ภายหลังจากที่ศาลฎีกา พิพากษาให้กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลท่าเรือ แต่กลับกระทำการประมาทเลินเล่อ จนเกิดอุบัติเหตุ มีประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิต จากอุบัติเหตุโป๊ะล่มบริเวณท่าเรือพรานนก โดยต้องจ่ายเงินชดใช้แก่ผู้เสียหาย รวม 12 ราย เป็นเงินกว่า 18 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้อง เมื่อปี 2539 ซึ่งรวมแล้วมีมูลค่ากว่าร้อยล้านบาทนั้น
ล่าสุด ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ได้ลงพื้นที่สำรวจโป๊ะพรานนกในปัจจุบัน ว่ามีการปรับปรุงดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างไรบ้าง พร้อมทั้งสอบถามข้อมูลจากประชาชนละแวกนั้น ถึงเหตุการณ์ที่สะเทือนใจดังกล่าว...
...
โศกนาฏกรรมสุดเลวร้าย ที่คนไทยไม่มีวันลืม !
แม้โศกนาฏกรรมอันเลวร้ายจะผ่านมาเนิ่นนานกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม แต่ภาพยังคงฝังจิตฝังใจอยู่ไม่หาย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับ นางบรรจง หงส์บิน แม่ค้า วัย 81 ปี ผู้เห็นเหตุการณ์วันนั้น ซึ่งช่วงเวลาเกิดเหตุประมาณ 7 โมงเช้า ได้ขายของอยู่ที่ท่าเรือวังหลัง โดยนางบรรจง เล่าย้อนอดีตให้ทีมข่าวฯ ฟัง ว่า ผู้คนจำนวนมากต่างเร่งรีบแห่กันลงไปยืนรอบนโป๊ะ เพื่อแย่งกันขึ้นเรือที่กำลังจอดเทียบท่า ปรากฏว่าเรือได้กระแทกมาที่โป๊ะ ทำให้ผู้โดยสารคนหนึ่งตกลงไปในน้ำ และผู้โดยสารคนอื่นๆ ต่างมุงดู ทำให้โป๊ะเอียง น้ำค่อยๆ เข้ามาในโป๊ะ เพียงไม่กี่วินาทีต่อมาโป๊ะได้จมหายไป ทุกคนที่อยู่บนโป๊ะต่างจมดิ่งลงสู่ใต้น้ำเจ้าพระยาทันที
แต่ทว่า เรื่องที่แย่ไปกว่านั้น คือ กระแสไฟที่ต่อเข้าไปยังหลอดไฟที่ติดอยู่บนหลังคาโป๊ะยังไม่ได้ตัดสวิตซ์ จึงทำให้เกิดไฟรั่วในบริเวณนั้น และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตที่ถูกไฟฟ้าช็อตอีกหลายราย รวมไปถึงสิ่งที่ดูจะน่าเวทนาที่สุด เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปกว่า 1 เดือนกลับเพิ่งพบอีก 1 ศพ ซึ่งเป็นผู้หญิง อยู่บริเวณใต้โป๊ะ สภาพศพดูไม่ค่อยจะดีนัก
นางบรรจง เล่าต่อว่า หลังจากเกิดโศกนาฏกรรม ได้มีการปรับปรุงโป๊ะค่อนข้างมาก ที่สำคัญคือ รื้อหลังคาโป๊ะออก ทำให้ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าโป๊ะส่วนใหญ่จะไม่มีหลังคา เนื่องมาจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นนี่เอง
“เหตุการณ์ครั้งนั้นยังคงเป็นที่จดจำไม่มีวันลืม ตอนนั้นรู้สึกกลัว ใจสั่นไปหมด หลังจากเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้ปิดพื้นที่ไม่ให้ใช้บริการเลย และขอร้องให้ร้านค้าย้ายเข้าไปตั้งด้านใน หน่วยงานที่เข้ามาดูแลก็พบแค่กรมเจ้าท่า และบริษัทเรือด่วนเท่านั้น ยังไม่เคยพบเจ้าหน้าที่ของทางกรุงเทพมหานคร เข้ามาตรวจสอบและคอยอำนวยความสะดวกเลย สำหรับในปัจจุบัน คิดว่าโป๊ะน่าจะแข็งแรงกว่าเมื่อก่อนมาก และไม่คิดว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นซ้ำอีก” นางบรรจง กล่าว
...
กะลาสี เผย หน้าฝนเจ้าพระยาไหลเชี่ยว เช็ก ห่วงยาง-ชูชีพ ทุก 3 เดือน !
