“ลูกจ๋า ลืมแม่ไปแล้วหรือยัง ?”...เสียงพึมพำอันแหบแห้งของหญิงชราวัย 87 ปี พูดไล่หลังเจ้าหน้าที่สาววัยกลางคนที่กำลังย่ำเท้าผ่านหน้าเธอไป หะแรกที่มองเห็นภาพนี้ ทำให้หลงคิดไปว่า หญิงเฒ่าผู้นี้คงพูดกับเจ้าหน้าที่อันเป็นลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนของเธอเป็นแน่ แต่ความคิดนี้ก็แปรเปลี่ยนในทันที เพราะระหว่างที่เราเดินผ่านหน้าหญิงชราวัย 87 ปีนั้น เธอกลับมองมาที่เราด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม พร้อมเอื้อมมือมาจับที่แขนของเรา แล้วพูดประโยคสั้นๆ ชวนหดหู่ที่ว่า “ลูกจ๋า ลืมแม่ไปแล้วหรือยัง ?”

บ้านพักคนชราในเบื้องหน้าที่เราเห็นอยู่นั้น คือภาพของหญิงเฒ่า และชายชรา เกือบสิบชีวิตนั่งอยู่บนม้านั่งยาว สายตาเหม่อลอย แต่ไม่ได้จับจ้องอยู่กับสิ่งใด ชายชราวัยร่วงโรยบางคนทิ้งตัวไว้บนรถเข็นผู้ป่วยตั้งแต่เช้ายันบ่ายแก่ พร้อมทอดสายตาไกลออกไปอย่างไร้จุดหมาย บรรยากาศนอกเหนือเสียจากคนเฒ่าคนแก่นั้น ยังมีเสียงนกร้อง เสียงน้ำกระทบหินจากน้ำตกจำลองดังคลอเคลียไปกับเพลงไทยเดิมที่เปิดผ่านเครื่องกระจายเสียงดังเอื่อยๆ ไปทั่วบริเวณ ให้ความรู้สึกเศร้าจับหัวใจชอบกล

...

“บ้านพักคนชราบางแค”...ในความคิดของใครหลายๆ คน อาจมีคำถามชวนสงสัย ไม่สืบทราบว่า รายละเอียดหรือกระบวนการก่อนส่งผู้สูงอายุมาที่บ้านพักคนชรานั้นเป็นเช่นไร และเมื่อพ่อแม่ของเรามาอยู่ที่นี่แล้ว จะมีสุขภาพกาย สุขภาพใจเป็นแบบไหน วันนี้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รับอาสาทำหน้าที่ ส่งต่อข้อมูล คลี่คลายข้อสงสัยอย่างละเอียดยิบ ตั้งแต่ก่อนเข้าบ้าน จวบจนวันร้างราบ้านบางแคกันเลยทีเดียว

เปิดเงื่อนไขบ้านพักคนชรา...จองอย่างไรต้องดู!
บ้านพักคนชราบางแค หรือ ชื่ออันเป็นทางการที่ว่า ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค นั้น ให้ความอุปการะผู้สูงอายุชายหญิง สัญชาติไทย อายุ 60 ปีขึ้นไป ที่เดือดร้อนในเรื่องของที่อยู่อาศัย ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู ฐานะยากจน ไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ และที่สำคัญผู้สูงอายุจะต้องมีความสมัครใจในการเข้ารับบริการด้วย

ดังนั้น ผู้ที่ต้องการจะสมัครเข้ารับบริการ จะต้องนำหลักฐาน 4 อย่าง คือ 1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (ถ้ามี) 2. สำเนาทะเบียนบ้าน 3. ใบรับรองแพทย์ หรือผลการตรวจเอกซเรย์ปอด 4. ภาพถ่าย (ถ้ามี) ไปที่สำนักงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการกรุงเทพฯ หรือสำนักงานประชาสงเคราะห์เขตพื้นที่เดิมทุกเขตสำหรับคนกรุงเทพฯ และสำหรับคนต่างจังหวัด สามารถยื่นหลักฐานได้ที่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดที่ตนอยู่ หรือสำนักงานประชาสงเคราะห์จังหวัดเดิม

