จำได้ไหม…น้าอายังจำได้ไหม…ปู่ย่าจำได้ใช่ไหม...น่าจะยังจำกันได้ สถานการณ์ชายแดนด้านเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ ที่ปะทุคุกรุ่นขึ้นมาอีก ภายหลังกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารที่ตั้งประชิดติดชายแดนไทยด้าน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เป็นมรดกโลก...
จนกระทั่งวันที่ 8 ก.ค.2551 ปราสาทเขาพระวิหาร เทวาลัยที่มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ก็ได้รับขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโก สร้างความไม่พอใจให้กับคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มชาตินิยมที่มีความคิดฝังใจว่า เขาพระวิหารเป็นของไทย...
อีก 7 วันต่อมา คือวันที่ 15 ก.ค. 2551 คนไทย 3 คน ถูกจับข้อหาปีนรั้วบุกรุกตัวปราสาท จากนั้น เหตุการณ์ความขัดแย้งดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ มีการปะทะกันตามพื้นที่แนวชายแดนหลายจุด หลายครั้งถึงขั้นมีกองกำลังของทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บ และเสียชีวิต
จนล่วงเข้าปี 2553 ขณะนั้น ไทยมีรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง นายกษิต ภิรมย์ เป็น รมว.ต่างประเทศ
...
ขณะที่ฝ่ายกัมพูชา แน่นอนว่า นายกรัฐมนตรี คือ สมเด็จฮุน เซน มีนายฮอร์ นัม ฮง เป็นรมว.ต่างประเทศ พล.อ.เตีย บันห์ เป็น รมว.กลาโหม และมี ‘พล.ท.ฮุน มาเนต’ ลูกชายของนายกฯ ฮุน เซน เป็นรอง ผบ.ทบ. คุมกองกำลังด้านที่ติดชายแดนประเทศไทย...
วันที่ 1 ก.พ.2554 ศาลกัมพูชาตัดสินให้ 2 ใน 7 คนไทยที่ถูกทหารกัมพูชาจับกุมตัว คือ นายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ มีความผิดข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย บุกรุกเขตทหาร และจารกรรมข้อมูล ให้จำคุกเป็นเวลา 8 ปี...
ภูเขาไฟเขาพระวิหารที่คุกรุ่นเหมือนรอเวลามาหลายศตวรรษ ก็ถึงคราระเบิดขึ้นอีกครั้ง...
เริ่มจากช่วงบ่ายวันที่ 4 ก.พ.2554 ทหารไทยกับทหารเขมร เปิดฉากยิงปะทะกันบริเวณฐาน ตชด. เก่า ลำห้วยตามาเลีย พื้นที่ทับซ้อนชายแดน ห่างจากผามออีแดง ทางขึ้นเขาพระวิหารประมาณ 4 กม. มีการยิงตอบโต้กันด้วยปืนเล็กยาว สร้างความตกใจให้กับชาวบ้าน ต่างวิ่งหลบเข้าในที่กำบัง
จากนั้น เป็นการใส่กันด้วยอาวุธหนัก ต่างฝ่ายต่างระดมยิงทั้งปืนใหญ่ เครื่องยิงลูกระเบิด และจรวดอาร์พีจี เกิดเพลิงลุกไหม้บริเวณวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนเชิงเขาพระวิหาร มีกลุ่มควันพวยพุ่งไปทั่วบริเวณ เสียงระเบิดดังกัมปนาทกึกก้องตลอดแนวชายแดน
ชาวบ้านภูมิซรอล อ.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ ซึ่งอยู่ใกล้จุดปะทะที่สุด ต่างพากันวิ่งเข้าหลุมหลบภัย ส่วนที่มีรถยนต์ก็พากันเก็บข้าวของขึ้นรถ อพยพหลบภัยออกจากพื้นที่ รวมถึงนักเรียนก็พากันหนีออกจากโรงเรียนจนหมด
เป็นภาพที่ไม่มีใครคิดว่า จะได้เห็นคนไทยต้องอพยพหนีภัยสงครามกันอีก เพียงชั่วข้ามคืน บ้านภูมิซรอลก็แทบกลายสภาพเป็นหมู่บ้านร้างที่ไร้คนอยู่อาศัย...