นายชื่นสุวรรณ นกยูง กะลาสีประจำท่าเรือ วัย 53 ปี เปิดเผยว่า มาตรการความปลอดภัยเบื้องต้นของท่าเรือ ก็คือ ห้ามไม่ให้ผู้โดยสารเข้ามายืนที่บริเวณโป๊ะเรือโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นทั้งในช่วงที่มีผู้คนขนส่งมาก หรือน้อยก็ตาม โดยจะอนุญาตให้ผู้โดยสารเดินเข้ามาที่บริเวณโป๊ะเรือได้ก็ต่อเมื่อเรือเข้ามาเทียบท่าแล้วเท่านั้น ส่วนในกรณีที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก จนยากเกินกว่าที่จะดูแลได้ทั่วถึง ก็จะมีการจัดเจ้าหน้าที่สำรองคอยดักและประกาศเตือนผู้โดยสารบริเวณคอสะพานไว้ เพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสารอย่างเต็มที่
ขณะที่อุปกรณ์ประจำเรือและโป๊ะเทียบเรือ จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพโดยตลอด เช่น ห่วงยาง และเสื้อชูชีพจะมีการเปลี่ยนเป็นของใหม่ทุกๆ 1 ปี และจะมีฝ่ายโยธาของบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา เข้ามาตรวจสอบสภาพการใช้งานของอุปกรณ์ต่างๆ ทุก 3 เดือน
เมื่อถามกะลาสีผู้คร่ำหวอดว่า ช่วงใดที่คลื่นจากแม่น้ำเจ้าพระยาจะรุนแรงจนทำให้โป๊ะเรือโคลงเคลงมากที่สุด ได้รับคำตอบจากกะลาสีวัย 53 ปี ว่า ช่วงฤดูฝนจะเป็นช่วงที่น้ำในเจ้าพระยาจะเชี่ยวกราด เพราะน้ำเหนือจะไหลแรง อาจทำให้ผู้โดยสารที่ไม่ค่อยโดยสารผ่านทางเรือบ่อยนัก ทรงตัวไปขึ้นเรือได้ยากกว่าปกติ
...
...
งดรอเรือบนโป๊ะ เอือม! ผู้โดยสารไม่เคารพกฎ ส่วนใหญ่ไม่ยอมใส่ชูชีพ
จากการลงพื้นที่ของทีมข่าวฯ พบว่า โป๊ะท่าเรือพรานนกและโป๊ะใกล้เคียงสามารถรับน้ำหนักได้เพียง 60 รายเท่านั้น อีกทั้งในกฎข้อห้ามก็ยังมีการกำหนดว่า ห้ามไม่ให้ผู้โดยสารยืนรอที่บริเวณโป๊ะ หากเรือยังไม่มาจอดเทียบท่า ส่วนตัวเลขความจุผู้โดยสารบนเรือนั้น สามารถรับน้ำหนักได้ประมาณ 90-120 คน ตามขนาดของเรือ ด้านเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของโป๊ะมีประมาณ 4-5 ราย ที่คอยดูแล อำนวยความสะดวกไม่ให้ผู้โดยสารเข้าไปยืนรอบริเวณโป๊ะ ให้นั่งคอยที่ท่าก่อนเพื่อความปลอดภัย
ขณะที่ นางสมพร อิ่มบ้านเบิก หัวหน้าท่าเรือพรานนก ให้ข้อมูลถึงการใช้บริการเรือโดยสารว่า ท่าเรือจะเปิดเวลา 06.20-20.20 น. และช่วงเวลาที่คนขึ้น-ลงเรือเยอะที่สุด คือ ช่วง 16.00 น. ส่วนเรื่องความปลอดภัย เรือโดยสารจะมีเสื้อชูชีพจำนวนเท่าความจุของคนบนเรือ และมีป้ายบอกว่าเสื้อชูชีพอยู่ตรงจุดไหน แต่ส่วนใหญ่ผู้โดยสารมักไม่ใส่กัน
“ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากความดื้อรั้นของผู้โดยสาร เคยมีคนก้าวพลาดตกน้ำเฉลี่ยปีละประมาณ 2-3 คน แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต เนื่องจากไม่เชื่อฟังเจ้าหน้าที่ จึงอยากให้ผู้โดยสารฟังกฎข้อบังคับของทางบริษัทและกรมเจ้าท่าบ้าง เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง เนื่องจากบางรายเคยเตือนว่าห้ามไปยืนรอที่โป๊ะ เพราะจะทำให้น้ำหนักระหว่างผู้โดยสารออก-เข้า เกินกว่าตัวเลขที่กำหนด และจะนำมาซึ่งอุบัติเหตุก็ไม่ฟังกัน” เจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋ว อธิบาย
จากกรณีการรักษาความปลอดภัยของบริษัทเดินเรือที่อ้างว่ามีการบอกผู้โดยสารตลอดเกี่ยวกับเสื้อชูชีพ และวิธีการใช้บริการนั้น ได้มีเสียงสะท้อนจากผู้โดยสารที่ใช้เรือท่าพรานนก-นนทบุรี สัญจรไปทำงานทุกวัน ว่า ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีเสื้อชูขีพอยู่ใต้ที่นั่งบนเรือเพราะเห็นแต่เพียงห่วงยาง อีกทั้งเจ้าหน้าที่บนเรือ ก็ไม่ได้สอน หรือสาธิตการใช้อุปกรณ์แต่อย่างใด
เหตุการณ์ดังกล่าว สะท้อนถึงการ ‘ไม่เรียนรู้’ ของคนในสังคม ไม่รู้จักการนำเรื่องเลวร้ายมาเป็นบทเรียน ความเร่งรีบทำให้ไม่ทันได้ระมัดระวัง จึงยังมีการพลัดตกน้ำให้เห็นอยู่ตามโป๊ะต่างๆ ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่รับผิดชอบ หรือฝ่ายที่ใช้บริการ ควรตระหนักถึงความปลอดภัยให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำรอย และเกิดความสูญเสียขึ้นอีก.
อ่านเพิ่ม