ขอกระซิบกระซาบเล่าบอกสักหน่อยว่า ผู้สูงอายุแต่ละรายที่เข้ามาอยู่ที่บ้านพักคนชราบางแค ไม่ว่าจะเป็นที่พักประเภทใดก็ตาม ต่างจองล่วงหน้ากันมากถึง 10 ปี กว่าจะเข้ามาอยู่ที่นี่ได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่คุณลูกคุณหลานทั้งหลาย นึกจะส่งคุณย่าตาชวดมาปุบปับฉับไวใช่จะทำได้เพียงนึกคิด ดังนั้น หนุ่มโสดสาวโสดทั้งหลายที่คาดว่า จะอยู่เหงาเดียวดายจนผมสีดอกเลา ไร้คนอิงแอบดูแลชิดใกล้ ก็ควรจับจองกันตั้งแต่อายุ 60 ปี เพื่อเข้าอยู่ในอายุ 70 ปีพอดิบพอดี

ส่วนกรณีที่ ผู้สูงอายุมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าพักสถานสงเคราะห์ (ประเภทสามัญ) อย่างเร่งด่วนนั้น มีวิธีการเพียง 3 ขั้นตอน ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง 30 นาทีเท่านั้น และใช้อัตรากำลังของเจ้าหน้าที่เพียง 1 คน โดยมอบหมายให้นักสังคมสงเคราะห์เป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่กระบวนการรับคำร้อง ตรวจสอบเอกสาร สอบข้อเท็จจริงและจัดทำข้อมูล และพิจารณาการให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้ใช้บริการ

เลาะตึก ชมห้อง! เหล่าคนชรากินนอนอย่างไร?
ที่พัก อาคารของบ้านพักคนชราบางแค ถูกซอยออกเป็นสัดเป็นส่วน แบ่งแยกชายหญิงชัดเจน และจัดประเภทของผู้รับบริการออกเป็น 3 ส่วน ตามกำลังทรัพย์ของผู้สูงอายุท่านนั้นๆ ซึ่งการดูแลผู้สูงอายุของที่นี่เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ไม่แบ่งแยกว่าบ้านบังกะโล(เสียค่าสร้างที่พักหลักแสน) ต้องให้บริการดีกว่าอาคารสามัญ(อาคารรวม) เพราะทุกบ้าน ทุกคน ทุกวัยรับประทานอาหารแบบเดียวกัน ได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่ในลักษณะเดียวกัน

...

ที่พักประเภทที่ 1 คือ ประเภทสามัญ ซึ่งให้การอุปการะเลี้ยงดูผู้สูงอายุโดยไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ ทั้งสิ้น โดยโซนของผู้สูงอายุประเภทนี้ ที่พักจะมีลักษณะเป็นตึกยาวสูง 2 ชั้น ซอยออกเป็นห้องๆ 1 ห้องมีทั้งหมด 3 เตียง คล้ายคลึงกับโรงเรียนวัดตามต่างจังหวัด โดยตึกไม้ดังกล่าว ยังแบ่งแยกตามสุขภาพร่างกายของผู้สูงอายุ ดังนั้น ตึกสามัญจึงเป็นที่พักสำหรับผู้สูงอายุแบบ A คือ กลุ่มที่ดูแลตัวเองได้คล่องตัว และผู้สูงอายุกลุ่ม B คือ ผู้สูงอายุที่พอจะดูแลตัวเองได้ ส่วนใหญ่คนที่ดูแลตัวเองได้ค่อนข้างดีจะอยู่ชั้นบน คนที่พอจะดูแลตัวเองได้บ้าง จะอยู่ชั้นล่าง

ที่พักประเภทที่ 2 คือ ประเภทเสียค่าบริการแบบหอพัก แบ่งออกเป็นห้องเดี่ยว เสียค่าบริการคนละ 1,500 บาทต่อเดือน และห้องคู่เดือนละ 2,000 บาท ยังไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ (ไม่มีแอร์) โดยเป็นอาคารคอนกรีตสูง 2 ชั้น แบ่งออกเป็น 40 ห้อง ซึ่งอาคารประเภทที่เป็นห้องคู่ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุที่เป็นพี่น้อง หรือเป็นสามีภรรยากัน พร้อมกันนั้น อาคารประเภทนี้จะเป็นผู้สูงอายุที่มีเงินเก็บบำเหน็จบำนาญ หรือเป็นผู้สูงอายุที่ลูกหลานส่งเงินให้ต่อเนื่องทุกๆ เดือน

...

