เรื่องราวในตอนที่ 2 ที่กำลังจะกล่าวถึงนี้ คือเรื่องราวของชายชรา ผู้ร้างราไกลห่างจากบ้านหลังน้อยอันเป็นที่รักมาสู่รั้วแห่งบ้านพักคนชรา ด้วยเหตุและผลอันจำเป็น จนทำให้พบเจอกับชีวิตใหม่ ชีวิตที่ไม่กล้าแม้แต่จะคิดถึงอนาคตที่กำลังมาถึง
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอไล่เรียงเส้นทางชีวิตของพ่อใครคนหนึ่ง ญาติของใครบางคน ผ่านเรื่องเล่าเป็นตัวอักษรผสมความสะเทือนใจ....
ตาต้อย ชายชราวัย 72 ปี นั่งทอดอาลัยอยู่บนม้านั่งยาวคร่ำครึ หน้าห้องพักที่ตัวเองใช้เป็นที่หลับนอนหนุนอิงทุกค่ำคืน ทันทีที่หันมาพบเจอกับทีมข่าว ตาต้อยยิ้มร่าโชว์เหงือกแผงงาม ราวกับเห็นลูกเห็นหลานของตัวเอง มิช้านานที่ทีมข่าวได้เริ่มทำความรู้จักตาต้อย ชายชราผู้นี้ก็เริ่มถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตที่ล้มลุกคลุกคลาน ผ่านร้อนผ่านหนาวมานับครั้งไม่ถ้วน ราวกับจะสะกิดบ่อน้ำตาของคนฟังให้แตกรื้นไปกับเรื่องราวชีวิตอันหมองเศร้า
“ตาเป็นคนพิษณุโลก สมัยหนุ่มๆ ตาขึ้นลงอีสานกรุงเทพฯ เป็นประจำ เพราะต้องขึ้นไปพากย์หนัง สมัยนั้นคนพากย์หนังต้องพากย์ได้ทุกตัวละคร พากย์คนเดียวทั้งเรื่อง ตอนนั้นชีวิตสนุกมากๆ ได้เจอะเจอคนมากหน้าหลายตา เพราะเราเดินทางบ่อย เลยมีโอกาสได้สังสรรค์เฮฮาบ่อยครั้ง” ตาต้อยเล่าผ่านน้ำเสียงที่ดูจะยังตื่นเต้นกับเหตุการณ์ในอดีตอยู่ไม่น้อย
...
เมื่อชีวิตเริ่มก้าวเข้าสู่ช่วงวัยที่จะต้องค้นหาเป้าหมายในชีวิต ตาต้อยได้พบกับสาวสวย หน้าตาจิ้มลิ้มคนหนึ่ง และตกหลุมรักเข้าอย่างจัง เธอเป็นแม่ค้าคนงามในตลาดใจกลางเมืองโคราช ทั้งคู่ใช้เวลาศึกษาดูใจกันอยู่หลายปี จนได้เวลาอันมั่นเหมาะ จึงชวนกันไหว้ผีแต่งงานตามขนบธรรมเนียมของผู้หลักผู้ใหญ่ ไม่นานนักก็มีทายาทออกมาเป็นสัญญารักด้วยกันทั้งหมด 3 คน เป็นหญิง 2 คน ชาย 1 คน
