หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่เคยสงสัยเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรา หรือมีคำถามคาใจ แต่ไม่เคยรู้คำตอบ ไม่ว่าจะเป็น ต้องรวยถึงอยู่ได้ จริงหรือ? จะอยู่จะกินอย่างไร? เอาเงินที่ไหนใช้? ถูกตีกรอบไปไหนไม่ได้เลยหรือไม่? แล้วสิ่งที่คุณควรรู้ที่เกี่ยวกับบ้านพักคนชรา คืออะไร? วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีคำตอบ!
โจทย์ข้อที่ 1 : สาเหตุใดบ้างที่ลูกหลานส่งผู้สูงอายุมาอยู่บ้านพักคนชรา ?
นางสิรินุช อันตรเสน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค เปิดเผยถึงสาเหตุหลักๆ ที่ผู้สูงอายุเข้ามารับบริการที่บ้านบางแคนั้น มาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น
- หากอยู่ที่บ้านจะไม่มีใครเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพราะลูกหลานต้องออกไปทำงานกันหมด
- หรือผู้สูงอายุบางคนก็ไม่สามารถอยู่กับลูกหลานได้ เพราะมีปากเสียงกันบ่อยครั้ง เหตุจากผู้สูงอายุและลูกหลานในบ้านค่อนข้างมีช่วงวัยที่ห่างกันมาก จึงก่อให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน
- ผู้สูงอายุบางคนจะมีความคิดที่ว่า ถ้าอยู่บ้านอาจเป็นภาระแก่ลูกได้ จึงตัดสินใจขอลูกๆ มาอยู่ที่บ้านบางแคด้วยตัวเอง
- ผู้สูงอายุบางคนอยู่ตัวคนเดียว แต่งงานแล้วแต่สามีภรรยาเสียชีวิต ไม่มีลูก หรือบางคนก็เป็นโสด จึงทำให้ไม่มีใครคอยเป็นผู้ดูแล
...
โจทย์ข้อที่ 2 : บ้านพักคนชรา ต้องรวยถึงอยู่ได้ จริงหรือ ?
บ้านพักคนชรา เช่นเดียวกับบ้านบางแคนั้นมี 12 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะมีศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศม์ฯ ที่จังหวัดอยุธยาอีกหนึ่งแห่งเท่านั้น ที่จะมีห้องแบบหอพัก ส่วนที่อื่นๆ จะเป็นประเภทสามัญเพียงอย่างเดียว
“ดังนั้น ที่บ้านบางแคจึงมีเพียง 40 คนเท่านั้นที่พอจะมีฐานะส่งเงินรายเดือนได้ ซึ่งเป็นในส่วนหอพัก และอีก 10 กว่าคนที่มีเงินก้อนสร้างบ้านพัก หรือบังกะโลอยู่ระยะยาวได้” แม่ใหญ่แห่งบ้านพักคนชราตอบคลี่คลายข้อข้องใจ
โจทย์ข้อที่ 3 : ผู้สูงอายุต้องอยู่แต่ในบ้านพักคนชรา หรือไปไหนก็ได้ ?
เงื่อนไขอีกข้อหนึ่งในการรับผู้สูงอายุเข้าบ้านบางแคที่สำคัญมากๆ ก็คือ ผู้สูงอายุจะต้องมีความสมัครใจที่จะเข้ารับการสงเคราะห์ เพราะการที่รับผู้สูงอายุที่ไม่มีความยินยอมพร้อมใจเข้ามา อาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาภายหลัง ไม่ว่าจะเป็น ผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกซึมเศร้า ทะเลาะกับผู้สูงอายุรายอื่น หรือร้ายแรงถึงขั้นหนีออกไปจากบ้านพักคนชรา ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
“ด้วยความที่เจ้าหน้าที่ของเรามีจำนวนไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถจับตาดูแลผู้สูงอายุได้ตลอดเวลา ดังนั้น ถ้ารับผู้สูงอายุที่ไม่เต็มใจที่จะอยู่เข้ามา อาจเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ผู้สูงอายุเดินออกไปเลย โดยที่ไม่บอกไม่กล่าว แต่สำหรับผู้สูงอายุที่เข้ามาอยู่ที่นี่แล้ว วันใดวันหนึ่งเกิดคิดถึงลูกคิดถึงหลาน ก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อเดินทางกลับบ้านได้โดยตลอด และไม่กำหนดระยะเวลาอีกด้วย” ผู้อำนวยการบ้านบางแคไขข้อข้องใจ
โจทย์ข้อที่ 4 : ผู้สูงอายุจะเอาเงินที่ไหนใช้ ?