ที่พักประเภทที่ 3 คือ ประเภทพิเศษ (บังกะโล) ซึ่งเป็นบ้านเดี่ยวที่ปลูกสร้างตามแบบแปลนที่กำหนดในที่ดินของบ้านพักคนชรา โดยผู้ปลูกสร้างจะจ่ายเงินเป็นจำนวนทั้งหมด 200,000 บาทเพียงครั้งเดียว และอยู่ได้ตลอดชีวิต โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่ม นอกเหนือจากค่าน้ำค่าไฟ ซึ่งผู้สูงอายุท่านนั้นๆ สามารถพักอาศัยอยู่ได้จนถึงแก่กรรม และเมื่อถึงแก่กรรมก็จะต้องยกกรรมสิทธิ์ให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีความสามารถในการจ่ายเงินก้อน 200,000 บาท รายต่อไป เป็นผู้พักอาศัยต่อ

ปัจจุบัน ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค มีผู้สูงอายุทั้งหมด จำนวน 265 คน แบ่งเป็น ชาย 81 คน หญิง 184 คน กระจายพักอาศัยตามอาคารต่างๆ ทั้งหมด 7 อาคาร

...

สงสัยหรือไม่...ยามว่าง คนชราทำสิ่งใด สกัดใจไม่ให้เข้าโหมดซึมเศร้า เหงา คิดถึง​ ?
กิจกรรมยามว่างของผู้สูงอายุที่นี่ มีให้เลือกหลากหลาย หากจะพูดให้ทันสมัย ก็คงจะบอกได้ว่า กิจกรรมยามว่างนั้น ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุ ผู้เฒ่าผู้แก่บางท่านก็ชอบเอกเขนกอยู่ตามบริเวณร่มไม้ภายในสนามของบ้านพักคนชรา บางท่านนอนกลางวันภายในห้องพัก หรือบางท่านที่ออกแนวลุยๆ สุขภาพร่างกายยังลุกเหินเดินวิ่งไหว ก็มักจะออกมาซื้อของกินของใช้ ตักบาตรทำบุญที่ตลาดบางแคอยู่เสมอ

ในขณะที่ บ้านบางแคยังมีกิจกรรม อาชีวบำบัด เพื่อให้ผู้สูงอายุมีทักษะพื้นฐานด้านงานฝีมือ ซึ่งทีมข่าวได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้สูงอายุหลายท่าน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า กิจกรรมนี้ทำให้เวลาอันว่างเปล่าของคนแก่ กลับมามีค่าอีกครั้ง เพราะนอกจากจะได้เงินจากการขายของที่ระลึก ยังได้สังคม และทำให้เวลาว่างอันยาวนานดูสั้นลงเพียงไม่กี่ชั่วโมงอีกด้วย

นอกเหนือจากนี้ บ้านพักคนชราบางแค ยังมีกิจกรรมต่างๆ ไว้คอยรองรับผู้สูงอายุอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมด้านกายภาพบำบัด ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้จัดหาบุคคลจากภายนอก มาคอยนวดเฟ้นผ่อนคลายสบายเส้นไว้ให้แก่ผู้สูงอายุ กิจกรรมบริจาคจากเหล่าผู้มีจิตอาสา ที่มักจะเข้ามาเลี้ยงข้าว พร้อมกับทำบุญใส่ซองไว้ให้แก่ผู้สูงอายุ กิจกรรมนอกสถานที่ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นักสังคมสงเคราะห์จะพาผู้สูงอายุออกไปชมพิพิธภัณฑ์ ไหว้พระทำบุญตามวัดวาอารามต่างๆ

หากลูกหลานไม่เยี่ยมหา ไร้เงินสักบาทสะสม ความคิดถึงเข้ากัดกิน โรคภัยปรี่รุมเร้า ถึงคราวต้องสิ้นใจ ชีวิตผู้สูงอายุเหล่านี้จะเป็นไร ติดตามต่อได้ในตอนต่อไปที่มีชื่อว่า เศร้าน้ำตาไหล! เรื่องเล่าจากบ้านพักคนชรา “ลูกจ๋า รู้ไหมพ่ออยู่ที่นี่...”

อ่านเพิ่มเติม