การปะทะกินเวลาหลายชั่วโมง จนกระทั่งเวลา 17.30 น. เสียงปืนจากทั้ง 2 ฝ่ายจึงเงียบเสียงลง จากการเข้าตรวจสอบในพื้นที่ พบมีกระสุนปืนใหญ่ของฝ่ายกัมพูชา ตกใส่บ้านชาวบ้านข้างป้อมยามตำรวจภูมิซรอล 2 หลัง เกิดเพลิงลุกไหม้ ส่วนที่โรงเรียนภูมิซรอลวิทยา กระจกหน้าต่างอาคารเรียนแตกเสียหายจากแรงระเบิด แต่ยังดีที่ทางโรงเรียนอพยพนักเรียนออกไปได้ทัน
...
และยังดีที่ ‘จุดตก’ ของกระสุนปืนใหญ่ประมาณ 20 ลูก ที่ถูกยิงมาจากฝั่งของกัมพูชา ไปตกในสวนยางพารา ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนภูมิซรอลวิทยา ทำให้เกิดไฟไหม้เป็นบริเวณกว้างกว่า 50 ไร่ ต้นยางที่เพิ่งปลูกได้ 3 ปี เสียหายหมด
แต่ที่น่าสลดใจก็คือ ขณะเจ้าหน้าที่เข้าเคลียร์พื้นที่ บริเวณร่องน้ำแห้งกลางทุ่งนา ห่างโรงเรียนภูมิซรอล ประมาณ 1 กิโลเมตร พบศพ นายเจริญ ผาหอม อายุ 59 ปี ชาวบ้านหมู่ 13 บ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ชาวนาที่ออกไปทำนา ถูกระเบิดสภาพหัวขาดกระจุยเหลือแต่ช่วงคอลงมา เป็นที่น่าสยดสยอง...
อย่างไรก็ตาม เสียงปืนได้ปะทุขึ้นอีกครั้งในช่วงเวลา 06.30 น. วันที่ 5 ก.พ.54 บริเวณช่องโดนเอาว์ ต.รุง อ.กันทรลักษ์ พื้นที่รอยต่อระหว่างภูมะเขือกับภูลออ ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตทับซ้อน 4.3 ตารางกิโลเมตร ทหารทั้งสองฝ่ายเดินกลับฐานที่มั่นมาเจอกันระหว่างทาง จึงเปิดฉากยิงใส่กันนานประมาณ 30 นาที ซึ่งเหตุปะทะรอบ 2 นี้ มีทหารไทยพลีชีพ 1 นาย บาดเจ็บ 4 นาย
เหตุการณ์ทำท่าว่าจะสงบลง หลังจาก พล.ท.ธวัชชัย สุดสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 ขณะนั้น นำนายทหารระดับสูงจากกองกำลังสุรนารี เดินทางข้ามแดนไปนั่งโต๊ะเจรจากับนายทหารฝ่ายกัมพูชา ที่ อ.อัลลองเวง จ.อุดรมีชัย โดยทหารกัมพูชา ได้ปล่อยตัวทหารไทย 5 นายที่จับตัวไป ต่อหน้าผู้บังคับบัญชาทั้งสองฝ่าย ซึ่ง พล.ท.ธวัชชัย กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการเข้าใจผิดของผู้ปฏิบัติงานในระดับล่าง ผลการเจรจาทั้งสองฝ่าย ให้ยุติการสู้รบ และมีคำสั่งเปิดด่านชายแดนในทุกจุด
...
แต่พอช่วงหัวค่ำวันที่ 7 ก.พ.54 เหตุการณ์ตึงเครียดล่อแหลมก็ทำให้ทหารทั้งสองฝ่ายเปิดศึกดวลปืนใหญ่กันอีกเป็นรอบที่ 3 และรบต่อเนื่องไปจนข้ามวัน ซึ่งรอบนี้มีฝ่ายไทยบาดเจ็บเพิ่มรวม 17 ราย เป็นทหาร 15 นาย พลเรือน 2 นาย และมีรายงานทหารไทยถูกจับไปที่กรุงพนมเปญ 1 นาย
ทั้งนี้ แม้ว่าต่อมาจะมีการปะทะกันของทหารทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นอีก แต่การสู้รบกันด้วยอาวุธหนักที่บ้านภูมิซรอล ที่เรียกกันว่า ‘ศึกภูมิซรอล’ หรือ ‘ศึกภูมะเขือ’ ช่วงวันที่ 4-8 ก.พ.2554 ถือได้ว่า เป็นการทำ ‘สงคราม’ สู้รบกันครั้งล่าสุด หรือครั้งสุดท้ายของไทย และกัมพูชา...