บ้านพักคนชราบางแคนั้น เป็นที่รู้จักในวงกว้างของคนในสังคมอยู่แล้ว ดังนั้น ที่นี่จึงเป็นที่แรกๆ ที่ผู้คนจะเลือกเข้ามาบริจาคและเลี้ยงอาหารแก่ผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้น ผู้สูงอายุที่นี่จึงมีเงินเก็บจากการบริจาคใส่ซองของเจ้าภาพใจบุญมากหน้าหลายตา พร้อมกันนั้น ผู้สูงอายุบางคนยังมีเงินเก็บบำเหน็จบำนาญติดตัวเมื่อยามชราภาพอีกด้วย
สิรินุช อันตรเสน อธิบายเพิ่มเติมถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ ของผู้สูงอายุว่า หากผู้สูงอายุบางท่านมีเงินเก็บค่อนข้างมาก ทางบ้านบางแคยังมีบริการตู้เซฟคอยดูแลจัดเก็บเงินไว้ให้แก่ผู้สูงอายุอย่างปลอดภัยที่สุด หรือผู้สูงอายุบางท่านก็มีสมุดบัญชีที่ลูกหลานคอยโอนเงินเข้ามาให้ใช้จ่ายอยู่ด้วย แต่สำหรับผู้สูงอายุที่นี่ ไม่จำเป็นต้องมีธุระใช้จ่ายใดๆ อยู่แล้ว เพราะกินอยู่ฟรี
...
โจทย์ข้อที่ 5 : เมื่อผู้สูงอายุมารวมตัวกัน จะกำหนดขอบเขตในการดูแลอย่างไร ?
ผู้สูงอายุก็เหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ทางบ้านพักคนชราจึงจำเป็นต้องออกกฎบางประการไว้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่จะตามมาภายหลังได้
“หากทะเลาะหรือมีปัญหากัน เบื้องต้นจะเข้าไปตักเตือนก่อน แต่ถ้ายังมีครั้งที่สอง ก็จะเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ถ้าทำแบบนี้ อาจจะต้องงดรับของหรือเงินบริจาคที่มีผู้เข้ามาบริจาคให้ชั่วคราว และถ้าเป็นกรณีร้ายแรง ผู้สูงอายุที่มีปัญหามากๆ ก็ให้ญาติมารับกลับบ้านหรือเรียกมาพูดคุย เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งกรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งผู้สูงอายุที่มีปัญหามากๆ เข้ากับคนอื่นๆ ไม่ได้ ขอออกเองก็เคยมีมาแล้ว” สิรินุช ยกพูดถึงบทลงโทษ
โจทย์ข้อที่ 6 : เคยมีกรณีที่ลูกหลานหมางเมิน ไม่สนใจ มาส่งแล้วไม่เคยเหลียวแลหรือไม่ ?
ผอ.ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค ตอบถึงกรณีที่ลูกหลานนำผู้สูงอายุมาเข้ารับบริการที่บ้านพักคนชราบางแค แต่กลับไม่เคยมาดูแลเอาใจใส่ ว่า กรณีเช่นนี้มีอยู่หลายคน ผู้สูงอายุบางท่านก็มาขอให้ทางเจ้าหน้าที่ช่วยติดต่อลูกหลานให้ ซึ่งลูกหลานบางคนก็สามารถติดต่อให้พูดคุยกันได้ แต่บางคนติดต่อได้ แต่ไม่ยอมพูดหรือพบกับผู้สูงอายุเลย ส่วนอีกกรณีคือไม่สามารถติดต่อตามที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ได้เลย
...
