พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4

ผวจ.ปัตตานี จับมือ แม่ทัพภาค 4 กางโต๊ะแถลงขอโทษ เหตุ จนท.วิสามัญฯ 4 ศพ บ้านโต๊ะชูด อ.ทุ่งยางแดง ชี้ คนตายไม่ใช่โจรและไม่มีอาวุธปืน พร้อมเร่งเยียวยาช่วยเหลือด่วน...

เมื่อวันที่ 7 เม.ย.58 นายวีรพงศ์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณี เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปปิดล้อม ตรวจค้นที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จนเกิดการวิสามัญ 4 ราย ได้ร่วมแถลงข่าว โดยนายวีรพงศ์ ระบุว่า คณะกรรมการได้ทำงานกันอย่างหนัก เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงที่รอบด้าน โดยมีการลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ การเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ ตลอดจนรวบรวมหลักฐานและเอกสารต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน โดยแบ่งออกเป็นประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น คือ 1. ผู้ตายทั้ง 4 คน เป็นผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญา หรือเป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง หรือแนวร่วมหรือไม่ 2. การริเริ่มปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ ถูกต้องและสมเหตุสมผลหรือไม่ และ 3. การวิสามัญฆาตกรรมครั้งนี้ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และอาวุธปืนรวมทั้งวัตถุระเบิดของกลาง เป็นของผู้ตายหรือไม่

จากนั้น นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลาม จ.ปัตตานี หนึ่งในคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง แถลงผลการสอบว่า ในช่วงก่อนเกิดเหตุมีคน 3 กลุ่ม ไปที่บ้านที่เกิดเหตุซึ่งกำลังก่อสร้าง ประกอบด้วย กลุ่มคนงานที่สร้างบ้าน กลุ่มที่เจรจาค่าเสียหายเรื่องรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุ และกลุ่มคนที่เข้าไปมั่วสุมเพื่อที่จะเสพยาเสพติด กระทั่งเวลา 17.00 น. กองกำลังเจ้าหน้าที่ได้เข้าปิดล้อมตรวจค้น และควบคุมตัวบุคคลจำนวน 22 คน ขณะที่อีก 5 คน วิ่งหลบหนีไปทางด้านหลังของบ้านที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นป่าสวนยางพารา ต่อมา ได้เกิดการใช้อาวุธปืน มีผู้เสียชีวิต 4 ศพ คือ นายคอลิค สาแม็ง นายมะดารี แมเราะ นายซัดดัม วานุ และนายสูไฮมี เซ็นและ โดยตรวจพบอาวุธปืนและวัตถุระเบิดตกอยู่ข้างศพทั้ง 4 ศพ ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่า กระทำวิสามัญฆาตกรรมทั้ง 4 ศพ

ส่วนประเด็นที่ว่า ผู้ตายทั้ง 4 คน เป็นผู้กระทำผิด หรือกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง หรือแนวร่วมหรือไม่นั้น ทางคณะกรรมการได้ตรวจสอบจากพยานหลักฐาน คำให้การยืนยันของผู้นำศาสนา ตลอดจน อาจารย์ของมหาวิทยาลัยฟาฏอนี รวมทั้งด้านการข่าว ไม่ปรากฏว่าผู้ตายทั้ง 4 คน มีพฤติกรรมเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง หรือแนวร่วมมาก่อน มีเพียงบางคนเคยถูกจับคดียาเสพติด และมีพยานบุคคลยืนยันว่าขณะผู้ตายทั้ง 4 คน หลบหนี ไม่ปรากฏว่าครอบครองอาวุธปืนแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ผลการตรวจพิสูจน์อาวุธปืนที่พบใกล้ศพผู้ตาย ไม่ปรากฏว่ามีประวัติในการก่อเหตุรุนแรงในคดีอื่น ในชั้นนี้ คณะกรรมการมีความเห็น โดยเชื่อว่า ผู้ตายทั้ง 4 คน ไม่ใช่ผู้ก่อเหตุรุนแรงและไม่ใช่แนวร่วมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแต่อย่างใด