1 มี.ค.2552 ทางการไทย เปิดอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร-ผามออีแดง อ.กันทรลักษ์ ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาอีกครั้ง แต่ไปได้แค่หน้าผามออีแดง ส่วนตัวปราสาทเขาพระวิหาร ที่อยู่ฝั่งกัมพูชา ใครอยากดูชัดๆ ก็ต้องเช่ากล้องส่องทางไกล ส่องดูเอาตามสะดวก...
18 ก.ค.2554 ศาลโลก มีมติ 11 ต่อ 5 เสียง กรณีกัมพูชายื่นคำขอต่อให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารใหม่ โดยศาลฯ ให้ทั้งสองฝ่ายถอนทหารทั้งหมดออกจากเขตพื้นที่ ซึ่งกำหนดให้เป็นเขตปลอดทหารตามมาตรการชั่วคราว และให้ทั้งสองฝ่ายหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมทางทหารใดๆ ภายในพื้นที่นี้...
...
2 ก.ค.2557 ทางการกัมพูชาปล่อยตัวนายวีระ สมความคิด เดินทางกลับประเทศไทย หลังจากก่อนหน้านั้น เมื่อเดือน ก.พ.2556 กษัตริย์นโรดม สีหมุนี ได้พระราชทานอภัยโทษให้ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ไปแล้ว...
วันที่ 5 ก.พ. 2558 หลังจากผ่านพ้นมา 4 ปี...
นายสมควร สิงห์คำ ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง อ.กันทรลักษ์ ที่คลุกคลีอยู่ในพื้นที่มานาน กล่าวว่า แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านมานานหลายปี แต่คนในพื้นที่ก็ยังจดจำได้ไม่ลืม แต่อยากบอกว่าขณะนี้เหตุการณ์เป็นปกติแล้ว สงบสุขมาหลายปีแล้ว แม้ว่ายังมีหลุมหลบภัย ชาวบ้านก็คงไม่ได้ใช้อีกแล้ว แต่ทางอำเภอยังคงไปดูแลและซ่อมแซมอยู่เป็นระยะ
"ความสัมพันธ์ตอนนี้ดีมาก ซึ่งเร็วๆ นี้ก็มีกำหนดที่จะพาชาวบ้านเบาะสะเบา อ.จอมกะอาน จ.พระวิหารของกัมพูชา ไปดูงานเศรษฐกิจพอเพียงที่จ.อุบลราชธานี และก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2557 ที่ผ่านมา ก็เพิ่งพาข้าราชการและพี่น้องประชาชนข้ามไปทอดผ้าป่าที่วัดใน อ.จอมกะอานมาด้วย ถึงได้บอกว่าความสัมพันธ์ดีมาก ทั้งภาคประชาชนและภาคราชการ ต่อไปเมื่อเปิดเป็นเออีซี ก็จะมีกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศก็จะดีขึ้นไปอีก" ปลัดสมควรกล่าว
ขณะที่ นายสมภพ ว่องวัฒนกิจ นายอำเภอกันทรลักษ์ กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ ถือว่าเป็นปกติ ทางอำเภอจึงได้ร่วมกับอุทยานแห่งชาติผามออีแดง และองค์กรในพื้นที่ จัดกิจกรรมเนื่องในวันแห่งความรัก ขึ้นที่ผามออีแดงเป็นครั้งแรก เชิญชวนคู่รักขึ้นไปสัมผัสพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้า ซึ่งถือว่าสวยงามที่สุด
"เริ่มตั้งแต่เวลา 05.00 น. ของวันที่ 14 ก.พ.58 มีนายทะเบียนไปจดทะเบียนสมรสให้ท่ามกลางบรรยากาศสุดโรแมนติก พร้อมรับของที่ระลึก เป็นการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่นับวันจะมีผู้เข้ามาเที่ยวชมความงามของอุทยานแห่งชาติผามออีแดงเพิ่มมากขึ้น" นายอำเภอกล่าวเชิญชวน
เห็นหรือยังว่า สนามรบกำลังจะเปลี่ยนเป็นสนามรัก และเป็นสนามการค้าในอนาคตอันใกล้นี้...
ดังนั้น ที่มองเห็นรำไรๆ อยู่ข้างหน้าในตอนนี้ จึงไม่ใช่สงคราม ไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่เป็นสันติภาพ และความรักใคร่สนิทสนมกลมเกลียวกันยิ่งขึ้นกว่าเดิมของพี่น้องไทย-เขมร...
แฮปปี้เออีซี...เมียนเซกกะไดซกคะเนีย...พี่น้องผองเพื่อน ถึงเวลาร่วมสุขกันแล้ว...