ด้วยความที่ตาต้อยและภรรยามีปากเสียงกันบ่อยครั้ง จึงทำให้ความรักที่เคยก่อร่างสร้างตัวมานมนานเริ่มสั่นคลอนขึ้นทุกวัน สุดท้ายทางเดินแห่งรักจึงไม่พ้นทางออกสุดท้ายคือ หย่าร้าง ผู้เป็นแม่รับหน้าที่เป็นผู้เลี้ยงดูลูกน้อยทั้งสาม ส่วนตาต้อยก็ส่งเงินส่งทอง แวะเข้าไปเยี่ยมหาลูกบ้างเดือนละครั้งสองครั้ง และค่อยๆ ห่างหายไปเป็นปีละครั้งบ้าง สองปีครั้งบ้าง เพราะติดขัดปัญหาทางการเงิน มีผู้จ้างงานไปพากย์หนังน้อยลง จนทำให้ไม่มีเงินค่าเดินทางขึ้นไปหาลูกสาวลูกชายอันเป็นที่รัก ทั้งที่ใจอยากจะพบเจอลูกๆ ทุกวินาที
“ลุงไม่ได้เห็นหน้าลูกมานานมากแล้ว สัก 8-9 ปี เห็นจะได้ เพราะช่วงที่ไม่มีใครจ้างลุงไปพากย์หนัง ลุงก็มาเช่าห้องแถวที่สลัมในกรุงเทพฯ เป็นที่ซุกหัวนอน กลางวันก็ออกมาเข็นรถเข็นขายน้ำแข็งไส รายได้พอจะหาข้าวกินไปวันๆ สุดท้ายก็ไม่ได้ไปหาลูกจวบจนทุกวันนี้ นานๆ ทีจะได้ยินข่าวพวกเขาจากญาติๆ บ้าง ได้ข่าวล่าสุดว่า เมียลุงอยู่ดีกินดี ลูกๆ ทำมาหากินเก่ง คนโตเป็นเป็นพนักงานแบงก์ คนกลางเป็นครู คนสุดท้องเป็นพ่อค้า” ลุงต้อยพูดถึงลูกๆ อย่างภูมิอกภูมิใจ
หลังจากเข้ามาทำมาหากินในกรุงเทพฯได้ไม่นาน ตาต้อยล้มป่วยอย่างหนัก จนไม่สามารถออกไปทำมาหากินใดๆ ได้ มิหนำซ้ำยังต้องกัดฟันสู้พยุงร่างกายที่โดนมรสุมป่วยไข้ไปยังโรงพยาบาลตากสิน เพื่อให้แพทย์ตรวจรักษาอาการก่อนที่จะเกินเยียวยา ในระหว่างที่ตาต้อยพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนั้น ตาต้อยเล่าถึงความหลังด้วยใบหน้าเศร้าสร้อยว่า “เตียงข้างๆ เขามีญาติ มีลูกๆ มาเยี่ยม แต่ตาไม่มีใครคอยห่วงอาการตา ไม่มีแม้แต่ญาติ ไม่มีลูก ไม่มีอะไรทั้งนั้น”
ขณะที่ นางพยาบาลคนหนึ่งที่คอยดูแลและสังเกตอาการตาต้อยมาโดยตลอด เห็นว่า ตลอดระยะเวลาที่ตาต้อยพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาล ไม่มีผู้ใดมาเยี่ยมหรือถามหาชายชราท่านนี้เลย เธอจึงเข้าไปซักถามตาต้อยถึงอนาคตหลังจากออกจากโรงพยาบาล ซึ่งก็ได้ความว่า ตาต้อยยังไม่รู้ว่าชีวิตต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะไม่สามารถติดต่อญาติหรือลูกๆ ได้ เธอจึงแนะนำให้คนไข้สูงอายุของเธอไปพักพิงชั่วคราวที่บ้านมิตรไมตรี ดินแดง โดยเธอยินดีที่จะรับเป็นธุระดูแลจัดการเดินเรื่องให้ทั้งหมด ซึ่งตาต้อยก็ตกปากรับคำ และเข้าไปพักอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 1 ปีเต็ม
...