สำหรับประเด็น การปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ ถูกต้องสมเหตุผลหรือไม่นั้น มีเหตุผลเพียงพอ เนื่องจาก 1. ผู้ปฏิบัติอ้างว่าปรากฏว่าข้อมูลข่าวสารด้านข่าวกรอง พบความเคลื่อนไหวผู้ก่อเหตุรุนแรงรายสำคัญในพื้นที่ คือ นายอันวาร์ ดือราแม นอกจากนี้ เป็นผลจากการซักถามผู้ถูกควบคุมตัว ในกรณีนี้เจ้าหน้าที่ยืนยันว่า บุคคลทั้ง 3 ใน 22 คน ที่ถูกควบคุมตัว มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง กลุ่มนายอันวาร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่า เป็นผลจากการซักถามรับสารภาพของผู้ถูกควบคุมตัว

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังให้เหตุผลว่า พื้นที่ทุ่งยางแดงเป็นพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก. ฉะนั้นเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติการได้ทันที โดยไม่ต้องมีหมายค้น โดยในการจัดกำลังเข้าปฏิบัติ มีเจ้าหน้าที่เพียง 40 นาย และการปฏิบัติมุ่งต่อเป้าหมายเฉพาะ เป็นไปตามนโยบายของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในชั้นนี้ คณะกรรมการมีความเห็นว่า จุดเริ่มต้นของการปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นครั้งนี้ ชอบด้วยเหตุผลในการปฏิบัติการ

ส่วนอาวุธปืนเป็นของผู้ตายหรือไม่นั้น เนื่องจากการเสียชีวิตของทั้ง 4 คน เกิดห่างจากจุดเริ่มต้นเกิดเหตุ 300 เมตร มีเพียงเจ้าหน้าที่เท่านั้นที่เห็นเหตุการณ์ คณะกรรมการไม่สามารถหาพยานอื่นใดมาให้ข้อมูล ส่วนหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ที่ระบุเขม่าดินปืนที่มือผู้ตายและอาวุธปืนของกลาง ไม่มีหลักฐานบ่งชี้เชื่อมโยงระหว่างผู้ตายกับอาวุธปืนอย่างชัดเจน และยังมีความเคลือบแคลงในบางประเด็น ในชั้นนี้คณะกรรมการจึงไม่สามารถวินิจฉัยในประเด็นการต่อสู้กับเจ้าพนักงาน โดยให้เป็นไปตามหน้าที่ของการแสวงหาพยานหลักฐานในชั้นกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน จะต้องถูกแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีตามกฎหมาย

“แต่จากการให้ถ้อยคำของเจ้าหน้าที่ และพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายคน ให้ข้อมูลยืนยันตรงกันว่า ก่อนวิสามัญไม่ปรากฏว่าผู้ตาย 4 คน ครอบครองอาวุธปืนแต่อย่างใด คณะกรรมการฯ จึงมีความเห็นเชื่อว่า อาวุธปืนของกลางไม่ใช่ของผู้ตายตั้งแต่เริ่มต้น”

...


ส่วนการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบ ทางคณะกรรมการลงความเห็นว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 4 ราย เป็นผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ จึงเห็นสมควรเสนอเยียวยาตามระเบียบ ว่าด้วยการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ อันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555

ด้าน พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า วันนี้พวกเราทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ก้าวข้ามวิกฤติของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ บ้านโต๊ะชูด ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ภายใต้กฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนต่อไป ตนขอน้อมรับมติของคณะกรรมการฯ ที่แถลง และยินดีนำไปปฏิบัติ โดยทิศทางแรกต้องยอมรับที่มาของเหตุ เกิดมาจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่เจ้าหน้าที่ทำการติดตาม ทิศทางที่สองเรื่องการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ ต้องให้ความเป็นธรรม ต้องให้เวลาในการพิสูจน์ ต้องเข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ ภายใต้สภาวะวิกฤติ

“อาจมีความหวาดกลัวบ้างที่มีผลต่อการตัดสินใจ แนวทางในการดำเนินการของ กอ.รมน.ภาค 4 ต่อผู้มีความเห็นต่าง ในวันนี้ขอยืนยันว่า เราใช้แนวทางสันติอย่างเดียว เราให้เจ้าหน้าที่ใช้ความอดทนให้มากที่สุด ในการควบคุมตัวบุคคลตามขั้นตอน มีผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนาเข้าร่วม ที่เคยเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว 4 ครั้งก่อนหน้า” แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว

พล.ท.ปราการ กล่าวด้วยว่า ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ขออภัยทุกฝ่าย ทั้งคณะกรรมการฯ ญาติผู้ที่สูญเสีย และประชาชน ต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ที่ไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในแนวทางได้ ขอให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการก้าวข้ามวิกฤติ ยึดหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนกันต่อไป.