พบ ‘โกงกาง’ พันธ์ุใหม่ ’ต้นแรกของประเทศในสวนป่าชายเลนทูลกระหม่อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ค่ายพระรามหก รวมจุดเด่น พันธ์ุใบเล็ก-ใบใหญ่ เชื่อเป็นเพราะพระบารมี เตรียมถวายรายงาน ขอพระราชทานชื่อเพื่อเป็นสิริมงคล


เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 58 ที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ค่ายพระรามหก อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ดร.สนใจ หะวานนท์ ผู้เชี่ยวชาญป่าชายเลน รอง ผอ.อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร เปิดเผยว่า ได้ค้นพบต้นโกงกางพันธ์ุใหม่ ซึ่งเป็นการผสมข้ามพันธุ์ของต้นโกงกางใบใหญ่และต้นโกงกางใบเล็ก ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhizophora X sp.วงศ์ RHIZOPHORACEAE เป็นการค้นพบโดยบังเอิญในขณะทำการสำรวจจุดศึกษาในเส้นทางธรรมชาติภายในสวนป่าชายเลนทูลกระหม่อม ภายในอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2558 ที่ผ่านมา

โดยโกงกางสายพันธ์ุใหม่ที่พบ มีลักษณะเป็นการนำเอาจุดเด่นของโกงกางใบใหญ่ และโกงกางใบเล็ก มาผสมผสานอยู่ในต้นเดียวกัน ลักษณะต้นเป็นพุ่มใบหนาแน่นกว่าทั้งโกงกางใบใหญ่และโกงกางใบเล็กที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง โดยต้นสูงประมาณ 13 เมตร เส้นรอบวงเหนือรากค้ำยัน 20-38 เซนติเมตร ขึ้นอยู่ริมแพรกที่ชื้นแฉะ มีรากค้ำยันพุ่งออกข้าง สูงกว่าแนวตั้งฉากกับลำต้นเป็นจำนวนมาก และพุ่มใบเด่นเป็นสง่ากว่าต้นอื่น

...


ทั้งนี้ใบ เป็นใบแผ่กว้างขนาดใกล้เคียงกับโกงกางใบใหญ่ ปลายใบและโคนใบเรียวแหลม โคนเส้นกลางใบ (midrib) เป็นสีแดงอ่อนคล้ายโกงกางใบเล็ก เป็นลูกผสมระหว่างโกงกางใบใหญ่และโกงกางใบเล็ก ซึ่งโกงกางใบใหญ่ก้านกลางใบสีเขียวอมเหลือง หลังใบมีจุดดำกระจายทั่วไปคล้ายโกงกางใบใหญ่และโกงกางใบเล็ก แต่มีจุดดำหนาแน่นกว่าโกงกางใบใหญ่ 

ดอก เป็นดอกออกจากง่ามใบเป็นดอกคู่ ก้านดอกคู่ยาว 1.4 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.3-0.5 เซนติเมตร ส่วนโกงกางใบเล็ก ก้านดอกคู่ยาวเพียง 0.8 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกโกงกางใบใหญ่ยาว 4.5 เซนติเมตร

ดอกตูมมีสีเหลือง รูปทรงและสีเช่นเดียวกับโกงกางใบใหญ่ แต่โกงกางใบใหญ่ดอกออกเป็นช่อ 3-8 ดอก ก้านดอกช่อยาว 5-6 เซนติเมตร ส่วนดอกตูมของโกงกางใบเล็กมีลักษณะกลม สีน้ำตาลเข้ม เมื่อใกล้บานแตกเป็นร่องเล็ก

"เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้จัดให้มีการประชุมเสวนาวิชาการ ในหัวข้อเรื่อง การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ก็ได้มีการจัดเสวนาเกี่ยวกับโกงกางทูลกระหม่อมสายพันธุ์ใหม่นี้ รวมทั้งนำชมต้นโกงกางสายพันธุ์นี้ ซึ่งพบเป็นต้นแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสวนป่าชายเลนทูลกระหม่อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี"

ดร.สนใจ กล่าวต่ออีกว่า ในการตรวจสอบในเบื้องต้น ไม่พบว่าโกงกางทูลกระหม่อม มีฝักในการขยายพันธ์ุ ทั้งๆ ที่มีอายุกว่า 10 ปีแล้ว คาดว่ามีลักษณะเป็นหมัน จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในการหาทางขยายพันธ์ุ เนื่องจากมีลักษณะเด่น ใบพุ่มหนาแน่น และรากแข็งแรงแผ่กว้าง เหมาะแก่การนำมาปลูกเพื่อเป็นแนวกันน้ำทะเลกัดเซาะ และใช้ในการป้องกันสึนามิได้ดีกว่าสายพันธ์ุเดิม รวมทั้งยังสร้างแหล่งอาหารให้กับสัตว์น้ำขนาดเล็กในป่าชายเลนได้ดีอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบทางพันธุกรรมโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วัลลภ อารีรบ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โกงกางสายพันธุ์นี้หลายคนกล่าวว่า เกิดจากพระบารมีของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจะมีการตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง โดยมีความเป็นไปได้ว่า อาจเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลกก็ได้.