ รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามที่สืบทอดกันมานานนับ 100 ปี ตั้งแต่ครั้งสมัยที่บรรพบุรุษอยู่ที่เมืองเชียงขวาง ประเทศลาว โดย นายสำราญ นันทนีย์ นายอำเภอพรหมบุรี เป็นประธานเปิดงาน "ไหว้สาปาระมี สรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุเอ๊ว ไทยพวนนคเรศเวียงพรหมเน้อเอ๊ว เฮ้วปวระเขต" นำชาวบ้านสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ โดยชาวบ้านได้นำใบมะยมแช่น้ำในขันแล้ว ทุกคนใช้วิธีเทน้ำลงไปในรางไม้ที่เอียงตามวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม จากนั้นได้ร่วมกันสรงน้ำหลวงพ่อหิน “พระพุทธมงคลมุณีศิลาโภคาภิวัฒน์” อายุ 800-1,000 ปี สันนิษฐานว่า ชาวไทยพวนได้อัญเชิญมาด้วย ตอนอพยพจากเมืองเชียงขวาง แล้วนำมาประดิษฐาน ณ วิหารวัดโภคาภิวัฒน์

...

นายมุนี คำแย้ม นายกเทศมนตรีตำบลบางน้ำเชี่ยว กล่าวว่า ประเพณีการสรงน้ำพระสงฆ์ที่นี่ค่อนข้างจะแปลกไปจากที่วัดอื่น คือทางวัดจะสร้างห้อง โดยนำกระดานมาตีล้อมคล้ายห้องอาบน้ำ 3 ด้าน อีกด้านหนึ่งปล่อยโล่ง (ไม่มีหลังคา) ชาวไทยพวนเรียกห้องนี้ว่า “บ่อนสรงน้ำเจ้าหัว” ขนาดห้องกว้าง ประมาณ 2 เมตร สูง 2 เมตร แล้วเอาท่อนไม้สักมาขุดเป็นรางน้ำยาวประมาณ 3-4 เมตร แล้วนำปลายรางน้ำข้างหนึ่งมาพาดบนขอบด้านบนของ “บ่อนสรงน้ำเจ้าหัว” แล้วยกปลายรางอีกข้างหนึ่งสูงราดขึ้น แล้วมีเสาค้ำยันมารองปลายรางอีกข้างหนึ่ง ภายในห้องจะมีเก้าอี้ตั้งไว้ 1 ตัว สำหรับให้พระสงฆ์นั่งรับน้ำ


นายกเทศมนตรีตำบลบางน้ำเชี่ยว กล่าวด้วยว่า เมื่อพระสงฆ์มานั่งที่เก้าอี้แล้ว ประชาชนที่มาสรงน้ำก็จะนำน้ำมาเทลงในรางให้น้ำไหลมาตามรางลงมาตรงตัวพระสงฆ์ ที่นั่งรอรับน้ำอยู่ในบ่อนสรงน้ำเจ้าหัว สรงน้ำพระสงฆ์เช่นนี้จนครบจำนวนพระสงฆ์ที่จำพรรษาในวัด เหตุที่ทำเช่นนี้เนื่องจากทางวัดยึดถือประเพณีดั้งเดิมที่จะไม่ให้ประชาชน เข้าใกล้หรือถูกตัวพระนั่นเอง ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปบ้างเพื่อความสะดวกของผู้สูงอายุ จึงนับว่าวิธีสรงน้ำพระที่วัดโภคาภิวัฒน์แปลกกว่าที่อื่น.