ผอ.แห่งบ้านบ้างแค ได้ยกตัวอย่างกรณีของผู้สูงอายุหญิงรายหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างในสังคม โดยผู้สูงอายุรายนี้ประกอบอาชีพขายพวงมาลัยอยู่บริเวณแยก 35 โบวล์ กลับเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากผู้พบเห็นที่ผ่านไปผ่านมาในย่านนั้นว่า ทำไมลูกหลานของคุณยายจึงไม่มาดูแล ปล่อยปละละเลยให้คุณยายต้องมาเดินขายพวงมาลัยเพื่อเหตุใด บ้างก็ต่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐว่า ทำไมจึงไม่เข้าไปดูแลพูดคุยกับคุณยาย เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป
โดยอันที่จริงแล้ว ทางเจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมได้เข้าไปพูดคุยสอบถามกับคุณยายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้ใจความว่า ลูกหลานของคุณยายพยายามห้ามปรามคุณยายไม่ให้ทำงานแล้ว แต่ทางคุณยายกลับไม่ยอม ขอจะทำงานลูกเดียว เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมาของคุณยายเคยทำงานมาตลอดทั้งชีวิต อีกทั้งลูกๆ และญาติของคุณยายก็ทำมาหากิน คอยดูแลคุณยายมาโดยตลอด
“ด้วยความที่รถที่ขับผ่านไปผ่านมาแถวนั้น เห็นภาพคนแก่มายืนขายพวงมาลัย แต่ไม่รู้ว่าเบื้องลึกเบื้องหลังว่าเป็นอย่างไร จึงก่อให้เกิดความเข้าใจผิดไปต่างๆ นานา” สิรินุช หัวเรือใหญ่แห่งบ้านพักคนชรา บางแค อธิบายข้อเท็จจริง
...
โจทย์ข้อที่ 7 : เคยมีลูกหลานมารับผู้สูงอายุกลับไปดูแลเองหรือไม่ ?
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า เคยมีลูกหลานของผู้สูงอายุที่นำผู้สูงอายุมาเข้ารับบริการที่บ้านบางแค แต่จู่ๆ เกิดคิดถึงและเปลี่ยนใจ กลับมารับผู้สูงอายุไปอุปการะเองที่บ้านหรือไม่ ผู้อำนวยการบ้านพักคนชราบางแค ตอบโจทย์ในข้อนี้ว่า “เคยมีกรณีลูกหลานส่งผู้สูงอายุมาอยู่ที่นี่ได้ไม่กี่ปี สุดท้ายก็มารับกลับไป เพราะอยากเป็นผู้ดูแล ตอบแทนพระคุณผู้สูงอายุเอง แต่กรณีเช่นนี้มีน้อยมากจริงๆ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทที่มาเยี่ยมเยียนบ้าง แต่จะไม่รับกลับ”
ส่วนใหญ่ ผู้สูงอายุที่อยู่ในส่วนของบ้านพักบังกะโลนั้น จะเป็นผู้สูงอายุประเภทข้าราชการบำนาญ ซึ่งเป็นคนโสดอยู่ตัวคนเดียว เดิมทีมีบ้านเป็นของตัวเองอยู่แล้ว แต่เกิดความรู้สึกเงียบเหงา จึงเลือกมาอยู่ที่บ้านพักคนชรา เพื่อที่จะได้มีเพื่อนในรุ่นราวคราวเดียวกัน มีคนดูแล และมีกิจกรรมต่างๆ ทำยามว่าง
โจทย์ข้อที่ 8 : หากผู้สูงอายุ เสียชีวิต แต่ลูกหลานไม่แยแส จะทำเช่นไร?