ปีถัดมา นักสังคมสงเคราะห์ทำเรื่องย้ายตาต้อยจากบ้านมิตรไมตรี ดินแดง เข้ามาอยู่ที่บ้านพักคนชรา บางแค เพื่อให้ตาต้อยสามารถพักอาศัยได้ถาวรจวบจนชีวิตจะสิ้นลม แต่ถึงกระนั้น ลูกๆ ของตาต้อยก็ยังไม่รู้ว่า ชะตากรรมของพ่อผู้ให้กำเนิดเป็นอย่างไร เพราะแม้กระทั่งญาติสนิท หรือเพื่อนพ้อง ก็ไม่มีใครทราบว่า ตาต้อยเข้ามาพักอาศัยที่บ้านพักคนชรา บางแคได้ถึง 7-8 ปีแล้ว ซึ่งตาต้อย ในฐานะผู้เป็นพ่อก็ไม่คิดจะบอกลูกๆ เพราะเกรงว่า ลูกจะต้องเสียเวลามาเยี่ยม และเป็นห่วงกันเสียเปล่าๆ
เมื่อถามถึงชีวิตของคุณตา ในระหว่างที่อยู่ในบ้านพักคนชรานั้น ตาต้อยก็เริ่มเล่าถึงกิจวัตรประจำวันของตัวเองให้ฟังอย่างละเอียดยิบว่า “ตอนเช้าตีสี่ ตาก็ตื่นแล้ว ตีห้าอาบน้ำ เดินออกไปซื้อของที่ตลาดนัดข้างนอก ถ้าวันไหนหมอนัด ก็จะไปโรงพยาบาล เจ็ดโมงครึ่งทานข้าวเช้า เก้าโมงเล่นเปตองกับเพื่อนๆในบ้านพัก สิบเอ็ดโมงกินข้าวกลางวัน กินข้าวเสร็จก็มานั่งวาดรูป บางครั้งก็นอนพักผ่อน พอสี่โมงเย็นก็เข้าโรงอาหาร เพื่อกินข้าวมื้อสุดท้ายของวัน ชีวิตมันก็มีเท่านี้”
...
ในบางครา บ้านพักคนชราก็ถูกปลุกขึ้นจากความเงียบเหงาให้กลายเป็นเสียงหัวเราะ ที่อาจจะดังขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว หากเพราะเหล่าคนใจบุญทั้งหลายมักแวะเวียนเข้าไปเลี้ยงอาหาร แสดงละคร ร้องเพลง ทำบุญนำเงินใส่ซองให้กับคุณตาคุณยายเสมอ
“เวลามีเจ้าภาพเขามาเลี้ยงขนม เลี้ยงข้าว บางคนที่ยังพอช่วยตัวเองได้ดี ยังคล่องแคล่วอยู่ เขาก็จะให้ไปที่โรงอาหาร ทำกิจกรรมร่วมกับเจ้าภาพ ส่วนคนที่ดูแลตัวเองไม่ค่อยได้แล้ว ก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยกดกริ่งเรียกคนสูงอายุให้ออกมานั่งรอเจ้าภาพหน้าห้องพัก เพราะบางทีเขาจะมาแจกของ แจกขนม แจกเงินใส่ซอง ก็มีตั้งแต่ 20 บาทไปจนถึงหลายร้อยบาท แล้วแต่กำลังทรัพย์เจ้าภาพ และเงินจำนวนนี้ตาก็จะเก็บเอาไว้ใช้ในคราวจำเป็นเท่านั้น” ชายชราวัย 72 ปีตัดพ้อ
...
กิจวัตรประจำวันของตาต้อยยังคงดำเนินเรื่อยไปซ้ำเดิมเช่นทุกวัน ตื่นเช้า กินข้าว แล้วจบด้วยการเข้านอน “วันนี้ญาติสนิท มิตรสหายไม่มีใครรู้เลย ว่า ที่ผ่านมาชะตากรรมชีวิตของตาเป็นอย่างไร ซึ่งมันก็คงจะเหมือนกับวันข้างหน้า วันที่ตาหมดเวรหมดกรรมลงแล้ว วันนั้นก็คงไม่มีใครรู้เหมือนกับที่ผ่านๆ มานั่นแหละ” ชายชราพูดอย่างเชื่องช้า พร้อมทอดสายตาออกไปอย่างไร้จุดหมาย...
ติดตามเรื่องราวที่คุณไม่เคยรู้ของบ้านพักคนชราต่อได้ ในตอน รู้ลึกเหมือนไปเอง! ปลดล็อก 10 ข้อสงสัย "บ้านพักคนชรา" ที่คุณไม่เคยรู้
อ่านเพิ่มเติม