ผู้อำนวยการบ้านพักคนชราบางแค อธิบายถึงกรณีที่ผู้สูงอายุเสียชีวิตเมื่อพักอาศัยอยู่ที่บ้านพักคนชรา ว่า ทางบ้านบางแค มีหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุตั้งแต่วันที่เข้ามาอยู่ที่นี่ จนถึงวันสุดท้ายของลมหายใจ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้สูงอายุเสียชีวิต อันดับแรกที่ทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการ คือ ติดต่อญาติ เพื่อแจ้งให้ทราบ แล้วจะสอบถามทางญาติว่า ต้องการจะรับศพไปดำเนินการเองหรือไม่ หากทางญาติปฏิเสธ ทางบ้านพักคนชราบางแค ก็จะรับหน้าที่เป็นธุระจัดแจงพิธีสวดเป็นเวลา 1 คืน โดยจัดงานบริเวณอาคารศาลาธรรม เสร็จสิ้นพิธีการสวด ก็จะนำศพไปเก็บไว้ที่วัดนิมมานรดี (วัดบางแค) แล้วจะนำออกมาฌาปนกิจพร้อมกันในเดือนเมษายนของทุกปี
“ส่วนใหญ่แล้ว ญาติๆ จะไม่นำศพกลับไปดำเนินการเอง ให้ทางเราจัดการพิธีทางศาสนาให้เลย แต่ทางญาติๆ ก็จะมาร่วมงานสวดอภิธรรม 1 คืน มาอีกทีก็วันเผา ซึ่งทางเราก็จะเก็บกระดูกของผู้สูงอายุไว้ให้ด้วย หากญาติไม่รับกระดูกไป ทางเราก็จะแบ่งกระดูกออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งนำไปลอยอังคาร อีกส่วนหนึ่งเก็บใส่สถูปของบ้านพักคนชราบางแค” สิรินุช อันตรเสน พูดถึงญาติผู้สูงอายุ
โจทย์ข้อที่ 9 : ปัญหาในการดูแลผู้สูงอายุ คืออะไร ?
ผอ.บ้านพักคนชราบางแค เล่าถึงปัญหาการดูแลผู้สูงอายุ ว่า “ในอดีตผู้สูงอายุดูแลง่ายมากๆ แต่ปัจจุบันผู้สูงอายุพูดคุยทำความเข้าใจกันยาก เนื่องจากผู้สูงอายุมีการศึกษามากขึ้น บางคนเป็นข้าราชการบำนาญ หรือมียศฐาบรรดาศักดิ์ จึงทำให้มีอีโก้ตามมาด้วย ยิ่งรู้มาก ยิ่งพูดยากมากขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นกันทุกคน จะเป็นเพียงบางคนเท่านั้น ซึ่งเราก็ถือว่า ความคิดเห็นของท่าน คือ การแนะแนวทางปรับปรุงแก้ไขงานของเราด้วย”
โจทย์ข้อที่ 10 : สิ่งที่คุณควรรู้ที่สุด เกี่ยวกับบ้านพักคนชรา คืออะไร ?
ด้วยความที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าที่คาดไว้ จำนวนผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งหมด เเละอนาคตของไทยอีก 10 ปีข้างหน้า จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ ซึ่งวิธีรับมือในเรื่องนี้ คือ ต้องเตรียมการให้พร้อมเพื่อให้ประชากรไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
สิรินุช อันตรเสน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค พูดอย่างจริงจังว่า หากคุณเรียกตัวเองว่า ลูก หรือคุณคือหลานของคนชราบางคน สิ่งสำคัญที่คุณพึงกระทำ คือ คุณต้องเข้าอกเข้าใจผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุเหล่านี้ คือ ผู้ที่คอยดูแลเลี้ยงดูคุณมาตั้งแต่เยาว์วัย และสิ่งเดียวที่ผู้สูงอายุต้องการ ก็คือ ความรัก ดังนั้นคุณควรตอบแทนพระคุณท่าน ตราบจนชีวิตของท่านจะหมดลมหายใจ.
อ่านเพิ่มเติม